ขณะที่เสียงประทัดดังก้องท้องถนนต้อนรับปีใหม่ปีวอกเมื่อ 40 ปีก่อนโน้น สายลับเวียดกงกลุ่มหนึ่ง ประชุมกันลับๆ ในร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านเฝอ.. มันเป็นการประชุมที่ทำให้วิถีของสงครามในเวียดนามเปลี่ยนไป
แกนนำของกองโจรคอมมิวนิสต์กลุ่มนี้ได้สั่งการจากร้านก๋วยเตี๋ยวเฝอบิ่ง (Pho Binh) ให้สหายที่อยู่ข้างนอกแตกเสียงปืน เริ่มการรุกใหญ่วันตรุษในกรุงไซ่ง่อน ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มนำไปสู่การสิ้นสุดความขัดแย้ง
การเปิดฉากรุกใหญ่ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงในช่วงเทศกาลที่ทำกับกองทัพสหรัฐฯ ได้นำสงครามจากเขตชนบท ท้องนา ป่าเขา เข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงกับอีกกว่า 100 เมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศสาธารณรัฐเวียดนามหรือ "เวียดนามใต้" ในอดีต
สำหรับพวกนักรบกองโจรส่วนใหญ่นั้น การรุกรบใหญ่วันตรุษ 31 ม.ค.2511 เป็นปฏิบัติการฆ่าตัวตาย ศพของพวกเขากลาดเลื่อนท้องถนนที่บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐฯ กับอีกหลายอาณาบริเวณอื่นๆ ที่มีการสู้รบ เนื่องจากพ่ายแพ้แก่อำนาจการยิงที่เหนือกว่าของทหารอเมริกัน
สำหรับผู้ที่รอดชีวิตมาได้ การรำลึกครบรอบปีที่ 40 ของยุทธการวันตรุษในวันพฤหัสบดี (30 ม.ค.) ที่ผ่านมา เป็นการฟื้นความทรงจำค่ำคืนแห่งการนองเลือดที่ทำให้ศัตรูพากันตกตะลึง ขวัญกลังใจวูบหาย ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นในสงครามเวียดนาม
นายเหวียนวันจิ (Nguyen Van Tri) ได้ย้อนนึกถึงอารมณ์ความรู้สึกปลื้มปีติของบรรดาแกนนำฝ่ายเวียดกง ตอนได้พบและประชุมกันที่ศูนย์บัญชาการลับ ซึ่งเป็นเพียงห้องแคบๆ มืดๆ ชั้นบนของร้านเฝอแห่งนั้น
"เราทราบดีว่ามันเป็นโอกาสหนึ่งในพันปีที่จะเกิดขึ้นได้.. "มันเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มีโอกาสเข้าตีตรงศูนย์ประสาทของศัตรู" นายจิ ซึ่งปัจจุบันอายุ 86 กล่าว
นายจิเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามต่อต้านฝรั่งเศส เขาเป็นผู้รับผิดชอบการส่งกำลังบำรุง กำกับดูแลการทยอยลักลอบขนปืนกับวัตถุระเบิดน้ำหนักรวมกันราว 10 ตันเข้าสู่กรุงไซ่ง่อนในช่วงเวลา 3 ปีก่อนหน้าการรุกใหญ่ ทั้งหมดถูกเก็บซ่อนไว้ในห้องใต้ดินใต้ถุนตึก
"เราเจาะท่อนไม้ซุงให้กลวงซ่อนปืนอาร์กาเอาไว้ข้างใน.. ยัดข้าวเข้าไปอุดช่องว่าง จากนั้นก็เอาขี้ควายกลบข้างนอก เราซ่อนพวกปืนกลหนักในห้องเก็บยางแผ่น พวกเราลอบขนดินระเบิดทีเอ็นทีกับซีโฟร์กับเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจีบี-40" นายจิกล่าวถึงความหลัง
นั่นเป็นช่วงที่ครอบครัวชาวเวียดนามทั้งประเทศกำลังเฉลิมฉลอง เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดในประเทศนี้ ในขณะที่ทั้งกองทัพเวียดนามใต้และกองทัพสหรัฐฯ อนุญาตให้กำลังพลพักผ่อน เหล่าผู้บัญชาการแอบไปกบดานตามแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ
**กำลังพลเวียดกงลอบทยอยเข้ากรุง**
นายเหวียนดึ๊กฮวา (Nguyen Duc Hoa) ตอนนั้นอายุเพียง 19 แต่ก็เป็นนักรบที่ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชนแล้ว ได้เดินทางเข้าสู่กรุงไซ่ง่อนและพักกับครอบครัวนายเจิ่นวันลาย (Tran Van Lai) หัวหน้าฝ่ายตกแต่งของทำเนียบฯ ซึ่งเป็นสายของฝ่ายเวียดกง
นายฮวาเป็นคนหนึ่งในหน่วยที่ได้รับมอบหมายให้เข้าโจมตีทำเนียบประธานาธิบดี
ปืนกลประจำกาย ลูกระเบิดกับปืนสั้น ถูกซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิดในถังน้ำใต้เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งของฝ่ายเวียดกง นักรบกองโจร 15 คน เป็นหญิง 1 คน พากันทำความสะอาดอาวุธทั้งหมด ทุกคนแน่ใจว่านี่จะเป็นปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของตัวเอง
"หน่วยนี้มีแต่ผู้รับอาสาเองทั้งนั้น" นายฮวากล่าวถึงสมาชิกหน่วยจู่โจมของเขา ซึ่งในปัจจุบันได้รับการขนานนามว่า "หมวดวีรชนที่ 5"
"ผมแน่ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าผมจะต้องตาย และบรรดาสหายก็เชื่อเช่นเดียวกัน" ชายวัย 59 กล่าว น้ำตาปริ่ม เมื่อรำลึกถึงสหายร่วมรบที่เสียสละ
หนุ่มน้อยฮวาได้เสียบิดาไปในสงครามต่อต้านฝรั่งเศส เขาได้เข้าร่วมกับกองกำลังเวียดกงตอนอายุ 15 ในเขตกู๋จิ (Cu Chi) ทางตอนเหนือของกรุงไซ่ง่อนซึ่งเป็นเขตปลอดเสียงปืนของฝ่ายสหรัฐฯ ที่นั่นมีการสู้รบน้อยมาก
"เป้าหมายก็คือไสหัวพวกอเมริกันออกไปให้พ้นเวียดนาม" นายฮวากล่าว
เมื่อเวลา 2 นาฬิกา หนุ่มฮวากับสหายนักรบอีก 14 คน ในเสื้อผ้าแบบพลเรือนทั่วไป แต่สวมปลอกแขนสีแดง ออกเดินทางมุ่งไปยังทำเนียบประธานาธิบดี ในรถเก๋งที่ไม่มีป้ายทะเบียน 4 คัน ทุกคนมีปืนอาร์ก้า (AK-47) กับเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี
พวกเขาฝ่าด่านตรวจแห่งหนึ่งใกล้กับทำเนียบก่อนจะจอดอย่างรวดเร็วที่บริเวณทางเข้า ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยทำเนียบ
"ผมอยู่รถคันที่หนึ่ง.. ผมลงจากรถและเขวี้ยงระเบิดไปที่ประตูใหญ่ แต่มันด้าน ผมถูกยิงโดนเข้าที่ไหล่แต่ก็ยังปาระเบิดได้ ผมปาอีกลูกหนึ่งเข้าป้อมยามพอดี ทหารตายไป 2 คน"
การสู้รบติดพัน นักรบเวียดกงสามารถฝ่าเข้าไปในบริเวณทำเนียบได้ผ่านทางประตูเล็ก แต่เมื่อการสู้รบเริ่มรุนแรงขึ้นก็ต้องถอนกลับไปหลบอยู่ใต้ต้นไม้ฝั่งตรงข้ามถนน
"นักรบของเรา 7 คนนอนกองอยู่ที่นั่นอาจจะเสียชีวิตแล้วหรือกำลังจะสิ้นลม.. สหายที่ถูกยิงบาดเจ็บบอกให้พวกทิ้งพวกเขาไว้ที่นั่นแล้วรีบหลบหนีไป อันเป็นสิ่งที่เราทำให้เราทำได้ยากยิ่ง" นายฮวากล่าว
เหล่าผู้บัญชาการในกรุงฮานอยตั้งความคาดหวังว่า การจู่โจมระลอกนี้จะทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นทันทีในทั่วภาคใต้ กองกำลังเวียดกงได้รับคำสั่งให้ยึดที่มั่นทุกแห่งเอาไว้จนกว่ากำลังหลักจะเข้าไปเสริม ซึ่งไม่เคยไปถึง..
**กองทัพสหรัฐฯ ป่วนไร้การป้องกัน**
ณ ที่ตั้งในเขต อ.ยาดิ่ง (Gia Dinh) ในอีกฟากหนึ่งของกรุงไซ่ง่อน ชัค เซียร์ซี (Chuck Searcy) ผู้ชำนัญการฝ่ายข่าวกรองกองทัพบกสหรัฐฯ กับคนอื่นๆ เข้านอนแต่หัวค่ำหลังการดื่มฉลองวันตรุษและชมภาพยนตร์ซึ่งใช้ผ้าปูที่นอนเป็นจอในสโมสรค่าย
"บางทีหลังเที่ยงคืนก็จะมีเสียงหวอดังขึ้น..เราลุกจากที่นอน แต่งเครื่องแบบและคว้าอาวุธ หลายคนบิดขี้เกียจส่งเสียงฟิดฟัดด้วยความรำคาญเพราะคิดว่าคงจะเป็นการซักซ้อมอะไรอีกสักอย่าง" นายเซียร์ซีหวนถึงอดีต
"ขณะที่เรากำลังรอให้อะไรมันผ่านๆ ไปและจะกลับไปนอน ผู้กองก็ไปถึงที่นั่นโดยรถจี๊ปทำให้พวกเราได้ทราบข่าว สนามบินกำลังถูกถล่ม กรุงไซ่ง่อนถูกโจมตี พวกเรากำลังจะถูกเตะกระเด็น"
กองทัพสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้ความตกตะลึงอย่างสิ้นเชิง ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองกล่าว
"มันมีข้อบ่งชี้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีใครปะติดปะต่อ และไม่มีเบาะแสมาก่อนว่าจะมีการโจมตีที่ใหญ่โต เราทราบเพียงว่า มีการเตรียมการเข้าตีฐานทัพเคแซงห์ (Khe Sanh)" นายเซียร์ซีกล่าวถึงฐานทัพใหญ่ของสหรัฐฯ ในเขตที่ราบสูงภาคกาง ซึ่งเป็นสมรภูมิรบใหญ่และยืดเยื้อ
"แสงไฟวูบวาบ ท้องฟ้าสว่างไสว เราได้ยินเสียงปืนดังมาแต่ไกล.. เครื่องบินเจ็ท เครื่องบินชนิดต่างๆ เฮลิคอปเตอร์สหรัฐฯ บินว่อนเต็มท้องฟ้า เราฟังจากวิทยุและรอคอย" นายเซียร์ซีกล่าว..
เมื่อเริ่มสาง นายฮวาซึ่งอยู่ในสภาพที่เสื้อชุ่มเลือดกับบรรดาสหายที่รอดชีวิต พากันหลบซ่อนอยู่ในแหล่งก่อสร้างแห่งหนึ่งที่อีกฟากของถนน ที่นั่นไฟยังคงลุกไหม้รถจี๊ปทหารคันหนึ่ง ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่ว เป็นสัญลักษณ์การสู้รบอันดุเดือด ในคืนที่ผ่านมา
ฮวากล่าวว่าทหารเวียดนามใต้เข้าไปในแหล่งก่อสร้างแห่งนั้นจนเต็มชั้นล่าง เขากับสหายที่อยู่ข้างบนหย่อนลูกระเบิดลงไป พวกนั้นล้มตายจำนวนมาก ทำให้ได้อาวุธและกระสุนเพิ่มอีกมากมายและสู้ต่อไป
"พวกนั้นนำบันไดไปที่นั่น กระทั่งใช้เฮลิคอปเตอร์ค้นหาพวกเรา"
"เราซ่อนตัวอยู่ที่นั่นข้ามวันต่อมา ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีอะไรตกถึงท้องเลย กระสุนปืนของศัตรูยังกระทบผนังตึกที่สร้างยังไม่เสร็จ เรารู้ว่าพวกเราไม่รอดแน่ และในที่สุดรถถังคันหนึ่งก็พุ่งเจาะทะลุกำแพงเข้ามา ตึกสั่นไปทั้งหลัง"
พอค่ำลงอีกวัน กระสุนไม่เหลือ หมดหวังที่จะได้เห็นกำลังสนับสนุน นักรบที่กำลังสิ้นหวังได้ตัดสินใจหลบหนี พวกเขาวิ่งขึ้นไปบนหลังคาตึกอีกหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้กัน แต่ในที่สุดก็ไปจอตึกอีกหลังหนึ่งกั้นอยู่และไม่มีทางไปไหนได้อีกแล้ว
"เราวิ่งขึ้นบันไดไป ไปเจอแท่นบูชาของครอบครัวหนึ่ง พวกเราคว้าเอาผลไม้ของเครื่องเซ่นไหว้ ทุกคนทั้งหิวทั้งหมดแรง" นายเหวียนลวน (Nguyen Luan) ปัจจุบันอายุ 62 ซึ่งอยู่ในหน่วยเดียวกัน กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกคนหนึ่ง
คืนนั้นนักรบที่เหลืออยู่ทั้งหมดพับลงกับพื้นห้อง รู้สึกตัวในตอนเช้าก็พบว่า ปืนของพวกทหารเวียดนามใต้กำลังจ่อหัวอยู่
**การรบใหญ่วันตรุษ--การเริ่มต้นไปสู่จุดจบ **
นักรบเวียดกงที่รอดชีวิตกลุ่มนี้ เจ้าของร้านเฝอบิ่ง กับหัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุง ได้ใช้ชีวิตตลอด 5 ปีต่อมาที่เกาะกงด๋าว (Con Dao) ในคุกใต้ดินที่พวกพวกฝรั่งเศสเรียกว่า "กรงเสือ" (Tiger Cage) ซึ่งนายจิกล่าวว่า มันเป็น "นรกในภพนี้” อย่างแท้จริง
นายจิกล่าวว่าทุกคนถูกทรมานมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีการเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีสในปี 2516 เพียง 2 ปีก่อนกรุงไซ่ง่อนแตก ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City) เมื่อเวียดนามเหนือ-ใต้ถูกรวมเข้าเป็นประเทศเดียวกัน (ในปี 2519)
นายเซียร์ซีกล่าวว่า การุกรบใหญ่เทศกาลตรุษเป็นการพ่ายแพ้ทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือกับเวียดกง แต่เป็นชัยชนะในสงครามจิตวิทยาของฝ่ายนั้น
การรุกรบได้ทำให้กำลังใจที่จะต่อสู้ของฝ่ายสหรัฐฯ แตกสลายไป สร้างความแปลกแยกขึ้นระหว่างชาวเวียดนามใต้กับกองกำลังสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ของพวกเขา
"ตอนที่ผมเดินทางออกจากเวียดนามในเดือน มิ.ย. 2511 ทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ฐานทัพของเราถูกทำลายลงเรียบ.. บ้านเรือนพังทลายราบ กระทั่งต้นมะพร้าวยังไหม้ดำ.."
"การโต้ตอบแบบเกินขอบเขตของเรา ได้สร้างความเสียหายให้แก่พวกเราเองอย่างแท้จริงในสายตาของชาวเวียดนาม ทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อพวกเราเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนในช่วงหลังเทศกาลตรุษ ความรู้สึกกับความเชื่อมั่นที่ว่าพวกเราจะปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้นั้น.. ได้มลายไป" นายเซียร์ซีกล่าว
สำหรับฝ่ายสหรัฐ.. นายเซียร์ซีกล่าวว่า "พวกเราเองมองในแง่ร้ายอยู่แล้วและการรุกรบใหญ่วันตรุษได้ทำให้แน่ใจว่า การทำสงครามในเวียดนามไม่มีทางได้ชัยชนะ"
เซียร์ซีเดินทางกลับสหรัฐฯ ขณะที่กระบวนการต่อต้านสงครามกำลังแผ่ลามออกไปทั่ว เขาได้กลับไปเวียดนามอีกครั้งเมื่อปี 2535 ปัจจุบันเป็นตัวแทนของกองทุนรำลึกทหารผ่านศึก ปฏิบัติการกวาดเก็บวัตถุระเบิดในเวียดนาม
สำหรับนายจิ อดีตเจ้าหน้าที่ส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเวียดกง ตอนนี้เป็นนักเขียนประวัติศาสตร์การทหาร ปัจจุบันยังคงแวะเวียนไปรับประทานเฝอที่ร้านบิ่งแห่งนั้น ที่นั่นได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ส่วนฮวา สหายศึกที่เข้าลุยทำเนียบประธานาธิบดีทำงานมาหลายอย่าง รวมทั้งเป็นคนจับรถนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมอุโมงค์ใต้ดินกูจิ ที่ๆ นายฮวาสังหารจีไอคนแรก ตอนอายุเพียง 16 ปี
"ในช่วงสงคราม พวกอเมริกันนำทหารและปืนเข้ามาอย่างมากมาย มันทำให้พวกเราต้องสู้.. มันเป็นเรื่องที่ว่าใครจะยิงก่อน.. พวกเขาหรือว่าเรา" นายฮวากล่าว
"ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาแห่งสันติภาพ ..สำหรับนักท่องเที่ยวอเมริกันผมคิดเพียงว่า พวกคุณพูดฮัลโหลกับผม ผมก็ฮัลโหลกับคุณ คุณเป็นมนุษย์ ผมเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง" สหายศึกคนเดียวกันกล่าว.