xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.รุกธุรกิจใหม่สอดรับนโยบายประเทศ เร่งลงทุนพลังงานทดแทน-อีวี-Life Science

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.เดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่สอดรับนโยบายภาครัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งขยายลงทุนพลังงานหมุนเวียนครบ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 73 พร้อมแนะรัฐส่งเสริมอีวีคู่กับอุตฯ ยานยนต์สันดาปภายในให้เป็นโรงงานผลิตสุดท้ายที่จะปิดตัวของโลก

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “New Era Economy อนาคตใหม่ประเทศไทย” ว่า ความท้าทายเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานระยะสั้น แต่ในระยะยาวทำให้คนตระหนักเรื่องซัปพลายเชน ก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ขณะเดียวกันไทยมีเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ความเท่าเทียม สังคมสูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะมีการนำประเด็นนี้มาเป็นข้อบังคับการกีดกันทางการค้ามากขึ้น รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เกิดปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐฯ ทำให้สภาพคล่องหายไป ส่งผลต่อธุรกิจ Startup ที่เคยเป็นยุคทองใน 3-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนต้องคัดกรองการลงทุนใน Startup ที่เข้มข้นขึ้น นับเป็นความท้าทายของ Startup

ขณะที่ประเทศไทย ได้กำหนดทิศทางมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรม S-Curve ทำอย่างไรเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และไม่ทำไม่ได้ เนื่องจากไทยอยู่บนฐานอุตสาหกรรมเดิมมานานหลายปี ฐานอุตสาหกรรมเดิมของไทยควรจะต้องปรับและยกระดับ ดังนั้นปตท.จึงลงทุนตามวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ภายใต้ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ Future Energy ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. พลังงานหมุนเวียน 2. ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) 3. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 4. ไฮโดรเจน

ส่วน Beyond ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม คือ 1. Life Science 2. Mobility & Lifestyles 3. High Value Business 4. Logistics & Infrastructure และ 5. AI, Robotics & Digitization ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นอนาคตของประเทศ


นายอรรถพลกล่าวถึงการลงทุน Future Energy ว่า ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 4,000 เมกะวัตต์ แต่เมื่อไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2065 ทำให้ไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ภายในปี ค.ศ. 2050 จากปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ฉะนั้น พลังงานหมุนเวียนจะต้องเพิ่มขึ้นไปถึง 20,000-30,000 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2050 ถือเป็นความท้าทายและก็เป็นโอกาสสำหรับการลงทุน ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นการลงทุนทั้งในไทย และต่างประเทศ

ธุรกิจ EV Value Chain ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้รถยนต์อยู่ 43 ล้านคัน เป็นรถไฟฟ้า (EV) ประมาณ 30,000 คัน เติบโตขึ้นเกือบ 200% ในช่วงปี 2464-65 ซึ่งไทยเป็นประเทศมีศักยภาพและผลิตรถ EV อันดับที่ 9 ของโลก เพราะไทยมีฐานอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่แล้ว ดังนั้น ประเทศไทยควรขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรม EV ตีคู่ขนานไปกับอุตฯ ยานยนต์สันดาปภายในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นโรงงานผลิตสุดท้ายของโลกที่จะปิดตัว (Last Man Standing) ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐบาลต้องไปคิดนโยบายว่าจะทำอย่างไร


ทั้งนี้ ธุรกิจ EV มีห่วงโซ่มูลค่าเยอะ ตั้งแต่วัสดุที่เป็นรถ ไม่จำเป็นแค่เหล็ก ใช้ปิโตรเคมีมาเป็นส่วนประกอบได้เช่นกัน รวมถึงแบตเตอรี่ ซึ่งไทยอาจจะเหนื่อยเรื่องการทำเซลล์แบตเตอรี่ เพราะไม่มีวัตถุดิบ และเมื่อทำเป็นเซลล์แล้ว ก็ต้องทำเป็นแพก เพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และ ปตท.ก็อยู่ระหว่างหารือกับพาร์ตเนอร์ในการทำโรงงานทำแบตเตอรี่แพกกิ้ง ส่วน EV Charging Station จะต้องขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดย OR มีเป้าหมายจะขยายการติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้ และการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนก็เป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องศึกษาอย่างใกล้ชิด ยอมรับว่าต้นทุนการผลิตยังไม่คุ้มค่าการลงทุน

สำหรับการลงทุนด้าน Beyond ในเรื่องของธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ทาง ปตท.จะมุ่งเน้นการลงทุนไปใน 3 เรื่อง ได้แก่ ธุรกิจยา (Pharmaceutical) โดย ปตท.ก็มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น จุฬาฯ, สวทช. และองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น, ธุรกิจโภชนาการ (Nutrition) ทาง ปตท.มีการก่อสร้างโรงงาน Plant-based ในไทยคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) ได้ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) ต่อยอดผลิตเป็นวัสดุสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ด้านธุรกิจ Mobility & Lifestyles มีการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้เชื่อมโยงกับ physical platform โดยมีบริการที่หลากหลาย ซึ่ง OR เตรียมเปิดตัวในเดือน มิ.ย.นี้ โดยจะมีสินค้าและโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการผ่านแอปฯ ดังกล่าว ด้านธุรกิจ High Value Business ก็จะเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายการลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีให้มากขึ้น และธุรกิจ Logistics & Infrastructure ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบการส่งออกในปริมาณมากทางทะเลไปจีน ดังนั้นเห็นว่าไทยควรพัฒนาาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือใหญ่เชื่อมระบบราง เป็นการเชื่อมทะเลอันดามันเข้าสู่จีนได้เลย โดยเฉพาะจีนตอนกลาง ซึ่งจะประหยัดค่าขนส่งได้มาก

ธุรกิจ AI, Robotics & Digitization ประเทศไทย ถือว่ามีพื้นฐานการใช้ดิจิทัลที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ก็จะเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ

นายอรรถพลกล่าวถึงแนวโน้มการใช้พลังงานของโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เพราะปัญหาโลกร้อนทำให้ทั่วโลกตระหนักเรื่องการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีการกำหนดเป้าหมาย Net Zero ของแต่ละประเทศ ดังนั้น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้ง 3 ประเภท คือ ถ่านหิน คาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้สูงสุด (พีก) ในปี 2568 ส่วนน้ำมัน ก็คาดว่าจะพีกในช่วงปี 2577-2578 และก๊าซฯ จะยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่พลังงานหมุนเวียนจะเติบโตมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น