xs
xsm
sm
md
lg

‘คาร์บอนเครดิต’ ติดสปีด “ทำนาข้าวลดโลกร้อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงเกษตรฯ เร่งเครื่องทำนาข้าวลดโลกร้อนผ่านกรมชลประทาน และกรมการข้าว ด้วยแรงจูงใจขายคาร์บอนเครดิตไร่ละ 400 บาท หลังจากถ่ายทอดองค์ความรู้พร้อมนำร่อง “ทำนาเปียกสลับแห้ง” กว่า 5 ปี ภายใต้โครงการ ไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA ที่จะสิ้นสุดในปีนี้ ขณะที่มีผลสำรวจทีดีอาร์ไอ ประเมินเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่


การทำนาข้าวแบบเดิมยังเป็นผู้ร้ายในสังคมคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งถ้าขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป การส่งออกข้าวไทยอาจเผชิญกับปัญหาเงื่อนไขการค้าแห่งอนาคต รวมถึงเป็นแนวทางตอบโจทย์เป้าหมายสำคัญของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

ภาพจำฤดูทำนาที่มีการขังน้ำนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ซึ่งส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ทว่าการส่งเสริมและสนับสนุน “ทำนาข้าวลดโลกร้อน” หรือการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นภาพใหม่ ยังขาดแรงจูงใจที่มากพอ เกษตรกรไทยยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนนำมาสู่แรงจูงใจแบบเร่งเครื่อง ทำนาข้าวลดโลกร้อนแล้วชาวนายังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการขายคาร์บอนเครดิตได้


ตอบโจทย์ BCG ลดโลกเดือด

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG)ในส่วนการทำนาข้าว ทางกรมชลประทานได้ทำการศึกษาและวิจัยเปรียบเทียบการให้น้ำแบบประหยัด เป้าหมายเพื่อขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกร หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งการหาแนวทางประหยัดน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในสภาวะอากาศที่ผันผวนสูงเช่นปัจจุบัน

ขณะเดียวกันต้องไม่กระทบผลผลิต และเป็นวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริง โดยในการศึกษาฯ ได้คำนึงถึงการประเมินประสิทธิภาพด้านการใช้น้ำในนาข้าวเป็นสำคัญ ร่วมด้วยปัจจัยในการเพาะปลูก เช่น ดิน เมล็ดพันธุ์ การดูแลนาข้าว ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพการปลูกจริงของเกษตรกร ซึ่งทางคณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการทำนาแบบนาเปียกสลับแห้ง และทำการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ กข.85 และออกแบบการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดร่วมกับเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ IOT เข้ามาเฝ้าติดตามสมดุลน้ำในพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา


ขายคาร์บอนเครดิตได้ นำร่องที่สุพรรณบุรี

การวัดผลลัพธ์ที่ได้จากการปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวลดโลกร้อน และข้าวคาร์บอนต่ำ ของเกษตรกรไทย ยืนยันได้ด้วยการที่ชาวนากลุ่มแรกที่ได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นกลุ่มนำร่องที่เปลี่ยนวิธีเพาะปลูกข้าวเป็นแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปลูกข้าวแบบเดิม 1 ไร่ จะปล่อยคาร์บอนออกมาประมาณ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

เสาวณี โพธิ์รัง เกษตรกรอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ก่อนหน้าได้ทำนาเปียกสลับแห้งอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2558 และมีโอกาสนำเรื่องทำนาแบบใหม่ไปหารือในเวทีชาวนาโลกร้อน แล้วมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเข้าไปเห็น ซึ่งบริษัททำเรื่องรับซื้อคาร์บอนเครดิตอยู่แล้ว จึงเป็นจังหวะที่เสนอขายได้โดยตรง จากที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ก็ทำได้

ทั้งนี้ขั้นตอนการทำไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด กรมการข้าวจะดูแลและแนะนำช่วงระยะเวลา การฝังท่อน้ำแกล้งข้าว การวาดแปลง และการบันทึกซึ่งอันนี้สำคัญต่อการซื้อขายคาร์บอน ผลที่ตามมานอกจากผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น จาก 750 เป็น900 กิโลกรัม(กก.) ต่อไร่แล้วต้นทุนการผลิตยังลดลงด้วย

เมื่อชาวนาหันมาปลูกแบบเปียกสลับแห้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็เกิดเป็นคาร์บอนเครดิตเอาไปขายได้ โดย Spiro Carbon ได้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 400 บาทต่อ 1 ตันคาร์บอนเทียบเท่า (ราคาอาจจะสูงกว่านี้ในอนาคตเมื่อกำแพงภาษีคาร์บอนมีการบังคับใช้เป็นสากล) โดยในหนึ่งปีทำนาได้ 2 ครั้งเท่ากับชาวนาปลูกข้าวในนา 1 ไร่แบบเปียกสลับแห้งจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 800 บาทต่อปี


แรงจูงใจใหม่ เร่งเพิ่มฐานทำนารักษ์โลก

ด้าน นางอมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า การทำนาน้ำขังแบบเดิม ตลอดฤดูปลูก ทำให้ไม่มีออกซิเจนสร้างจุลินทรีย์ทำปฏิกริยาจนเกิดก๊าซมีเทนขึ้น ดังนั้นการลดก๊าซมีเทนง่ายๆ คือต้องทำให้น้ำแห้ง เพิ่มออกซิเจนลงในดิน จึงเป็นที่มาของการปลูกข้าวแบบน้ำไม่ท่วมขัง เปลี่ยนมาเป็นเปียกบ้างแห้งบ้าง ทางกรมการข้าวนำไปทดลองในแปลงนา เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวแบบน้ำท่วมขังแล้วพบว่า การทำนาแบบน้ำท่วมขังจะใช้น้ำประมาณ 1 ฤดูกาล 1,600 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ต่อไร่ ซึ่งค่อนข้างมาก แล้วถ้าเกิดเกษตรกรที่ต้องสูบน้ำเข้านาจะต้องสูบถึง 12 ครั้ง นั่นคือค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น หากเปลี่ยนเป็นทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ปริมาณน้ำจะลดลงไปถึง 40% กรณีการสูบน้ำเข้านาก็จะสูบเพียง 6 ครั้ง หมายถึงลดค่าเชื้อเพลิง ถึง 50 %

ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างแรงจูงใจที่ว่า “3 เพิ่ม 3 ลด” ตอนนี้กระแสการซื้อคาร์บอนเครดิตจากนาข้าวมาแรง นาข้าวจึงเป็นเสมือนทองคำที่ต่างประเทศสนใจ เพราะต่างประเทศเขามีมาตรการภาคบังคับ มีเกณฑ์ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากลดไม่ได้ก็ต้องไปหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาเพิ่ม ซึ่งในอุตสาหกรรมภาคพลังงาน ทำได้น้อย ”

โดยขั้นตอนขายคาร์บอนเครดิตมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกก็คือซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มก็คือเหมือนเป็นตลาด (Trading Platform) อันนี้จะยุ่งยากนิดหน่อยในด้านราคาที่ต้องต่อรองกันเอง และอีกแบบก็คือซื้อขายโดยตรงก็คือบริษัทติดต่อเกษตรกรเข้ามาซื้อได้เลย ซึ่งตอนนี้ทางกรมการข้าว พยายามสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องของการขายคาร์บอนเครดิต ร่วมกับ อบก.ว่าทำยังไงถึงจะมีคาร์บอนเครดิตไปขายได้ ในราคาที่เป็นประโยชน์แล้วก็คุ้มค่ากับเกษตรกรมากที่สุด

"ตอนนี้มีการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรอย่างในกลุ่ม ศูนย์ข้าวชุมชนหรือกลุ่มนาแปลงใหญ่ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเริ่มซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ช่วงนาปรัง โซนภาคกลางเขตชลประทาน 20 ล้านไร่ ส่วนนาปีที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลักนั้นจะวัดระดับน้ำไม่ได้ เพราะฝนที่ตกไม่รู้ว่าจะแห้งตอนไหน เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่สนใจ ตอนนี้ให้สมัครได้เลย กรมการข้าวจะเตรียมจัดหาผู้ที่มาซื้อให้ "

ด้านกรมการข้าว ชี้แจงว่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของนาข้าวสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ 1) ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับ อบก. หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) 2) ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง

ความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นแนวทางสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนของประเทศไทยที่ตั้งเป้าในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 30 ล้านคน สามารถขาย Carbon Credits ได้ถึง 400 บาทต่อไร่จากการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้เกษตรได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นก้าวสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมไทยในการก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นศูนย์ในที่สุด


ทั้งนี้ โครงการ Thai Rice NAMA เป็นความร่วมมือหลักระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย โดยการสนับสนุนชาวนากว่าหนึ่งแสนรายในการปรับเปลี่ยนไปสู่การทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการให้ความรู้ผ่านการอบรม มาตรการสนับสนุนทางการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านเครื่องมืออุปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

โครงการนี้พัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรจำนวน 1 แสนครัวเรือน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (เดือนสิงหาคม 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566) และได้รับการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 1 ปี (เดือนสิงหาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2567) พร้อมการขยายพื้นที่การดำเนินโครงการเพิ่มเติมไปสู่จังหวัดข้างเคียง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร ลพบุรี และนครราชสีมา


ทีดีอาร์ไอ ชี้เหตุชาวนาไม่กล้าเปลี่ยนวิถีทำนา

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า เหตุผลที่ชาวนาหลายรายยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว แม้ภาครัฐ ภาควิชาการและ NGO หลายหน่วยงานพยายามผลักดันการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งแต่ชาวนาหลายรายยังทำนาแบบดั้งเดิม 

จากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างชาวนา 211 รายในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่ไม่ได้ทำนาเปียกสลับแห้งของ TDRI พบว่า เกษตรกรกังวลปัญหาระบบชลประทานปล่อยน้ำไม่ตรงเวลา หรือได้น้ำไม่เพียงพอในช่วงที่ต้องการน้ำมากที่สุด (20% ของกลุ่มตัวอย่าง) ในขณะที่ร้อยละ 18 เผชิญหน้ากับปัญหาพื้นที่นาไม่เหมาะแก่การทำนาเปียกสลับแห้ง (เช่น เป็นที่ลุ่ม) ซึ่งพื้นที่ ๆ เหมาะสมต้องเรียบเสมอกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมปริมาณน้ำ ทั้งนี้ ในพื้นที่ ๆ เป็นที่ลุ่มอาจต้องอาศัยการปรับแปลงนาด้วยเลเซอร์หรือเครื่องจักร ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตกอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 บาท/ไร่ และอีกร้อยละ 16 บอกว่าไม่มีองค์ความรู้ในการทำนาเปียกสลับแห้ง นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อาทิ กังวลว่าแปลงนาอาจมีหญ้ามาก (12%) ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่าหรือไม่ (11%) กลัวความเสี่ยงว่าผลผลิตต่อไร่จะลดลง (11%) ไม่มีเงินทุน/ไม่ต้องการควักเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน (6%) กลัวถูกบอกเลิกการเช่าที่ดินทำนากะทันหัน (จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนปรับที่นา) (3%)


เมื่อสอบถามถึงการช่วยเหลือ/มาตรการที่จะทำให้ชาวนาตัดสินใจมาทำนาเปียกสลับแห้ง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการสัญญาการจัดสรรน้ำอย่างตรงเวลาจากกรมชลประทานมากที่สุด (99 คำตอบ) ตามมาด้วยองค์ความรู้/การเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบ (66) เงินช่วยเหลือลงทุนปรับระดับแปลงด้วยเลเซอร์ (61) คำตอบที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ มีการรวมตัวตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในคลองชลประทานอย่างเข้มแข็ง (50) เนื่องจาก ในหลายพื้นที่ แม้จะมีการประชุมการจัดสรรน้ำในกลุ่มผู้ใช้น้ำ แต่ด้วยกลุ่มไม่มีความเข้มแข็ง สมาชิกไม่ปฏิบัติตาม แย่งกันสูบน้ำ การทำนาเปียกสลับแห้งที่ต้องอาศัยการวางแผนปริมาณน้ำที่เหมาะสมจึงทำได้ยาก นอกจากนี้ ชาวนาบางรายต้องการพี่เลี้ยงจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง (49) และการช่วยเหลืออื่น ๆ อาทิ บริการสูบน้ำและติดตามแบบครบวงจร โดยคิดค่าจ้าง ไม่ต้องทำเอง (40) เจ้าของที่นาที่ท่านเช่าตกลงจะช่วยชดเชยเงินลงทุนปรับระดับที่ดิน (24)


กำลังโหลดความคิดเห็น