xs
xsm
sm
md
lg

จับตา รมว.ทส. คนใหม่ ขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่าภาวะโลกเดือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลไทยชุดใหม่ ภายใต้หัวเรือ รมว.ทส. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เข้าทำงานแล้วแต่จะสานงานต่ออย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในการขับเคลื่อน “กรมโลกร้อน” และ “การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ” ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDCs

จากสัญญาณระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนทำลายสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลายประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถึงกับออกมาแถลงว่า “โลกกำลังสิ้นสุดยุคโลกร้อนแล้ว และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global boiling)”

ขณะที่ประเทศไทย เพิ่งจะได้รัฐบาลชุดใหม่ และได้หัวเรือใหญ่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาสานงานต่อ ซึ่งต่อจากนี้ในการขับเคลื่อนสานต่อภารกิจ “กรมโลกร้อน” และ “การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ” ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions : NDCs จึงเป็นก้าวที่สำคัญมากของเจ้ากระทรวง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ควบ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขับเคลื่อนกรมโลกร้อน-บรรลุเป้า NDCs ?

สิ่งที่ รมว.ทส.คนเดิม นายวราวุธ ศิลปอาชา เคยกล่าวไว้ถึงกรมใหม่ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” คือการฝากฝังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กำกับติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องราบรื่นไร้ข้อติดขัด ร่วมกับท่านอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมคนแรก คือ นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อเนื่องจากหน้าที่อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรองรับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมโดยตรง

นายวราวุธ บอกว่า คงไม่ขอฝากอะไรถึงรมว.ทส.คนใหม่ เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนก็มีแนวทางการทำงานเป็นของตัวเอง และที่ตนทำมาตลอด 4 ปีก็ได้ทำไปแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายอย่างที่ยังค้างไว้ ก็เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีคนใหม่จะต้องมาดำเนินการต่อ ตนไม่ขอไปก้าวก่ายในการทำงาน

โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา นายจตุพร บุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ได้มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาความรู้และเตรียมความพร้อมบุคลากรก้าวสู่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้บริหาร ทส. พร้อมด้วยบุคลากรจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม เดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปกท.ทส. กล่าวว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อ "กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม" เป็น "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" นับเป็นกรมแรกของไทยที่ได้รับการลงพระปรมาภิไธยในสมัยรัชกาลที่ 10 โดยจะเป็นกรมสำคัญที่จะทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ไปสู่ระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ถือเป็นโครงสร้างที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ บุคลากรทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องตกผลึกในการทำงาน ทั้งการปรับตัว การสร้างการรับรู้ การเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารร่วมกันภายในองค์กรที่จะต้องมีความชัดเจน เข้าใจในบริบทของการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการอธิบายข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างถูกต้องและเข้าใจ โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เสมือนจริง สร้างความแม่นยำ ถูกต้อง ครอบคลุม ชัดเจน ทันสมัย ในด้านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง


ทั้งนี้ NDCs คือกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศ/รัฐที่ลงนามรับรองข้อตกลงนี้มาตั้งแต่ปี 2015 จัดเตรียม รายงาน และรักษาการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดนี้อย่างต่อเนื่อง ในความพยายามของแต่ละประเทศเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แต่ละประเทศภาคีจะต้องจัดทำรายงานส่งมอบให้เลขาธิการ United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC ทุก ๆ 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นและสะท้อนให้เห็นความพยายามที่เป็นไปได้สูงสุด ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละประเทศภาคี (Common but differentiated responsibilities and respective capabilities, in the light of different national circumstances) ซึ่งเป็นผลดีในการสร้างกลไกให้เกิดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากรายงานการสังเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2023 ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลักแก่ COP28 และภาวะสต๊อกสินค้าทั่วโลกในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศต่างๆ จะทบทวนความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส

รายงานดังกล่าวย้ำว่ามนุษย์มีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนทั้งหมดในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิในปัจจุบันสูงขึ้น 1.1°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศที่เป็นอันตรายบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายล้างต่อผู้คนและโลก รายงานเตือนเราว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะมาพร้อมกับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น

รายงานสรุปว่ายังคงสามารถบรรลุขีดจำกัด 1.5°C ได้ และสรุปการดำเนินการที่สำคัญที่จำเป็นในทุกภาคส่วนและโดยทุกคนในทุกระดับ รายงานมุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นที่สำคัญสำหรับการดำเนินการ โดยคำนึงถึงความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศและมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมระบุว่าการแบ่งปันเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เทคโนโลยี มาตรการนโยบายที่มีประสิทธิผล และการระดมเงินทุนที่เพียงพอ

“ในชุมชนใดๆ ก็ตามสามารถลดหรือป้องกันการใช้วิธีการบริโภคที่มีคาร์บอนเข้มข้นได้ ประโยชน์สูงสุดในด้านความเป็นอยู่ที่ดีสามารถทำได้โดยการจัดลำดับความสำคัญในการลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ แม้กระทั่งชุมชนที่มีรายได้น้อยและชุมชนชายขอบที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ”


เศรษฐกิจสีเขียว เส้นทางเดียว "ลดโลกเดือด"

ดร.กิ่งกาญจน์ เกษศิริ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อประเด็นภาวะโลกเดือด ว่าเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นในการกระตุ้นให้ทุกประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะกลายมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในโครงการ Business Liaison Program ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโครงการ ธปท. สัญจรพบผู้ประกอบการพบว่า ภาคการผลิตและธุรกิจขนส่งปรับตัวสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าภาคอื่นๆ รวมถึงคู่ค้าหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดยุโรป นอกจากนี้ ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนดังกล่าวด้วย

ปัจจุบัน หลายบริษัทประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนอย่างชัดเจน โดยเห็นการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานแบบผสมผสาน (hybrid power plant) ภายในอาคารและโรงงานมากขึ้น และในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะลงทุนสร้างระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) เพิ่มเติมหากต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลง แต่บางแห่งพบอุปสรรคในการปรับตัว เช่น มีสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนมาลงทุนพลังงานทางเลือกได้ทันที สำหรับบางบริษัทที่ไม่ได้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่มีความใส่ใจในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะได้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC: Renewable Energy Certificate) สำหรับใช้เป็นหลักฐานเพื่อจัดทำรายงานความยั่งยืนและการจัดอันดับของบริษัทชั้นนำต่างๆ

นอกจากนี้ บางบริษัทเริ่มเก็บข้อมูล carbon credit ในกิจกรรมดำเนินงานเท่าที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าในอนาคตคู่ค้าจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเริ่มใช้สินค้าและอุปกรณ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ชุดแต่งกายพนักงานที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าพรีเมียมสำหรับลูกค้า เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น