คนในเมืองหลายคนคงลืมกันไปแล้วว่า มะกอกป่าเป็นผักรสเลิศอีกอย่างหนึ่งใช้ทั้งใบและลูกเป็นอาหาร รับประทานได้สดๆโดยไม่ต้องผ่านความร้อนให้เสียคุณค่า อีกทั้งสรรพคุณก็ยังมากเสียด้วย คนที่ได้ลิ้มรสแล้วจะติดใจ ในหน้าฝนที่ผักยืนต้นส่วนใหญ่แตกใบอ่อน จึงมีใบมะกอกป่าวางขายอยู่บนแผงขายผักพื้นบ้านทั่วไป แม้ในกรุงเทพฯ และออนไลน์ เป็นผักรสเลิศในฤดูฝน เช่นเดียวกับผักหวานป่าเป็นผักรสเลิศในฤดูแล้ง
มะกอกป่าเป็นไม้ใหญ่สูงได้ถึง ๒๕ เมตร แต่กลับปลูกง่ายๆ นอกจากเพาะเมล็ดหรือตอนแล้ว แค่ตัดกิ่งมาปักก็ขึ้น เคยเห็นเจ้าหน้าที่การทางในชนบทแห่งหนึ่ง ตัดเอาไม้ป่าข้างทางมาทำเสาป้ายบอกทางลงเขาที่ลาดชัน พอได้ฝนเสาป้ายบอกทางก็แตกใบอ่อนได้ เพราะไม้ที่ตัดคือมะกอกป่า
ยอดอ่อนและลูกมะกอกป่าทำอาหารได้หลายอย่าง ยอดที่เป็นใบอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใช้แต่งกลิ่นอาหารได้ นิยมใช้ใบสดเป็นผักรับประทานกับน้ำพริก ทั้งน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกหนุ่ม ลาบ หลน ส้มตำ น้ำตก หรือสับผสมลงไปในลาบ ช่วยเพิ่มรสชาติของลาบไม่ให้เลี่ยน มีสรรพคุณบำรุงธาตุ ช่วยแก้ร้อนใน ใช้เป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ มะกอกมีแคลเซียมสูง ช่วยรักษาป้องกันอาการเกิดตะคริวเนื่องจากขาดแคลเซียมได้
ส่วนผล ที่มีสีเขียวลายจุดประสีน้ำตาลอมดำเมื่อแก่ มีรสเปรี้ยวอมฝาดเล็กน้อย นิยมนำมาใส่ต้มยำ น้ำพริก และอาหารที่ต้องการรสเปรี้ยว และเมื่อสุกยังนำไปทำน้ำผลไม้ได้ โดยปอกเปลือกใช้เฉพาะเนื้อ นำเข้าเครื่องปั่น เติมน้ำเชื่อมตามชอบ กลิ่นรสไม่เหมือนใคร แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ
สรรพคุณของผลมะกอกป่านั้น ยังรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน เพราะมีวิตามินซีสูง ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด แก้กระเพาะอาหารพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ ที่สำคัญคือมีสารต้านมะเร็งและต้านสารอนุมูลอิสระสูง
ใบมะกอกอุดมด้วยวิตามินซี มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน คำว่า “ฝาดสมาน”ในตำรายาไทยหมายถึง ยาที่มีฤทธิ์สมานแผลทั้งภายในภายนอก ซึ่งสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ทั้งรักษาแผลเน่าเปื่อย และยังรักษาโรคบิดและท้องร่วงได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยดับกระหายและบรรเทาอาการหวัดได้
ทุกส่วนของมะกอกป่า ตั้งแต่ยอดจนถึงรากล้วนมีสรรพคุณทางยา เป็นส่วนประกอบของยาตำรับไทย ใช้เป็นยาบำรุงและรักษาอาการเจ็บป่วย
มะกอกมีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร รักษาโรคกระเพาะ แก้อาการแน่นท้อง ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ปวดมวนท้อง และอาการอื่นๆที่เกี่ยวกับลำไส้
ที่สำคัญมะกอกเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดและมีปริมาณสูง ซึ่งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ต้นพันธุ์ที่จะนำมาปลูกนั้น นอกจากตอนและตัดกิ่งปักชำแล้ว หากเพาะด้วยเมล็ดให้นำผลที่แก่จัดร่วงอยู่ตามโคนต้นมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้า เก็บไว้ในที่ร่มก่อน ๒-๓ เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว จากนั้นก็นำมาปอกเอาเนื้อออก นำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นทิ้งไว้ราว ๑๒ ชั่วโมงจึงนำไปเพาะในถุงชำในขนาด ๘-๑๐ นิ้ว ซึ่งเป็นถุงใหญ่หน่อย เพราะรากผักหวานป่าจะเติบโตเร็วและมีความยาวมาก เมื่อต้นกล้าสูง ๑๕-๒๐ ซม.ก็นำลงดินได้ ควรให้อยู่ในที่มีแดดครึ่งวันจนถึงแดดเต็มวัน
มะกอกป่าไม้ไม้สูงใหญ่และกิ่งปราะ จึงไม่ควรปลูกแบบปล่อยไปตามธรรมให้อยู่ใกล้บ้าน แต่การปลูกเป็นผักยืนต้นนั้นสามารถทำได้ โดยแต่งกิ่งควบคุมความสูงให้อยู่ในระยะที่เก็บสะดวก ปลูกเพียง ๒-๓ ต้นในระยะห่างกันแค่ ๑ เมตรก็พอกินทั้งบ้าน ใส่ปุ๋ยคอกและรดน้ำก็จะมีใบอ่อนกินทั้งปี
คนสมัยก่อนถือกันว่ามะกอกเป็นไม้อัปมงคล หากปลูกไว้ในบ้านจะทำให้คนในบ้านเป็นคนไม่น่าคบ กลิ้งกลับกลอก ปลิ้นปล้อน ตามสำนวนที่ว่า “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก” แต่คนกรีกโบราณกลับตรงกันข้าม ถือว่าช่อมะกอกเป็นมงคลและเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะ โดยผู้ที่มีชัยชนะในกีฬาโอลิมปิก จะได้สวมมงกุฎช่อมะกอก เช่นเดียวกับทหารที่มีชัยในการรบ ก็จะได้มงกุฎช่อมะกอกเป็นการสดุดีวีรกรรม แต่ใบมะกอกไม่กี่วันก็แห้งร่วงหมดแล้ว ภายหลังจึงนำโลหะมาหล่อเป็นช่อมะกอกแทน
แต่จะถืออย่างไรก็ตาม หากปลูกมะกอกป่าสัก ๒-๓ ต้นไว้เป็นผักยืนต้นในบ้าน ก็จะมีผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกอย่างไว้กินทั้งปี