xs
xsm
sm
md
lg

“ผักหวานป่า” สุดยอดของผักยืนต้น สูงทั้งคุณภาพและราคา เดี๋ยวนี้ปลูกง่ายแล้ว...แหล่งสารต้านอนุมูลอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ผักหวานป่า เป็นผักยืนต้นที่โดดเด่น มีคุณค่าทางอาหารมากมาย ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง และราคาก็สูงไปด้วย ส่วนการปลูกยังรักษาความเป็นไม้ป่าอย่างมั่นคง ชอบแต่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ไม่ชอบปุ๋ยเคมี แตกยอดอ่อนได้ดีในฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ถึงพฤษภาคม ขณะที่ไม้อื่นเหี่ยวเฉา หน้าฝนกลับไม่ยอมออก บังคับอย่างไม้อื่นๆก็ยาก พอเข้าหน้าหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงมกราคม ยอดผักหวานป่าจะหงิกงอ
 
ผักหวานป่ามี ๒พันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลือง และ พันธุ์ยอดเขียว ซึ่งพันธุ์ยอดเหลืองได้รับความนิยมมากกว่า แต่ก็ไม่แตกต่างกันมาก ส่วนผักหวานบ้านนั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย เพียงแต่ตั้งชื่อให้คล้ายกันเท่านั้น

ผักหวานป่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาคในป่าเบญจพรรณ ในที่ราบและเชิงเขาที่สูงจากน้ำทะเลไม่เกิน ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

ผักหวานป่าใช้ยอดอ่อนและดอกอ่อนซึ่งมีรสหวานมัน กรอบ หอม อร่อย ทำอาหารได้หลายชนิด ทั้งลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย แกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิใส่ไข่มดแดง หรือแกงกับปลา ผัดกับไข่ก็ได้

แพทย์แผนไทยถือว่าผักหวานป่าเป็นอาหารและยาประจำฤดูร้อน ช่วยแก้อาการของธาตุไฟ ช่วยระบายความร้อน แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ

ส่วนคุณค่าทางโภชนาการ ผักหวานป่าเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนนอลิก ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ต้านสารก่อมะเร็ง ต้านการตีบตันของหลอดเลือดแดง ป้องกันโรคหัวใจ ต้านการอักเสบ ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง ผักหวานป่ายังอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง เบต้าแคโรทีนที่มีมากในผักหวานป่า ยังช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงจากการตาบอดในเวลากลางคืน ผักหวานป่ายังมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการขับถ่ายและเป็นยาระบายอ่อนๆ
 
ปัจจุบันมีการนำผักหวานป่ามาทำชา เป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ และยังทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอีกหลายชนิด เช่น น้ำผักหวานป่า ไวน์ คุกกี้ ข้าวเกรียบ ทองม้วน เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พบว่า การนำผักหวานป่ามาแปรรูปด้วยวิธีอบแห้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อย คือวิตามินซีจะลดลดลงไม่เกินร้อยละ ๑๐ เท่านั้น

คุณค่าของผักหวานป่ามีมากขนาดนี้ จะไม่ปลูกผักหวานป่าเป็นผักยืนต้นไว้ในบ้านสัก ๒-๓ ต้นบ้างหรือ

แต่ก่อนการปลูกผักหวานป่าเป็นเรื่องยาก เอาใจมากก็ตาย ฤดูกาลแตกใบอ่อนก็ตรงข้ามกับไม้อื่นเขา จึงต้องเก็บยอดจากต้นที่ขึ้นเองในป่าเท่านั้น ปีหนึ่งก็เก็บได้ช่วงเดียว แต่เรื่องนี้ไม่พ้นความสามารถของเกษตรกรไทย ซึ่งค้นคว้าทดลองจนรู้ธรรมชาติของผักหวานป่า ทำให้มีการทำสวนผักหวานป่ากันได้ทุกภาค ทั้งยังบังคับให้แตกยอดมาออกได้ตลอดปี ส่วนที่ว่าผักหวานป่าตอนไม่ได้ ต้องเพาะจากเมล็ดเท่านั้น ตอนนี้ก็มีกิ่งตอนขายกันเกลื่อนทั้งกิ่งเล็กกิ่งใหญ่ ทำให้ทุ่นเวลาปลูกจนเก็บยอดได้เร็วขึ้น ทั้งยังปลูกในกระถางก็ได้

เคล็ดลับของผักหวานป่าก็คือ แม้จะเป็นไม้ป่าทนแล้ง แต่เมื่อวัยอ่อนกลับขี้อ้อน ต้องมีไม้พี่เลี้ยง จึงต้องปลูกไม้พี่เลี้ยงควบคู่ไปด้วย หรือจะลงไม้พี่เลี้ยงไว้ก่อนให้เป็นร่มเงาของผักหวานป่าต้นอ่อน ซึ่งมักใช้ไม้ตระกูลถั่ว เช่น ต้นแค มะขามเทศ ขี้เหล็ก ตะขบ แต่หลายแห่งก็ใช้ไม้ใหญ่อย่างมะม่วง ประดู่ ก็มี ไม่เกี่ยงไม้พี่เลี้ยง เช่นเดียวกับที่ขึ้นอยู่ในป่า หรือจะใช้เทคนิคพรางแสงด้วยสแลนเป็นเวลา ๑ ปีก็ได้

สำหรับพันธุ์ผักหวานปาที่จะเอามาปลูกนั้น แต่ก่อนใช้ต้นเพาะเมล็ดเท่านั้น ซึ่งต้องอายุ ๓ ปีจึงจะเด็ดยอดได้ และจะมีอายุยืนเป็น ๑๐๐ ปี แต่ตอนนี้มีกิ่งตอนออกมาขายกันทั่วไป ใช้เวลาแค่ ๒ ปีก็เด็ดยอดได้ และหากต้นสมบูรณ์ดีใช้เวลาแต่ปีครึ่งก็มียอดให้เด็ดแล้ว ส่วนอายุยังไม่สามารถกำหนดได้

ผักหวานป่าจะแตกยอดอ่อนในช่วงหน้าแล้ง ถ้าต้องการให้มียอดเก็บทั้งปีก็ทำได้ โดยเมื่อโตเต็มที่แล้วก็ตัดปลายกิ่งออก ให้เหลือเพียง ๑๕-๒๐ เซนติเมตร จากนั้นก็รูดใบแก่บางส่วนให้เหลือไว้กิ่งละ ๓-๔ใบก็พอ รดน้ำพอชื้น ประมาณ ๓ สัปดาห์หลังรูดใบ ผักหวานก็เก็บยอดได้ และควรเก็บช่วงเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น เพราะเมื่ออากาศร้อนใบผักหวานจะเหี่ยวงอไม่สดชื่น

การปลูกผักหวานป่าไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ต้องการแสงเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ จึงต้องปลูกในที่มีร่มเงา ขุดหลุมเพียงตื้นๆ ในระยะห่างกันแค่ ๑ เมตรก็พอ ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมเสียหน่อย รดน้ำพอชื้นอย่าให้แฉะ ให้ปุ๋ยคอกปีละ ๒-๓ ครั้งโดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน

ผักหวานป่ามีข้อดีมากมาย แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน การรับประทานผักหวานป่าควรทำให้สุกเสียก่อน เช่นลวกก็พอ การรับประทานสดๆในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการเบื่อเมา อาเจียน และเป็นไข้ได้

ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือ ผักหวานป่าก็เหมือนเห็ดป่า ต้องดูให้แน่ เพราะมีต้นไม้มีพิษที่มีลักษณะคล้ายผักหว่านป่า เช่น ต้นเสน ต้นขี้หนอน ที่ทำให้เกิดอาการผิดสำแดง คลื่นเหียนอาเจียน อ่อนเพลีย มึนงง หมดสติ และหากร่างกายอ่อนแอก็อาจถึงขั้นเสียชีวิดได้ ...แต่ถ้าหากปลูกไว้เองก็ไม่ผิดต้นแน่


กำลังโหลดความคิดเห็น