สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของโลกร้อน งานวิจัยเรื่อง “ การประยุกต์ใช้มาตรฐานสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) เพื่อลดการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกของสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานของสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ” จึงเป็นกุญแจสำคัญต่อการเข้ามาช่วยเพิ่มออกซิเจนให้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดอุณหภูมิโลกใบนี้ให้เย็นลง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้เข้าไปมีส่วนส่งเสริมทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถนำกลับใช้ใหม่ได้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งต่อการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้โลกร้อนขึ้น
ดังนั้นโครงการวิจัยการประยุกต์ใช้มาตรฐานสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) เพื่อลดการใช้พลังงานและก๊าซเรือนกระจกของสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานของสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ” ของ รศ.ดร.สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล จึงนับว่าเป็นการตอบโจทย์ที่ดีมากต่อการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในสำนักงาน
รศ.ดร.สยาม อรุณศรีมรกต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ผลงานวิจัย ฯ ดังกล่าว เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันกับคณะทำงานประกอบด้วย อาจารย์ทองใบ เวชพันธ์, อาจารย์งามนิจ อนุศาสนีย์, อาจารย์ฐิติธร บุญเรือง, อาจารย์เพ็ญพรรณ พงษ์สายันต์ โดยมีวัตถุประสงค์ศึกษาการนำหลักการสำนักงานสีเขียวมาประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในสำนักงานและเปรียบเทียบปริมาณการใช้ทรัพยากร พลังงาน เชื้อเพลิง ปริมาณของเสียและปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียว ปี 2563
การศึกษาใช้ข้อมูลทั้งหมด 33 สำนักงาน แบ่งเป็นบริษัทเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างละ 6 สำนักงานหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันอุดมศึกษาอย่างละ 7 สำนักงาน ปรากฎว่าเมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวประจำปี 2563 ทุกสำนักงานมีการ กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยผู้บริหารสูงสุด รวมทั้งกำหนดแผนการดำเนินงานโครงการสำนักงานสีเขียวประจำปี และกำหนดค่าเป้าหมายในลดปริมาณการใช้ทรัพยากร พลังงาน เชื้อเพลิง ปริมาณของเสียและปริมาณก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังมีการจัดฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของโครงการสำนักงานสีเขียว
สำหรับที่มาของงานวิจัย ฯ มาจากสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยเกิดจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันฟอสซิล ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) เพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศก่อให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนรวมทั้งมาจากการที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ เมื่อก๊าซเหล่านี้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นจะเกิดการสะสมของก๊าซเหล่านี้ในชั้นบรรยากาศส่งผลให้ก๊าซเหล่านี้เก็บกักรังสีอินฟราเรดเอาไว้ซึ่งควรจะหลุดลอดไปสู่ห้วงอวกาศส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น
โดยมาตรการที่ได้รับความสนใจ และมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลก คือ เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ที่เน้นให้มีการปรับเปลี่ยนการผลิต และการบริโภคให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ในทุกวันนี้ภาคส่วนต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ เร่งรณรงค์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดการใช้และประหยัดพลังงานผ่านทางมาตรการต่าง ๆ ภาคส่วนหนึ่งที่มีการใช้พลังงาน คือ อาคารสำนักงานขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เนื่องจากมีการใช้พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งก่อให้เกิดของเสีย น้ำเสีย ต่าง ๆ ออกสู่สิ่งแวดล้อม
จึงเป็นที่มาของ สำนักงานสีเขียว (Green Office) ซึ่งหมายถึงสำนักงานและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสำนักงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดโดยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างรู้คุณค่า รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญจะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณต่ำ
ดังนั้นการศึกษาประสิทธิภาพการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้มาตรฐานสำนักงานสีเขียวในประเทศไทย จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆสามารถกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม แผนการดำเนินงานประจำปี และค่าเป้าหมายในการใช้ทรัพยากร พลังงาน เชื้อเพลิง ปริมาณของเสีย เพื่อนำมาคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายในสำนักงาน จะช่วยให้มีแนวทางในการดำเนินโครงการสำนักงานสีเขียวและจัดทำกลยุทธ์ในการลดปริมาณปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป