xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง “ฮุนเซน” ให้เช่า 99 ปีเกาะใหญ่อ่าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน - ชาวกัมพูชาทั้งในประเทศและที่อาศัยทำกินในต่างแดนจำนวนได้แสดงความโกรธแค้นหลังจากทราบข่าวที่รัฐบาลสมเด็จฮุนเซนให้เอกชน 2 รายเช่าเกาะใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยเป็นเวลา 99 ปี พร้อมด้วยเกาะเล็กอีกแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์


นักท่องเว็บชาวเขมรหลายร้อยคนได้เข้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านการกระทำของรัฐบาล หลายคนกล่าวว่า การให้เช่าดินแดนยาวนานขนาดนั้นไม่ต่างกับในยุคอาณานิคมครั้งที่อังกฤษบีบบังคับให้รัฐบาลจีนที่อ่อนแอกว่า ต้องยินยอมให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา หรือ CDC (Council for the Development of Cambodia) ออกคำแถลงปลายเดือนที่แล้วเกี่ยวกับการให้กลุ่มโรยัล (Royal Group) เช่าเกาะรัง (Rong) เป็นเวลา 99 ปี เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

โรยัลกรุ๊ปเป็นของออกญากิ๊ตเม็ง (Oknha Kith Meng) นักธุรกิจชาวเขมรที่อาศัยทำกินในออสเตรเลีย และถือ 2 สัญชาติ ปัจจุบันเป็น 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจในกรุงพนมเปญมากที่สุด

เกาะรังมีเนื้อที่มากกว่า 7,800 เฮกตาร์ (กว่า 47,800 ไร่) ขนาดเกือบเท่าๆ กับเกาะกูดหรือเกาะพงัน

นายกิ๊ตเม็งได้เซ็นสัญญากับนายจอม ประสิทธิ์ (Cham Prasidh) รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธาน CDC วันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ไม่มีการออกคำแถลงใดๆ

ในวันเดียวกัน CDC ยังได้ประกาศการให้บริษัทฝรั่งเศสเช่าเกาะรุสสี (Russey) อีกแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 99 ปี ด้วยเงินลงทุน 48 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษเขมรรัศมีกัมพูชา (Reasmey Kampuchea)

อย่างไรก็ตาม บริษัท Koh Russey Resort Co Ltd ที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทจากฝรั่งเศส มีสิทธิ์พัฒนาดินเพียงไม่ถึง 500 ไร่จากทั้งหมด 856 ไร่เศษบนเกาะดังกล่าว

ออกญากิ๊ตเม็งเป็นทั้งประธานหอการค้ากรุงพนมเปญและประธานสภาหอการค้ากัมพูชา เป็นเจ้าของธุรกิจหลายอย่าง และเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคาร ANZ จากออสเตรเลียในกัมพูชาด้วย

ยังไม่ทราบแผนการใดๆ เกี่ยวกับโครงการเกาะรัง ตลอดจนเงื่อนไขและเงื่อนเวลาดำเนินการ แต่การพัฒนาเกาะที่มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,826 เฮกตาร์นั้น คาดว่าจะต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์

กลุ่มนักอนุรักษ์ได้ออกเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผนพัฒนาเกาะทั้งสองแห่ง เนื่องจาก บนเกาะยังมีสภาพป่าที่อุดมและรอบๆ ยังมีแหล่งปะการังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกด้วย

นักอนุรักษ์บางคนกล่าวว่า โรยัลกรุ๊ป และ KRRC กำลังจะสร้างโรงแรมพร้อมกาสิโนขึ้นบนเกาะทั้งสองแห่ง รวมทั้งสถานบริการ ทำให้เป็นแหล่งบันเทิงทันสมัย โดยใช้คำว่าการพัฒนา “การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” อำพราง

รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศแผนพัฒนาให้สีหนุวิลล์เป็นศูนย์การกลางบิน การค้า อุสาหกรรมและการท่องเที่ยวของประเทศ และกำลังพัฒนาสนามบินที่นั่นให้เป็นท่าอากาศยานใหญ่ที่สุดในประเทศ

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสกัมโบดจ์ซัวร์ (Cambodge Soir) กัมพูชามีเกาะในอ่าวไทยรวมทั้งสิ้น 55 แห่ง ที่ผ่านมาให้บริษัทเอกชนเช่าไปแล้วกว่า 10 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลยังคงเปิดรับนักลงทุนเข้าไปพัฒนาเกาะที่เหลืออยู่

คำแถลงของ CDC เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ระบุในตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาเกาะต่างๆ จะเป็นแรงกระตุ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้น”

จนถึงสิ้นปี 2550 กัมพูชาให้บริษัทเอกชนเช่าเกาะไปจำนวน 7 แห่ง เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาให้เช่าอีก 2 แห่ง เมื่อรวมกับเกาะรองและเกาะรุสสีได้ทำให้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 11 แห่ง กัมโบดจ์ซัวร์กล่าว

ในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชาประมาณ 2 ล้านคน ปีนี้ทางการตั้งตัวเลขเป้าหมายที่ 3 ล้านคน และเร่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเพื่อให้เป็นทางเลือก ซึ่งในปัจจุบันการท่องเที่ยวรวมศูนย์อยู่ที่ปราสาทนครวัด จ.เสียมราฐ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การพัฒนาเกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องการผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมให้มาก เพราะสิ่งปลูกสร้างจะเปลี่ยนจากเกาะธรรมชาติให้เป็น “เกาะซีเมนต์” ซึ่งจะไม่น่าสนใจอีกต่อไป

นายเมิงซอนน์ (Moeung Sonn) ผู้อำนวยการบริษัท เออราซีการท่องเที่ยว (Eurasie Travel Co) บอกกับกัมโบดจ์ซัวร์ว่า การพัฒนากับการอนุรักษ์จะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน และควรหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าโดยสิ้นเชิง

เจ้าหน้าที่ของทางการกล่าวว่าโรยัลกรุ๊ป และ KRRC จะใช้เวลา 18 เดือนในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโดยละเอียดทั้งเกาะรองและเกาะรุสสี เพื่อเสนอขออนุมัติจาก CDC อีกครั้งหนึ่ง

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวกัมพูชาในต่างแดนนับร้อยๆ ได้เข้าไปยังเว็บไซต์ภาษาเขมรยอดนิยม www.everyday.kh หลายเสียงกล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลเป็นการขายชาติอย่างชัดเจน ชาวกัมพูชาต้องร่มกันต่อต้าน “การตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบ” ของสมเด็จฮุนเซน

“แล้วจะเหลือแผ่นดินให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้อยู่อาศัยบ้างหรือเปล่า?” ชาวกัมพูชาพลัดถิ่นคนหนึ่งเขียนในฟอรัมความเห็นของเว็บไซต์อีกหลายสิบรายก็มีความวิตกกังวลคล้ายๆ กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น