ASTVจัดการรายวัน-- สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (25 มิ.ย.) ว่า ไม่มีแผนการที่จะรับฟังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชี้แจงเกี่ยวกับจุดยืนในการขอร่วมขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อรองนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนในวันเสาร์นี้
สื่อของกัมพูชารายงานในขณะเดียวกันว่า คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาพร้อมจะตอบโต้คณะกรรมการมรดกโลกของไทย หากมีการพาดพิงถึงเรื่องนี้ระหว่างการประชุถมที่เมืองเซวิลล์ (Seville) ประเทศสเปน ที่กำลังจะมีขึ้น
"ผมจะไม่ฟัง (คุณสุเทพ) ถ้าหากจะมีอธิบายเกี่ยวกับแผนการพัฒนาร่วม หรือจดทะเบียนร่วมปราสาทพระวิหาร แต่ถ้าหากจะมาคุยเรื่องถอนทหารออกจากดินแดนของเรา ก็จะคุยด้วยและยินดีต้อนรับ" สมเด็จฯ ฮุนเซน ระบุดังกล่าวในพิธีประทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "กำลังจะส่งรองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ มาพบผมในวันเสาร์นี้ ในการเยือนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อชี้แจงจุดยืนของไทยเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารสมัย (คริสต์) ศตวรรษที่ 11"
"นี้คือข่าวสารจากผมไปถึงเขา (นายสุเทพ) ก่อนที่จะตัดสินใจมาเยือนกัมพูชา" สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าว
ผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในพนมเปญกล่าวย้ำอีกว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศกรุงเฮกเมื่อปี 2505 ประเทศไทยไม่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสมบัติอันนี้ ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็น "มรดกแห่งมนุษยชาติ" ไปแล้ว
"สิ่งที่เราต้องการก็คือ ให้สถานการณ์ในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารกลับสู่ปกติเช่นก่อนวันที่ 15 ก.ค.2551” สมเด็จฯ ฮุนเซนกล่าว
นายสุเทพให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ว่า กำลังจะไปกรุงพนมเปญพร้อมกับ พล.อ.ประวิช วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหมและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกหลายนายเพื่อชี้แจงจุดยืนของไทยเกี่ยวกับการเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อขอร่วมขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลก
คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเก่าแก่บนหน้าผาของเทือกเขาดงรักเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2551 ตามคำขอของรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งได้ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนด้านนั้นตลอดปีที่ผ่านมา รวมทั้งเกิดการปะทะ มาแล้ว 2 ครั้ง มีทหารสองฝ่ายเสียชีวิตแล้ว 7 ราย
ตามรายงานของสื่อต่างๆ นรม.ของไทยได้ขอให้คณะกรรมการมรดกโลกทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยระบุว่าเป็นต้นเหตุแห่งความตึงเครียดที่ชายแดนสองประเทศ และยังจะสร้างภาระต่อไปในวันข้างหน้า ท่ามกลางรายงานของสื่อในกัมพูชาที่ระบุว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ปฏิเสธข้อเสนอของผู้นำไทยไปแล้ว
สื่อในกัมพูชารายงานอ้างแหล่งข่าวทหารที่กล่าวหาว่า ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยได้เสริมทหารพร้อมอาวุธหนักเข้าประชิดชายแดนมาเป็นระยะๆ
ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ในกรุงพนมเปญรายงานในฉบับวันอังคาร (23 มิ.ย.) อ้างผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหารว่า กองทัพราชอาณาจักรกัมพูชาได้เสริมทหารราบเข้าพื้นที่อีกหลายคันรถบรรทุก พร้อมอาวุธหนักเช่นกัน
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันฉบับนี้รายงานด้วยว่า แม้ศาลโลกจะตัดสินให้ให้ปราสาทเก่าแก่เป็นของกัมพูชาแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เคยมีการชี้ขาดเกี่ยวกับพื้นที่รอบๆ องค์ปราสาทซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ่างสิทธิ์.