ผู้จัดการรายวัน -- คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้วิจารณ์ว่า สมาชิกพรรคจำนวนมากที่ยังอ่อนทฤษฎี ขาดความรู้ด้านการเมือง ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันการนำของหน่วยสาขาพรรคต่างๆ อ่อนด้อย เป็นอุสรรคต่อการปฏิรูป
หน่วยพรรคจำนวนมากยังไม่ได้ใช้อำนาจการนำที่ได้กระจายออกไปจากศูนย์กลาง ขาดการเสริมสร้างหน่วยพรรคให้เข้มแข็ง ทำให้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อ่อนด้อยลง ทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา "เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม" (Socialist-Oriented Market Economy)
คณะกรรมการกลางเวียดนามได้ออกวิจารณ์หน่วยพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ ในข้อมติที่ออกมาหลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 (6th Plenary Session) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-22 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยการเป็นประธานของนายนงดึ๊กหม่ง (Nong Duc Manh) เลขาธิการใหญ่พรรค
สมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ฯ อยู่ในตำแหน่งสมัยละ 5 ปี มาจากการเลือกตั้งเมื่อครั้งมีการประชุมใหญ่หรือการประชุมสมัชชาใหญ่ (National Congress) ของพรรค ซึ่งครั้งล่าสุดหรือครั้งที่ 10 จัดขึ้นในเดือน เม.ย.2549 โดยพรรคได้เลือกนายดึ๊กแหม่งเป็นผู้นำติดต่อกันสมัยที่ 2
ตามรายงานที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันพุธ (23 ม.ค.) คณะกรรมการกลางฯได้พิจารณารายงานเกี่ยวกับการสร้างชนชั้นคนงานในยุคที่กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศทันสมัย และพร้อมๆ กันก็เร่งเสริมสร้างสรรพกำลังความเข้มแข็งในการนำของพรรค
ประเด็นที่สำคัญมากในการประชุมก็คือ คณะกรรมการกลางพรรคได้พิจารณาโครงร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติที่ออกเมื่อปี 2534 รวมทั้งโครงร่างยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ระหว่างปี 2544-2553 และมองภาพรวมการพัฒนาในระยะปี 2554-2563
ข้อมติของคณะกรรมการกลางพรรคที่เรียกกันทั่วไปว่า “มติ 6” กล่าวถึงเรื่องราวดังกล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดหรือคำอธิบายใดๆ
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยประกาศใช้นโยบายเปลี่ยนใหม่ (Renewal Policies) หรือ “โด่ยเหมย” (Doi Moi) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากระบอบการผลิตที่ถูกควบคุมไปจากส่วนกลาง ไปเป็นการผลิตที่ให้สิ่งตอบแทน มีผลกำไร ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการผลิต
พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวและบริหารประเทศนี้มาเป็นเวลา 32 ปีนับตั้งแต่สงครามเวียดนามสิ้นสุดลง ได้ประกาศเป้าหมายพัฒนาเวียดนามไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีความทันสมัยภายในปี 2563 ในทิศทางภายใต้ระบบสังคมนิยม มิใช่เสรีนิยม
กรรมการกลางพรรคได้เน้นย้ำว่า "หนทางการปฏิวัติเวียดนามมีความเรียกร้องต้องการการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ที่มีความรู้ มีวิชาชีพ และวิถีการทำงานอย่างมีวินัยเข้มงวด รับรู้และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ยึดมั่นในแนวทางการเมืองของพรรค"
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว มีความจำเป็นจะต้องศึกษาและพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมและเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม เร่งพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและการบูรณาระบบเศรษฐกิจเข้ากับประชาคมโลก
นอกจากนั้นจะต้องมีการเสริมสร้างการนำของพรรคคอมมิวนิสต์ให้เข้มแข็ง ส่งเสริมความแข็งแกร่งของขบวนสหภาพแรงงานและองค์การทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆ ในประเทศ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงปีใกล้นี้ แม้ว่าผู้นำระดับต่างๆ ของพรรค ตลอดจนหน่วยงานสาขาต่างๆ จะได้เอาใจใส่ต่อการปรับปรุงเสริมขยายการนำและสร้างสมาชิกพรรคให้มีคุณภาพ เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมี "คณะกรรมการพรรคและหน่วยพรรคจำนวนไม่น้อยที่ยังอ่อนด้อยเรื่องการนำ ไม่สามารถสนองความเรียกร้องต้องการในภาระหน้าที่ของพวกตนได้"
"คณะกรรมการพรรคและหน่วยพรรคจำนวนมากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักการกระจายอำนาจออกไปจากศูนย์กลาง จำนวนสมาชิกพรรคยังมีจำกัด จำนวนหนึ่งยังขาดคุณค่าทางการเมืองและมีการดำเนินชีวิตที่เสื่อมถอย" ข้อมติของคณะกรรมการกลางพรรคระบุในตอนหนึ่ง
องค์กรบริหารกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยังกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการก่อสร้างพรรคและหนทางในการปฏิวัติสังคมนิยมภายใต้สภาพความผันผวนในปัจจุบันอย่างค่อนข้างยาว ก่อนจะสรุปว่าในการเสริมสร้างการนำของพรรคนั้นมีความจำเป็นจะต้องเสริมขยายการศึกษาอุดมการณ์ของพรรคและเสริมสร้างวินัยในหมู่สมาชิกพรรค
นอกจากนั้นยังจะต้องขยายบทบาทของพรรคในการชี้นำ การตรวจตรา และการบริหารจัดการต่างๆ โดยต้องอาศัยความร่วมมือและใช้การระดมพลังจากทั่วปวงชน
ข้อมติยังกล่าวอีกว่าเวลา 20 ปีที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการผันเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบรัฐให้การสนับสนุนจากศูนย์กลาง มาเป็นเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมโดยผ่านการปฏิรูป
"แนวคิดและนโยบายเปลี่ยนใหม่ของพรรคได้ค่อยๆ สถาปนาขึ้นมาและถูกรวมเข้าในรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาและกำลังพัฒนาต่อไป"
"การเป็นเจ้าของแบบรวมหมู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้ค่อยๆ เปลี่ยน จากการเป็นเจ้าของแบบรวมหมู่ไป ไปเป็นการเป็นเจ้าของในหลายรูปหลายแบบในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งหมดกำลังพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการเป็นเจ้าของโดยรัฐ.." คณะกรรมการกลางพรรคกล่าว
เวียดนามได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกมาครบ 1 ปีในเดือน ม.ค.ปีนี้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวกว่า 8.4% เมื่อปี 2550 และได้ตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ 8.35-9.0% ในปีนี้
เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วยอดเงินทุนจดทะเบียนขยายตัวเกือบ 70% จากปี 2549 เป็น 20,300 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามประเทศนี้กำลังประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง อัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปีในช่วงปีใกล้ๆ และพุ่งขึ้นเป็น 12.6% เมื่อปีที่แล้ว.