เมื่อวานนี้ (วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566) เวลา 20.30 - 21.30 น. กรุงเทพมหานคร จับมือภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมพลัง “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” (60+ Earth Hour)
จากการคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พบว่า กิจกรรม #ปิดไฟ 1ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ในครั้งนี้สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 36 เมกะวัตต์ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน หรือเทียบกับเที่ยวบินกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ จำนวน 43 เที่ยวบิน หรือการใช้รถยนต์ดีเซลเท่ากับ 31,200 กิโลเมตร หรือเทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 23,400 ครัวเรือน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก" ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และภาคีเครือข่าย ภายใต้ การดำเนินงานโครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE)
“ขอย้ำว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวครับ ปีที่แล้วในพื้นที่กทม.มีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า รวมทั้งกทม.ยังเป็น 1ใน10 เมืองที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ดังนั้นเราจึงต้องมาร่วมกันทำให้สถานการณ์ของกทม.ดีขึ้น ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนที่ลดลง ลดการใช้พลังงาน เปลี่ยนจากใส่สูท ลดอุณหภูมิเมื่อเปิดแอร์ ลดการใช้รถที่ใช้น้ำมัน และใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น สำหรับกิจกรรมปิดไฟปีที่แล้วถือว่าได้ผลดี สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกะวัตต์ และลดปริมาณคาร์บอนได้ 20 ตัน ในขณะที่แต่ละปีเราผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 40 ล้านตัน จึงต้องพยายามให้มากขึ้น
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากความตระหนักรู้ ทุกคนต้องรู้จัก Net zero รู้จัก Carbon เมื่อเรารู้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ สุดท้ายทั้งหมดจะไม่ได้อยู่ในจินตนาการ และอาจจะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ มีช่องทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ ขอให้ทุกคนตระหนักรู้ และร่วมกันให้จริงจัง” ผู้ว่า กทม.กล่าว
สำหรับงาน "Energy เอเนอจิ้น : จินตนาการเพื่อพลังงานที่เป็นมิตรต่อชีวิตและโลก" กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มีนาคม 2566 เวลา 16.30 - 21.30 น. ณ บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เพื่อเปิดมุมมองเรื่องการใช้พลังงานในเมือง พร้อมทั้งรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการลดการใช้พลังงาน และมีส่วนร่วมการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในงาน คือ กิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” (60+ Earth Hour 2023) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย รณรงค์และเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชน ลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง พร้อมกับเมืองต่าง ๆ กว่า 7,000 เมือง 190 ประเทศทั่วโลก ในวันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 20.30 - 21.30 น. ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการ เจ้าของอาคาร สถานที่ ให้ความร่วมมือปิดไฟในช่วงดังกล่าว รวมถึง 5 Landmark หลัก ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เสาชิงช้า สะพานพระราม 8 และวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ได้ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ด้วย
ผู้ว่า กทม.ย้ำอีกว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก จึงได้รณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมที่ดำเนินการคือกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน รณรงค์ในกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2551
ผลจากการจัดกิจกรรม “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) เมื่อปี 2565 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 78 เมกกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 20 ตัน และคิดเป็นมูลค่า 176,172 บาท และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 - 2565 สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 22,476 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการปัญหาโลกร้อนได้ 12,255 ตัน คิดเป็นมูลค่า 81 ล้านบาท