xs
xsm
sm
md
lg

EGCO ลุย M&A โรงไฟฟ้าปีนี้ ตั้งเป้าผลิตเพิ่มอีก 1 พัน MW

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผลิตไฟฟ้า” เดินหน้าลุย M&A โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม วางเป้าปีนี้ขยับขึ้นอีก 1 พันเมกะวัตต์ ใช้งบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท แย้มปีนี้บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในโครงการเอเพ็กซ์ที่สหรัฐฯ จ่ายไฟเชิงพาณิชย์เพิ่ม และปิดดีลซื้อหุ้นโรงไฟฟ้า RISEC ภายในมีนาคมนี้ โครงการหยุนหลินไต้หวันที่ทยอยติดตั้งกังหันลมเพิ่มเติม 22 ต้นหรือราว 176 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทจะทยอยลงทุนการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงและพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ รวมทั้งได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT จำนวน 5.2 พันเมกะวัตต์ (MW) ของภาครัฐ ซึ่งผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว 16 โครงการคิดเป็นกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์คาดว่าจะประกาศผู้ได้รับคัดเลือกในต้นเดือนเมษายนนี้ รวมทั้งจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการพลังงานหมุนเวียนในรอบถัดไปด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 2565 มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 5,972 เมกะวัตต์ (รวมโครงการ RISEC) ใช้งบลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าในการซื้อหุ้นในโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีโอซีพี โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC) และโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีพี ทู โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC) เพื่อถือหุ้น 49% ในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ RISEC กำลังผลิต 609 เมกะวัตต์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะปิดดีลได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ 


โรงไฟฟ้า RISEC จำหน่ายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (“ISO-NE”) และเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในระบบของ ISO-NE โดยทำสัญญาขายกำลังผลิตพร้อมจ่ายทั้งหมดและให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า Blackstart กับ ISO-NE ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดพร้อมทั้งให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าอื่นๆ กับบริษัท เชลล์ เอ็นเนอร์ยี่ นอร์ธ อเมริกา ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบรับจ้างแปลงพลังงาน (Energy Tolling Agreement) ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ และมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System) รวมถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า

นายเทพรัตน์กล่าวว่า โครงการพลังงานหมุนเวียนของเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ในสหรัฐฯ ที่ EGCO ถือหุ้น 17.46% มีกำลังผลิตรวม 50,000 เมกะวัตต์ จะเดินหน้าทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะทยอย COD ราว 7 โครงการ อยู่ที่ 1,182 เมกะวัตต์ และปี 2567 จะทยอย COD อีก 2,578 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่ง "หยุนหลิน" อยู่ระหว่างการก่อสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งไต้หวัน กำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยติดตั้งครบ 80 ต้น ต้นละ 8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ช้ากว่ากำหนด 2 ปี คาดว่าปีนี้จะติดตั้งกังหันลมเพิ่มขึ้น 22 ต้นจากปีที่แล้วติดตั้งและจ่ายไฟไปแล้ว 16 ต้น และปี 2567 จะติดตั้งกังหันลมเพิ่มอีก 44 ต้น ส่วนโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (TPN) คาดว่าจะเดินเครื่องได้เต็มรูปแบบปีนี้

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน "เคซอน" ในฟิลิปปินส์ สัญญาซื้อขายไฟใกล้จะหมดอายุลงในปี 2568 บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมและเจรจากับรัฐบาลฟิลิปปินส์ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2-3 แนวทาง ซึ่งการต่ออายุก็เป็นหนึ่งในทางเลือกด้วย

"ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาตินั้นมีผลกระทบต่อบริษัทน้อยมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รองรับ 79% ส่วนอีก 18% เป็นการขายไฟฟ้าในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (POWER POOL) ทำให้ส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในค่าไฟได้ ขณะที่ 3% เป็นการขายไฟฟ้าตรงให้ลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) ดังนั้นจึงมีผลกระทบค่อนข้างน้อย"

ขณะนี้บริษัทยังให้ความสำคัญด้านพลังงานทางเลือกอื่น เช่น ไฮโดรเจน รวมทั้งการขนส่งไฮโดรเจน และแอมโมเนีย ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงกว่า ซึ่งเชื่อว่าพลังงานทางเลือกจะมีบทบาทเข้ามาทดแทนพลังงานที่ได้จากฟอสซิลได้

สำหรับผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 55% และมีกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส เกาหลีใต้ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว “ซานบัวนาเวนทูรา” ฟิลิปปินส์ “ขนอม” จ.นครศรีธรรมราช และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,683 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุมาจากการรับรู้การด้อยค่าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยและโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ การรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการหยุนหลินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไต้หวันมีมาตรการเข้มงวดและมีการประกาศปิดประเทศถึง 2 ครั้งในช่วงปี 2563-2565 ทำให้กระทบต่อการเดินทางและการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือในการก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ก่อสร้างบริเวณช่องแคบไต้หวัน มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุม โดยในแต่ละปีมีระยะเวลาทำงานหลักจำกัดเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่งผลให้กำหนดแล้วเสร็จของโครงการจำเป็นต้องขยายออกไปจนถึงปี 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น