xs
xsm
sm
md
lg

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจีนต้านตะเกียบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอลล์สตรีตเจอร์นัล – นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทนไม่ไหว ออกมาต่อต้านตะเกียบไม้แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งนิยมกว้างขวางในจีน อ้างเป็นการทำลายป่า แต่ผู้ผลิตตะเกียบโต้ ผลิตตะเกียบจากไม้โตเร็ว

ขณะนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังพยายามรณรงค์ให้ประชาชน 1,300 ล้านคนในจีนหันมาคีบบะหมี่ โดยใช้ตะเกียบ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนตะเกียบไม้ ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่คุ้นเคยกันในสังคมจีนทุกระดับมานานถึง 30 ปีแล้ว ตั้งแต่แรงงานอพยพ ที่นั่งกินลูกชิ้นปลา ที่แผงอาหารข้างถนน ไปจนถึงนักธุรกิจ ที่งานรัดตัว จนต้องสั่งเซซามิ มารับประทาน โดยโรงงานในจีนผลิตตะเกียบชนิดใช้แล้วทิ้งถึงราวปีละ 63,000 ล้านคู่

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่กำลังรวมตัวกันมากขึ้นในจีน มองตะเกียบไม้เปราะบางนี้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการบริโภค ที่ควบคุมไม่ได้ภายในประเทศ และกำลังทำลายป่า

ร้านอาหารและบริษัทรายใหญ่ พากันตื่นตัวขานรับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ร้านอาหารในกรุงปักกิ่งราว 300 ร้าน ประกาศนำตะเกียบแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มาบริการลูกค้า ขณะที่บริษัทไมโครซอฟต์ ,บริษัทอินเทล และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส มาชีนส์ ได้เชิญให้กลุ่มกรีนพีซ มารณรงค์ต่อต้านการใช้ตะเกียบทำลายสิ่งแวดล้อม ที่โรงอาหารของบริษัท เพื่อให้พนักงานตื่นตัว

ด้านศิลปินนักร้องชื่อดังของจีนอย่าง หลี่ อี้ว์ชุน ก็ออกมาร่วมรณรงค์ต่อต้าน และยิ่งกระหน่ำต่อต้านเป็นพิเศษในช่วงโปรโมตขายอัลบัมเดี่ยว ชื่อ “กรีน” ซึ่งเป็นเพลงเกี่ยวกับการรักษาป่า

รัฐบาลจีนเอง แม้ไม่ออกมาประกาศสนับสนุนการรณรงค์ของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุด มีกรีนพีซ เป็นหัวเรือใหญ่ อย่างเป็นทางการ แต่บางหน่วยงานก็สนับสนุนอย่างเงียบ ๆ เช่น เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศคู่มือฉบับใหม่สำหรับร้านอาหาร เพื่อกระตุ้นให้ร้านเหล่านี้ลดการใช้ตะเกียบแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกปักกิ่งห้ามใช้ตะเกียบชนิดนี้ระหว่างการวิ่งผลัดคบเพลิงโอลิมปิก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “โอลิมปิกสีเขียว” ในปีนี้ นอกจากนั้น เมื่อปี 2549 รัฐบาลจีนยังได้ออกมาตรการหักภาษีบริโภคร้อยละ 5 สำหรับสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมผู้ผลิตตะเกียบใช้แล้วทิ้งของจีน ออกมาตอบโต้ว่า นักรณรงค์เหล่านี้เป็นพวกที่เข้าใจข้อมูลอย่างผิด ๆ เหมือนพวก "ฉีเหรินโยวเทียน" ในนิทานคติของจีน ซึ่งหมายถึงผู้คนจากแคว้นฉีในสมัยโบราณ ที่พากันวิตกจริตหวาดกลัวว่าท้องฟ้าจะถล่มลงมาอย่างไร้เหตุผล 

“อุตสาหกรรมตะเกียบกำลังสร้างงานจำนวนมหาศาลสำหรับคนยากคนจนในภูมิภาคที่มีป่าไม้” นายเหลียน กวง กล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานสมาคมการค้าตะเกียบไม้ในมณฑลเฮยหลงเจียง นายเหลียนยังระบุด้วยว่า ตะเกียบไม้ที่กำลังถูกต่อต้านเวลานี้ ไม่ได้ทำลายป่าไม้ เนื่องจากทำมาจากไม้ที่โตเร็ว เช่น ต้นเบิร์ช, ต้นพอพเล่อร์ และต้นไผ่

ตะเกียบไม้ยังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันตามสื่อมวลชนของจีนอีกด้วยว่า มีอันตรายมหันต์จริงหรือ? หนังสือพิมพ์ เซ้าเทิร์น วีกเอ็นด์ ถึงขนาดตีพิมพ์เรื่องเล่าที่มีสีสัน ว่าเรื่องตะเกียบไม้กำลังทำให้ครอบครัวแตกสลายจากการขัดแย้งระหว่างลูกสาวที่ได้รับข้อมูลจากวิทยาลัยกับบิดาซึ่งเป็นผู้บริหารอุตสาหกรรมตะเกียบ

ลูกสาวสาวกสีเขียว ถึงขนาดตราหน้าบิดาว่า "เป็นปิศาจ เป็นอาชญากรทำลายป่าไม้"

ทั้งนี้ ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นตะเกียบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเข้ามาแพร่หลายในจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1980 หลังจากชาวญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตตะเกียบเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อลดต้นทุนการผลิต นับจากนั้นมา จีนก็ได้กลายเป็นยักษ์ผู้ผลิตตะเกียบรายใหญ่สุดของโลก มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตนี้ ประมาณ 100,000 คน สอดรับกับความต้องการภายในประเทศที่กำลังบูม

นอกจากการรณรงค์ต่อต้านแล้ว กลุ่มกรีนพีซ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนอื่น ๆ ยังช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนพกตะเกียบส่วนตัว เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อตัดปัญหาการทำลายป่า

เสี่ยว เหว่ย นักร้องเพลงแนวร็อคแห่ง Catcher in the Rye ก็ได้จับมือกับกรีน พีซ ไชน่า รณรงค์ ชูคำขวัญ "นำตะเกียบของท่านมาเอง" (Bring your own Chopstick)ซึ่งมีตัวย่อเก๋ไก๋คือ B.Y.O.C.โดยชักชวนให้แฟนๆเพลงนำตะเกียบของตัวเองมาด้วยเวลาไปกินอาหารตามร้านอาหาร เสี่ยว เหว่ยสวมกางเกงยีนสีซีดขาดวิ่น เสื้อเชิร์ตลายดอกสีฟ้าน้ำทะเล หยิบตะเกียบคู่เขื่องจากกระเป๋าเสื้อออกมาโชว์ คุยว่า "นี่เป็นตะเกียบทำจากโรส วูด จากประเทศปาปัว นิว กีนี"

แต่การโน้มน้าวให้ชาวจีนนับหลายล้านคนวางตะเกียบนั้น มิใช่เรื่องเล็กเลย ในประเทศที่มีกระแสหวาดระแวงเรื่องความสะอาดนี้ ชาวจีนหลายคนเห็นว่าตะเกียบแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดีกว่าตะเกียบของร้านอาหารที่อาจทำความสะอาดมาไม่ดี ผู้จัดการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในกรุงปักกิ่งรายหนึ่งระบุว่า ลูกค้าต้องการใช้ตะเกียบ ที่ใช้แล้วทิ้งเลย ก็ด้วยเหตุผลเรื่องสุขอนามัยนั่นเอง

ทว่า ก็มีหลายคน ประสานเสียง "ยี้!"ใส่ความคิดพกตะเกียบของตัวเอง "ใช้เสร็จแล้ว เราจะไปล้างมันที่ไหน? เอาน้ำลายตัวเองล้างน่ะหรือ?ลืมไอ้ความคิดรักษาสิ่งแวดล้อมบ้าๆแบบนี้ไปเถอะ และหันมาคำนึงถึงการปฏิบัติได้จริง" นายเดวิด ถังนักสังคมศาสตร์และเจ้าของภัตรคารแห่งหนึ่งในฮ่องกงค้านหัวชนฝาไม่เห็นด้วยกับพวก B.Y.O.C.

พวกกรีน พีซยังไม่ลดละความพยายาม ได้ว่าจ้างให้นักออกแบบอุตสาหกรรมชื่อดังในไต้หวัน ออกแบบตะเกียบแบบพกพา หลังจากการวิจัยและถกเถียงไม่กี่เดือน ก็ได้ตะเกียบพับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำจากสแตนเลสรีไซเคิล ที่สามารถใส่ไว้ในกระเป๋า

อย่างไรก็ตาม B.Y.O.C.ก็ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของนักเคลื่อนไหวชาวจีนวัยหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง อย่างนางมาร์กาเร็ต หยาง วัย 28 ปี มีอาชีพเป็นนักวิจัยการตลาดให้แก่บริษัทอินเทลในปักกิ่ง นางหยางได้แสดงวิธีการปฏิบัติตามอุดมคติสีเขียวในร้านอาหารแห่งหนึ่ง เธอวางตะเกียบส่วนตัวลงบนโต๊ะเสียงดังใส่หน้าบริกรที่กำลังนำตะเกียบใช้ครั้งเดียวทิ้งมาให้ จนบริกรต้องรีบเผ่นออกไป เมื่อเสร็จกิจการกินอาหาร นางหยางก็สาธิตวิธีการล้างตะเกียบ โดยร้องบอกให้บริกรนำน้ำร้อนใส่ถ้วยมาให้ เมื่อล้างตะเกียบเสร็จ เธอก็โยนตะเกียบลงในกระเป๋าผ้าฝ้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น