โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานพันธมิตร 20 หน่วยงาน จัดงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก" เพื่อร่วมขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปสู่ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ
ภายในงาน ระหว่างวันเสาร์ที่ 25 และวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2566 ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลความรู้จากโครงการ CASE และกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้ข้อมูล ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดไปสู่การรับมือปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน ผ่านนิทรรศการ การออกบูธจากองค์กรภาคีเครือข่าย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนมุมมอง ตอบคำถามจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและตัวแทนพรรคการเมือง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานว่า “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอาจทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นทะลุ 1.5°C ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุและภัยธรรมชาติอื่น ๆ บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้ขานรับกับการปรับเปลี่ยนเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคพลังงานซึ่งเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ ดังนั้น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงการประหยัดพลังงานจึงเป็นทางลัดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด โดยกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมแคมเปญวัน Earth Hour ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม ด้วยการเชิญชวนให้ประชาชนปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ร่วมกับเมืองต่างๆ กว่า 7,000 เมืองทั่วโลก"
"กิจกรรมนี้สะท้อนความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชน โดยในปีนี้เป็นโอกาสพิเศษที่กิจกรรมดังกล่าว ได้ต่อยอดและขยายไปสู่การขับเคลื่อนความร่วมมือในการผลักดันเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลก เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”
วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงพลังของความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานที่เป็นมิตรต่อโลกแล้ว ยังมุ่งหวังให้สาธารณะและผู้กำหนดนโยบายมองเห็นทิศทางและความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้
ดังที่ตัวแทนนักวิจัยโครงการ CASE ดร.สิริภา จุลกาญจน์ ได้เผยผลการศึกษา “เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคพลังงาน 2050” สำหรับประเทศไทย ในเวทีสนทนา “Energy Conversation : เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างเข้มข้นมากขึ้นและตอบข้อกังวลต่อต้นทุนในการใช้พลังงานหมุนเวียนว่า “โครงการ CASE ได้ทำการวิจัยด้านพลังงานและนำเสนอเส้นทางที่ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายใน ค.ศ. 2050 โดยประเมินจากสมมติฐานที่ระบบไฟฟ้าดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีต้นทุนต่ำ (least cost optimization) และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยการจะไปสู่เป้าหมายนี้ได้ต้องอาศัยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ราคาในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่า และต้องมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น แบตเตอรี่ ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) และการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์ นอกจากนั้น ภาคขนส่งยังต้องปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ระบบราง และรถส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้หากภาครัฐให้การสนับสนุนด้านพลังงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากการสนทนาเผยแพร่ผลการศึกษาจากทางวิชาการ ภายในงานยังมีวงเสวนาที่ชูประเด็น “เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไรให้เป็นธรรม” ร่วมจัดโดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) และ The Cloud
เวทีทอล์ก “The Ener จิ้น’s Talk : เป้าหมาย Net Zero…สู่อนาคตพลังงานสะอาด” เพื่อเปิดมุมมองเรื่องการใช้พลังงานในเมือง และเปิดไอเดียภูมิทัศน์ของเทคโนโลยีพลังงานปัจจุบัน โดย 2 วิทยากร คือ พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอธิป ตันติวรวงศ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Innopower และหัวข้อ “เปลี่ยนความเข้าใจผิดเรื่องการประหยัดพลังงาน” โดย รศ.ดร. แนบบุญ หุนเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เสวนา “The Ener จิ้น’s Talk : การเปลี่ยนผ่านพลังงานบนความต้องการของประชาชน” ที่เปิดประเด็นประโยชน์และอุปสรรคจากการเดินหน้านโยบายด้านพลังงานสะอาด โดยตัวแทนภาคประชาชน นักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคม ก่อนจะปิดท้ายด้วยเวทีเสวนาพรรคการเมือง “ชวนพรรคร่วมคิด: ให้พลังงานเป็นมิตรต่อโลก ไปกับความต้องการของประชาชน” เพื่อเปิดประเด็นและตอบคำถามจากประชาชนเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่ก้าวทันกระแสโลกไปพร้อมกับความมั่นคงและเข้าถึงได้ด้านพลังงานของประเทศไทย
ภายในงานยังมีการโชว์การแสดงหุ่นเงาเล่าเรื่อง เรื่องการเดินทางสู่อนาคตด้านพลังงาน โดยกลุ่ม Mommy Puppet และบูธของเครือข่ายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น Muvmi, Ari around, Flo ไอศกรีมไข่ผำ, สินค้ารักษ์โลก บูธ “แยกขยะ ลดโลกร้อน Zero waste โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร” และบูธนิทรรศการ “ร่วมจินตนาการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานในรุ่นเรา” รวมถึงนิทรรศการจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านพลังงาน อาทิ JGSEE และการไฟฟ้านครหลวง และกิจกรรมที่สามารถร่วมสนุกลุ้นรับของที่ระลึกจากโครงการ CASE และเครือข่ายตลอดงาน
ทั้งนี้ โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยการสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100), The Cloud, SDG Move, The Joint Graduate School of Energy and Environment (JGSEE), การไฟฟ้านครหลวง, บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด, Muvmi, Ari around, Flo Wolffia, Precious Plastic Bangkok, Magfish, Green Wave, Thai PBS และ ช่อง 7 HD