เชียงราย - ภาค ปชช.ตั้งโต๊ะ-ชูป้ายริมแก่งผาได พรมแดนไทย-ลาว..เดินหน้าต้านเขื่อนน้ำโขง แฉชัดไทยมีพลังงานสำรองล้นเหลือยังซื้อไม่หยุด ทำชาวบ้านจ่ายเพิ่มอ่วม เฉพาะ “เขื่อนปากแบง” ห่างเวียงแก่นไม่ถึง 100 กม. จ่อขายไฟให้ กฟผ.ถึง 90% ของกำลังผลิต
เครือข่าย Thai Climate Action Network (Thai C-CAN) และองค์กรภาคประชาชน ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณแก่งผาได หมู่บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย แนวพรมแดนไทย-สปป.ลาว สุดสัปดาห์นี้ หลังตั้งโต๊ะเสวนา-หารือถึงผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงาน-องค์กรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
นายประจักษ์ ศรีคำภา รองเลขาธิการ ฝ่ายประสาน Thai C-CAN กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจัดประชุมเสวนา รณรงค์ เพื่อกำหนดข้อเรียกร้องต่อการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 28 ภาคประชาชน ผลักดันให้หยุดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และหากต้องใช้พลังงานใดๆ ก็ต้องให้มีความเป็นธรรมด้วย
พื้นที่ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น อยู่ใกล้กับโครงการเขื่อนปากแบง สปป.ลาว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำปากแบง ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อคนลุ่มแม่น้ำโขงแน่นอน ขณะที่ปริมาณพลังงานไฟฟ้าสำรองของไทยก็มีสูงอยู่แล้ว แต่กลับจะรับซื้อจากแหล่งพลังงานใหม่ดังกล่าวอีก ผลเสียอีกประการคือจะทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้นและทำให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าลอยตัวต้นทุนการผลิตหรือค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นตามมานั่นเอง
นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ช่วง 20 ปีมานี้เกิดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงหลายแห่งทำให้เกิดผลกระทบทั้งเรื่องทิศทางกระแสน้ำไหลและขึ้นลงไม่เป็นตามธรรมชาติหรือฤดูกาล ระบบนิเวศถูกทำลาย วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำเปลี่ยนไป ฯลฯ ภาคประชาชนพยายามต่อสู้เรียกร้องถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แต่กฎหมายไทยก็ไม่ครอบคลุมผลกระทบข้ามแดน
แต่เราก็จะสู้ต่อเพื่อให้สังคมได้เห็นประเด็นปัญหาและเข้าใจกันด้วยว่าการสร้างเขื่อนก็เพื่อเงินและกำไรเท่านั้น เพราะเห็นได้ชัดว่าพลังงานไฟฟ้าสำรองมีมากจนล้นเหลือ รวมทั้งมีพลังงานทางเลือกมากมายแต่ก็ยังมีความพยายามจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเขื่อนกันอยู่
ด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า เขื่อนปากแบงที่ได้มีการลงนามข้อตกลงกันไปก่อนหน้านี้แล้วคาดว่ายังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ก็สร้างความกังวลต่อภาคประชาชนมาก โดยเฉพาะเรื่องความชอบธรรมของ กฟผ.ในนามของรัฐบาลไทยที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนที่มีพลังงานเพิ่มเกินความจำเป็นและจะทำให้ประชาชนต้องรับภาระมากขึ้น ดังนั้นจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้นเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้มีการบริหารจัดการพลังงานของประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ “เขื่อนปากแบง” ตั้งอยู่ในเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น ประมาณ 96 กิโลเมตร โดยรัฐบาล สปป.ลาวให้เอกชนที่มีกลุ่มทุนจีนถือหุ้นใหญ่เข้าไปลงทุนก่อสร้างร่วมกับเอกชนไทย คาดว่าเป็นเขื่อนที่กว้าง 15 เมตร ยาว 23 เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 317 เมตร ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 912 เมกะวัตต์ มีช่องขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร และสูง 4 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้ รวมทั้งมีแผนจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ถึง 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด