“ผลิตไฟฟ้า” ลั่นปีนี้โกยรายได้โตขึ้นกว่าปีก่อนที่ 6.5 หมื่นล้านบาท เหตุรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 โครงการเอเพ็กซ์ในสหรัฐฯ ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่จ่ายไฟเข้าระบบและโครงการหยุนหลินไต้หวันที่ทยอยติดตั้งกังหันลมเพิ่มเติม อัดงบลงทุนปีนี้ 3 หมื่นล้านบาท ต้้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 1 พันเมกะวัตต์ หลังจากปีก่อนพลาดเป้ามีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นแค่ 500 เมกะวัตต์
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 65,344 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำเทิน 1 ที่สปป.ลาว โครงการพลังงานหมุนเวียนของเอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ในสหรัฐฯ ที่ EGCO ถือหุ้น 17.46% ซึ่งคาดว่าปีนี้ APEX จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) 7 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวม 1,182 เมกะวัตต์ โครงการหยุนหลิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งไต้หวันที่จะทยอยติดตั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ช้ากว่ากำหนด 2 ปี และโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทีพีเอ็น”
ในปีนี้บริษัทได้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ (MW) มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หลังจากปี 2565 บริษัทพลาดเป้าในการขยายกำลังผลิตเพิ่มตามที่ตั้งไว้ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทำได้จริงเพียง 500 เมกะวัตต์
บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลงทุนถือหุ้นเพิ่มในโครงการ APEX รวมทั้งแสวงหาโอกาสเข้าไปลงทุนในบริษัทผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนเอกชนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับโครงการ APEX ที่ดำเนินธุรกิจด้วยการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่เริ่มโครงการ ก่อสร้างและผลิตเชิงพาณิชย์ แล้วขายโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาเหล่านั้นให้แก่นักลงทุนอื่น ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ EGCO ให้ความสนใจ
นอกจากบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เน้นใน 8 ประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้วซึ่ง EGCO ไม่มีแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงอีกแล้ว ขณะเดียวกันก็มีแผนจะขายธุรกิจถ่านหินในอินโดนีเซียด้วย เพื่อให้บริษัทบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศไทย บริษัทได้ยื่นข้อเสนอในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT จำนวน 5.2 พันเมกะวัตต์ของภาครัฐโดยผ่านการพิจารณาเบื้องต้นแล้ว 16 โครงการ ทั้งประเภทโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินและแบบร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ คาดว่ากกพ.จะประกาศรายชื่อผู้ชนะโครงการภายในเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยายกำลังผลิต 74 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2567
นายเทพรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังให้ความสำคัญด้านพลังงานทางเลือกอื่น เช่น ไฮโดรเจน รวมทั้งการขนส่งไฮโดรเจน และแอมโมเนีย ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดคาร์บอน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตสูงกว่า ซึ่งเชื่อว่าพลังงานทางเลือกจะมีบทบาทเข้ามาทดแทนพลังงานที่ได้จากฟอสซิลได้
สำหรับผลประกอบการปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 65,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 55% และมีกำไรจากการดำเนินงาน 11,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส เกาหลีใต้ “ไซยะบุรี” สปป.ลาว “ซานบัวนาเวนทูรา” ฟิลิปปินส์ “ขนอม” จ.นครศรีธรรมราช และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 2,683 ล้านบาท ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 สาเหตุมาจากการรับรู้การด้อยค่าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยและโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ การรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ และการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากโครงการหยุนหลินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไต้หวันมีมาตรการเข้มงวดและมีการประกาศปิดประเทศถึง 2 ครั้งในช่วงปี 2563-2565 ทำให้กระทบต่อการเดินทางและการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์เครื่องมือในการก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ก่อสร้างบริเวณช่องแคบไต้หวัน มีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุม โดยในแต่ละปีมีระยะเวลาทำงานหลักจำกัดเพียง 6 เดือนเท่านั้น ส่งผลให้กำหนดแล้วเสร็จของโครงการจำเป็นต้องขยายออกไปจนถึงปี 2567 โดยยืนยันว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องสูงถึง 3.7 หมื่นล้านบาท