xs
xsm
sm
md
lg

‘เครือข่ายอากาศสะอาด’ เปิด 8 ประเด็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องมีถึงเวิร์คจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในปีนี้ คนไทยเริ่มมองเห็นความหวังที่จะได้อากาศสะอาดกลับคืนมามากขึ้น ภายหลังจาก “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …” ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับร่างแล้ว

ทว่าสาระประเด็นสำคัญที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรมี มันควรมีหน้าตาอย่างไร และอะไรบ้างที่ถือเป็นหัวใจหลักเพื่อจะนำมาซึ่งแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทยในแบบที่ ‘เวิร์คได้จริง’


1) สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด
กฎหมายฉบับนี้จะสถาปนาสิทธิในการหายใจอากาศสะอาดของคนไทย และรัฐมีหน้าที่ต้องทำทุกทางให้ประชาชนได้มาซึ่งสิทธินั้น รวมถึงต้องเคารพ ปกป้อง และทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของเราเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์กล่าวคือคนไทยทุกคนจะมีสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตด้วยอากาศที่ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้เราทุกคนจะมีสิทธิรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและผลกระทบของคุณภาพอากาศที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีสิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการกำหนดนโยบาย จัดทำกฎหมาย และกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด รวมไปถึงมีสิทธิในการเข้าถึงและได้รับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมด้วย

2) บูรณาการมิติสุขภาพและมิติสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
เนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยทางเดินหายใจ และผู้ทำงานกลางแจ้ง คนกลุ่มนี้ควรต้องได้รับการดูแลจากรัฐเป็นพิเศษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของรัฐต้องมาพร้อมการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เสมอ

3) สร้างกลไกกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาด
เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพแท้จริง ควรต้องจัดให้มีคณะกรรมการในระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติการ ที่ทำงานเชื่อมกับทั้งส่วนกลาง จังหวัด และเขตพื้นที่เฉพาะ เพื่อควบคุม ติดตาม ดูแล ตรวจสอบ และเร่งรัดการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

4) สร้างแรงจูงใจควบคู่ไปกับบทลงโทษ
ว่าด้วยการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในการเปลี่ยนแบบแผนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเครื่องมือที่น่าสนใจ เช่น ระบบฝากไว้ได้คืน การกำหนดและโอนสิทธิในการปล่อยหมอกควันพิษ การประกันความเสี่ยงในความเสียหายต่อระบบนิเวศที่ทำให้คุณภาพอากาศด้อยลง มาตรการอุดหนุนหรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ

5) มุ่งเน้นการจัดการร่วม (Co-management)
เชื่อมโยงระบบจัดการโดยรัฐเข้ากับระบบจัดการโดยชุมชน ซึ่งเรียกว่า “การจัดการที่มีชุมชนเป็นฐาน”โดยให้ชุมชนมีบทบาทหลักและรัฐมีบทบาทรอง ตั้งแต่การจัดทำนโยบาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติการ ผลักดันกระจายอำนาจ (Decentralization) และการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) โดยคำนึงมิติทางสุขภาพควบคู่กับมิติทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างสมดุลและยั่งยืน

6) เปิดช่องแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ
กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษต้องไม่ใช้วิธีการเดียวกันในทุกพื้นที่ ไม่ใช้สูตร one size fits all เนื่องจากแต่ละพื้นที่ล้วนมีเงื่อนไขเฉพาะและมีสาเหตุที่ต่างกัน ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาจึงต้องแตกต่างกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น หมอกควันพิษในต่างจังหวัดมักเกิดจากการเผาป่าหรือเผาพื้นที่เกษตร ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับปัญหาในเขตเมืองที่มักเกิดจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

7) มุ่งการบูรณาการเชิงระบบ (Integration)
เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐ หรือระหว่างรัฐกับประชาสังคม เนื่องจากปัญหาหมอกควันพิษมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน และสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะขับเคลื่อนด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ขอบเขตการบูรณาการของกฎหมายฉบับนี้ ยังหมายรวมถึงการบูรณาการระหว่างมิติสิ่งแวดล้อมกับมิติสุขภาพ ระหว่างแรงจูงใจกับบทลงโทษ และระหว่างสิทธิเชิงเนื้อหาและสิทธิเชิงกระบวนการของประชาชนด้วย

8) กำหนดหมวดหมอกควันพิษข้ามแดนเป็นการเฉพาะ
ความเป็นจริงทุกวันนี้คือ หมอกควันพิษที่เกิดในประเทศหนึ่งอาจส่งผลต่อประเทศรอบข้างได้อย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขเยียวยาที่ชัดเจน เช่น ต้องกำหนดความผิดสำหรับเจ้าของ หรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษที่อยู่นอกประเทศไทย แต่ทำให้หมอกควันพิษนั้นข้ามแดนมาสร้างความเสียหายต่อประเทศไทยได้ เพราะที่ผ่านมาแม้เราและประเทศเพื่อนบ้านจะทำความตกลงระหว่างประเทศเรื่องหมอกควันพิษข้ามแดน ค.ศ.2002 (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution, 2002) แต่ก็ไม่สามารถบังคับใช้มาตรการใดอย่างจริงจังได้ ที่สำคัญกฎหมายในประเทศไทยเอง (เท่าที่มีอยู่) ก็ไม่มีฉบับใดที่บัญญัติมาตรการเรื่องหมอกควันพิษข้ามแดนเป็นการเฉพาะด้วย

อ้างอิง Thailand Clean Air Network เครือข่ายอากาศสะอาด https://thailandcan.org/th/blog/8-topics-that-the-clean-air-act-should-have

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง งดออกเสียง 1ให้รับหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ 

โดยที่“ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …” โดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยเป็นร่างกฎหมายของภาคประชาชนเพียงร่างดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น