การขับเคลื่อนของกทม. “จัดการขยะเศษอาหาร” ที่ต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด ตั้งแต่ต้นปีนี้ เห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้น ผ่านกลไก Green Partnership ในโครงการ “ไม่เทรวม” โดยเฉพาะการเข้าไปรุกที่ศูนย์การค้า และร้านอาหารทั่วกรุง ล่าสุดคงเห็นได้จากความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล และการเข้าร่วมของร้านอาหารมีชื่อกว่าพันแห่งทั้ง 50 เขต
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่เทรวม ว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ตามนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจรเกิดผลเป็นรูปธรรมและลดปริมาณมูลฝอยเศษอาหารที่ถูกทิ้งรวมมากับมูลฝอยทั่วไป
“ในปีงบประมาณ 2567 กทม. ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ 200 ตัน/วัน และเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็น 500 ตัน/วัน ปี 69 จำนวน 1,000 ตัน/วัน สำหรับในปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วม แบ่งเป็น ตลาด 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษา 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้า 114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน และโรงแรม 136 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 17.7 ตัน/วัน โดยในปีที่ผ่านมา (2566) พบว่าจำนวนขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี หรือคิดเป็นเงิน 141,474,000 บาท สำหรับในเฟสต่อไปต้องดึงประชาชนมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาษี ค่าธรรมเนียม และต้องทำให้เห็นว่าเมื่อแยกขยะแล้ว กทม.ก็ไม่เทรวม”
ผนึกห้าง-ร้านอาหารทั่วกรุง “ไม่เทรวม”
ปัจจุบันนี้มีร้านอาหารทั้งหมด 1,059 แห่ง (เฉพาะร้านเดี่ยว ไม่รวมที่อยู่ในห้าง) ใน กทม. ที่ร่วมโครงการ ‘ไม่เทรวม’ และรวมกันแล้วสามารถแยกขยะเศษอาหารได้วันละ 39,581 กิโลกรัม (หรือวันละเกือบ 40 ตัน)ที่ผ่านมาจะเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ที่ทำเรื่องคัดแยกได้ดี แต่ข้อมูลนี้พบว่าร้านเล็กๆ น้อยๆ ก็ร่วมกัน ทำให้เราสามารถแยกและลดขยะไปกำจัดได้อย่างมาก
ในภาพรวมปัจจุบันเราสามารถแยกเศษอาหารได้แล้ววันละ 277 ตัน หรือรวมทั้งหมด 8,587 ตัน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่วันละ 200 ตัน สำหรับร้านอาหาร 1,059 แห่งนี้ เราสามารถแบ่งวิธีการจัดการเศษอาหารได้ด้วย เช่น สำนักงานเขตจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ (ทำปุ๋ย/น้ำหมัก/ส่งเกษตรกร) 23.6%, สำนักงานเขตประสานเกษตรกรมารับตรงที่ร้าน 76% และร้านทำปุ๋ยหมักเอง 0.4%
เมื่อร้านเหล่านี้แยกเศษอาหารแล้ว (ซึ่งยากที่สุด) ขยะที่เหลือที่เป็นขยะแห้งส่วนมากก็ขายได้ โดยเราก็เชื่อมให้ร้านรู้จักผู้รับซื้อที่เป็นภาคี กทม. เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และปัจจุบันยังมีภาคีหลายเจ้าที่พร้อมรับขยะกำพร้า (มูลค่าต่ำ เช่น ถุงแกง ซองขนม และซองกาแฟ) ได้ทำเป็นเชื้อเพลิงต่อด้วย “พูดได้เลยว่าวันนี้ขยะทุกชิ้นมีทางไปแล้วถ้าเราจัดการอย่างถูกวิธี”
ขณะเดียวกัน กทม.ขับเคลื่อนร่วมกับเชนร้านอาหารในศูนย์การค้า ล่าสุดหัวขบวน “ไม่เทรวม” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ไปร่วมอีเวนต์รักษ์โลก กับกลุ่มเซ็นทรัลในงาน Better Futures Project ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ที่นี่มีพันธมิตรกว่า 150 ร้านค้า ส่งเสริม Waste Management ในโครงการ ‘ไม่เทรวม’ เพื่อลดขยะฝังกลบ
นายพรพรหม ยกตัวอย่างการสรุปผลของ Food Bank ซึ่งเป็นการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้แก่กลุ่มเปราะบางจากทุกเขตในกทม. (ดูกราฟประกอบ เมื่อเดือนเมษายน 2567) นอกเหนือจากการตั้ง Food Bank ในรูปแบบของ "มินิมาร์ท" ที่สำนักงานเขตแล้ว อีกโมเดลที่เราทำคือการเชื่อมตรงจากผู้บริจาค (ส่วนใหญ่ร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์) สู่ชุมชนที่มีผู้เปราะบาง โดยเขตเป็นผู้จัดส่ง
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าเราสามารถป้องกัน 9,338 กก. ของอาหารไม่ให้กลายเป็นขยะ และสามารถส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการได้ ซึ่งเราสามารถส่งต่อได้ 59,382 มื้อ โดยที่เขตวังทองหลางที่มาอันดับ 1 สามารถกอบกู้ได้ 3,910 กก.
สำหรับขยะอินทรีย์ ประกอบไปด้วยทั้งเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ หรือต้นไม้ที่ถูกตัด โดยมีปริมาณประมาณ 45% ของขยะที่ต้องนำไปกำจัดหรือ 3,874 ตัน/วัน หากคำนวณตามปริมาณขยะปี 2563 ขยะส่วนนี้จะถูกส่งไปที่โรงหมักปุ๋ยจากขยะอินทรีย์ ที่ตั้งอยู่ในสถานีขนถ่ายขยะอ่อนนุช โดยรับขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยได้ 1,600 ตัน/วัน และที่โรงงานกำจัดขยะเชิงกล-ชีวภาพ หรือ MBT (Mechanical Biological Waste Treatment) โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งรับขยะอินทรีย์ไปคัดแยกวัสดุ รวมทั้งเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ 800 ตัน/วัน
“ขยะเศษอาหาร” แยกขยะแล้วไปไหนต่อ ?
หากไม่มีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยะเศษอาหารย่อมไปปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่น ส่งผลให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก รวมถึงการที่ไปเพิ่มปริมาณขยะในหลุมฝังกลบ
1. เกษตรกรมารับถึงที่ ทราบหรือไม่ว่าเศษอาหารเป็นของดีที่ต้องการของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลามาก สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แถมช่วยกำจัดขยะให้เราด้วย และเกษตรกรเหล่านี้พร้อมวิ่งเข้ามารับจากจังหวัดรอบข้างเลยด้วยซ้ำ
หน้าที่ของกทมคือ การเชื่อมแหล่งกำเนิดกับเกษตรกรเข้าหากัน ถ้ามีตลาด/ห้าง/โรงแรม ไหนพร้อมแยกแล้วเราช่วยติดต่อเกษตรกรมารับให้เลย ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับพวกข้าวหมูแต่ปัจจุบันเริ่มมีคนรับเศษผักผลไม้มากขึ้นเช่นกัน
2. สำนักงานเขตจัดเก็บตามร้าน/ครัวเรือน ด้วยรถเฉพาะ และนำมารวบรวมให้เกษตรกรมารับ ข้อจำกัดของการให้เกษตรกรมารับตรงคือแหล่งกำเนิดนั้นจะต้องมีปริมาณขยะเยอะ (ร้านเล็กๆที่มีขยะไม่มากก็ไม่คุ้มที่จะวิ่งไปรับ) ซึ่งสำหรับร้านเล็กๆ/ห้องแถว/ครัวเรือน จะมีโมเดลที่สำนักงานเขตใช้รถเฉพาะวิ่งเก็บเศษอาหารอย่างเดียวในพื้นที่ และเอาทั้งหมดไปรวมไว้ที่จุดพักแห่งหนึ่ง และกำหนดเวลาให้เกษตรกรมารับทีเดียว ฝรั่งจะเรียกว่าโมเดล "Milk run" (กรณีนี้บ้านหรือร้านไหนสนใจแยกขยะก็สามารถติดต่อฝ่ายรักษาของแต่ละเขตได้เลยเพื่อเข้าร่วมโครงการ "ไม่เทรวม")
3. สำนักเขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรงหมักปุ๋ยที่อ่อนนุช/หนองแขม ถ้าแหล่งกำเนิดไหนมีผักหรือเปลือกผลไม้เยอะๆ (มากเกินกว่าที่เกษตรกรต้องการ) เช่นตลาดสด สามารถประสานให้สำนักงานเขตมารับไปส่งโรงหมักปุ๋ยของกทม.ได้ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะนำไปใช้กับต้นไม้สาธารณะหรือหน่วยงานรัฐต่างๆสามารถมาเบิกได้
4.เขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรงBSFหนองแขม โมเดลเดียวกันกับที่ไปส่งโรงหมักปุ๋ยคือเขตเข้าไปรับตามแหล่งกำเนิด แต่ที่ต่างคือปลายทางจะไปที่โรง BSF (Black Soldier Fly) หรือโรงกำจัดที่ใช้หนอนแมลงทหารดำ ที่สามารถกินเศษอาหารได้อย่างดี และตัวหนอนเองก็สามารถขายเป็นอาหารสัตว์ได้
กรณีนี้เป็นเทรนใหม่ที่หลายๆประเทศได้เริ่มดำเนินการ เรามีศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และจุฬา โดยมีทีมสวนต้องก้าว เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งปัจจุบันสามารถกำจัดได้วันละ 3 ตัน (เราวิ่งเก็บจากเขตฝั่งธนเป็นหลัก) และในอนาคต 10 ตันโดยใช้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร นอกจากนั้นยังเป็นที่สำหรับดูงานได้ โดยเริ่มมีเอกชนหลายแห่งหรือสำนักงานเขตเช่นเขตวัฒนา มาดูงานและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตัวเองแล้ว
5. กำจัด ณ แหล่งกำเนิด อีกแนวทางสำคัญคือการกำจัดเศษอาหารที่แหล่งกำเนิดเลยเช่น การมีเครื่องหมักอัตโนมัติ ที่เข้าใจว่าปัจจุบันค่าลงทุนลดลงเรื่อยๆจากเมื่อก่อน ซึ่งเหมาะกับภาคเอกชนรายใหญ่ หรือการหมักแบบเทคนิคดั้งเดิม เช่น Green cone, ปุ๋ยคอก ต่างๆ ที่จะเหมาะกับภาคครัวเรือนหรือชุมชน หรือการทำแก๊สชีวภาพ
นายพรพรหม ย้ำว่าบ้านเรือนทั่วไปที่อยากแยกขยะจะต้องทำอย่างไรนั้น? ปัจจุบันรถเก็บขยะของกทม. ทุกคัน (รถอัดที่เราเห็นทุกๆวัน) มีถังขยะสำหรับเศษอาหารวางไว้บนคอกรถหลังคนขับแล้ว เพียงขอให้ทุกบ้านเรือนแยกขยะออกเป็น 2 ถุง เขียนอะไรง่ายๆ ที่บ่งบอกว่าถุงนั้นเป็น “ขยะเปียก” (หรือใช้ถุงใสให้เห็นข้างใน) แล้วเจ้าหน้าที่จะแยกไปใส่ถังเฉพาะ ถ้าลองแล้วยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่เทรวมอยู่ สามารถแจ้งไปที่เขตหรือแจ้งผ่าน traffy fondue ได้
“อีกอันที่เห็นแล้วดีใจคือที่ทาง รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand เริ่มมีโมเดลรับเศษอาหารโดยมีการให้เช่าถังแยกเศษอาหาร ที่จริงแล้วยังมีวิธีการอื่นๆอีกมากมาย แต่ตัวอย่างเหล่านี้ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าขยะนั้นถ้าแยกแล้วมีทางไปหมดแม้กระทั่ง "ขยะเปียก" ที่คนจะมักมองว่าเหม็นและไม่มีมูลค่าก็มีทางไปครับ”
แก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง ใครบ้าง?
ผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร บอกว่า ในมุมที่ทุกคนเป็นผู้บริโภค เราทุกคนล้วนเป็นต้นทางในการสร้างขยะ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เช่นว่า น้ำประปายังดื่มไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงยังจำเป็นต้องซื้อน้ำขวด การเป็นผู้บริโภคจึงต้องกลายเป็นผู้สร้างขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีอย่างนี้คือบทบาทของบรรดาผู้ผลิต
ผมสนับสนุนเรื่อง EPR (Extended Producer Responsibility) คอนเซปต์คร่าวๆ คือ ถ้าคุณเป็นผู้ผลิต คุณต้องหาทางเอาผลิตภัณฑ์ของคุณกลับมารีไซเคิลให้ได้ ถ้าหากทำแบบนี้ได้มันจะตอบโจทย์ ให้เอกชนพยายามทำหรือถูกบังคับให้เอาคืน ตอนนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายบังคับเหมือนเมืองนอก แต่เริ่มมีคนทำด้วยความสมัครใจแล้ว ผมคิดว่าเป็นภาพใหญ่ของประเทศที่สำคัญ และประเทศที่เริ่มทำแล้วก็เห็นผลจริงๆ โดยเฉพาะของที่เริ่มทำได้เลย เช่น E-waste คุณเอากลับมาได้ปุ๊บ คุณสามารถเอามารีไซเคิลได้เยอะเลย ตอนนี้ยังไม่มีแรงจูงใจให้บริษัทต้องเอาคืนมา แต่ถ้ามีกฎหมายเมื่อไร ทุกคนต้องทำ
ตัวเลขกลมๆ ตอนนี้ในการฝังกลบต้องใช้เงินตันละ 600 บาท แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนไปจัดการแบบอื่น อย่างเอาไปเผาตอนนี้ค่าใช้จ่ายตันละ 900 บาท ซึ่งถ้าเรายังสร้างขยะกันเท่าเดิม แต่จะลดการฝังกลบให้ได้ตามเป้าเลยการเอาไปเผาแทน ตัวเลขการฝังกลบลดลง เอาไปพูดอ้างอิงเป็นความสำเร็จได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตันละ 300 บาท คือค่าใช้จ่ายที่เอาเงินภาษีมาใช้ คือภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และเตาเผาขยะที่เราจะต้องสร้างเพิ่มขึ้นตามนโยบายเพื่อลดการฝังกลบ อีกด้านคือมีค่าใช้จ่ายในการสร้างที่ต้องเอาภาษีมาใช้ ผมเลยมองว่ายุทธศาสตร์ชาติในเรื่องแผนการจัดการขยะ ตามทฤษฎีมันดี แต่เราต้องมาดูวิธีการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าด้วย สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาขยะที่ดีที่สุด คือการพยายามลดปริมาณ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับ กทม.โดยตรง