xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 5 ผลกระทบเชิงลบ กรณี “เอไอเอส” กินรวบคลื่น 700 MHz จาก “NT”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทพิสูจน์ กสทช. ชุดใหม่ เลี่ยงการกำกับดูแลหรือไม่? หลัง AIS กลับมาซื้อคลื่น 700 MHz ในราคาถูก ในขณะที่ผู้บริโภคเตรียมร้อง โอนคลื่นให้เอไอเอสเท่ากับตัดอนาคต NT ออกจากการแข่งขัน 5G โดยปริยาย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความเคลื่อนไหวเพื่อปรับตัวรับมือกับแข่งขันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพตลาดแข่งขันทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไป จากผลกระทบของการเปลี่ยนยุคของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และนอกจากโอเปอเรเตอร์ต้องปรับตัวแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลโดยเฉพาะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทำความเข้าใจ และปรับตัวให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแข็งแกร่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทีโอที (TOT) กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) ถือเป็นการรวมรัฐวิสาหกิจไทย 2 แห่ง ที่เป็นแหล่งรวมทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานก็มีการควบรวม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดย TOT) ควบรวมกับ CAT เกิดเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ถือเป็นการประกาศชัดเจนว่า NT คือ โอเปอเรเตอร์ที่แข็งแกร่งรายหนึ่งและมีความพร้อมในการแข่งขันและชิงส่วนแบ่งตลาด ซึ่งผู้บริหาร NT ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นมาโดยตลอด 

ดังนั้น การเผยแพร่ว่า คลื่น 700 MHz ที่ NT ประมูลชนะมาได้นั้น กำลังจะถูกโอนคลื่นไปเป็นของเอไอเอส ทำให้เกิดเป็นประเด็นคำถามร้อนๆ ตกไปอยู่กับ กสทช.ว่า มีเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติอย่างไร โดยตามกฎหมาย ประกาศ กสทช. ปี 2564 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ หมวด 1 ข้อ 7 ระบุไว้ว่า การโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จะต้องไม่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ใช้บริการ เกินสมควร หรือเป็นการส่งผลร้ายต่อคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการของผู้โอนใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้ กสทช. อาจกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ตามความเหมาะสม ดังนั้น มาตรการที่กสทช.จะออกมาอนุมัติหรือไม่ และ มีเงื่อนไขอย่างไร จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

๐ คลื่น 700 MHz สำคัญต่อ NT อย่างไร

วงการโทรคมนาคม วิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่าหากพิจารณาเรื่องอำนาจเหนือตลาด โดยใช้การครอบครองคลื่น จะเห็นว่า AIS มีคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านสูง กลาง ต่ำ โดยมีปริมาณความจุที่สูงกว่าทุกราย โดย จะเห็นได้ว่า AIS เป็นผู้ให้บริการในไทยเพียงรายเดียวที่มีคลื่น Super Block เต็มผืนทั้ง สูง [400×3=1200MHz] กลาง [100×1=100MHz] และต่ำ [15×2=30MHz] รวมทั้งหมด 1330 MHz โดยมีคลื่น 700 MHz สำหรับให้บริการ 5G อยู่แล้ว จำนวน 30 MHz มากกว่าคู่แข่งทุกราย และหากดูตารางการครอบครองคลื่นรวมจะพบว่า เอไอเอส ครอบครองคลื่นรวมสูงถึง 1420 MHz ในขณะที่ทรูถือครองเป็นอันดับสองที่ 990 MHz ดีแทคถือคลื่น 270 Mhz แม้ว่ารวมคลื่นทรูและดีแทค ก็ยังไม่เท่ากับคลื่นในมือของเอไอเอสในปัจจุบัน ในขณะที่ NT มีคลื่น 530 MHz หากจะให้บริการ 5G ต้องมีคลื่นความถี่สูงและความถี่ต่ำ โดยคลื่นความถี่ต่ำย่าน 700 ค่าย NT มีเพียง 20 MHz เพื่อให้บริการ 5G หาก NT โอนคลื่น 700 MHz ให้เอไอเอส จะทำให้ NT มีคลื่นไม่เพียงพอ และเสียความสามารถในการแข่งขัน และเอไอเอสที่ครอบครองคลื่นมากที่สุดอยู่แล้วจะมีคลื่น 700 สูงถึง 50 MHz ในขณะที่ทรูมีเพียง 20 MHz และดีแทคมีเพียง 20 MHz ทำให้มีอำนาจเหนือตลาดแบบเต็มรูปแบบในด้านการครอบครองคลื่น

อย่างไรก็ดี ตามประกาศ กสทช. ปี 2564 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ หมวดที่ 2 ข้อ 1.6 ระบุว่า การโอนคลื่น กสทช. ต้องได้รับ รายงานวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาด การแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคม คุณภาพการให้บริการ และผลกระทบแก่ผู้ใช้บริการ ดังนั้นการเปิดเผยผลการพิจารณาผลกระทบของ กสทช. ต้องดำเนินการให้โปร่งใส และควรมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาความเหมาะสม รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค


๐ จับตา 5 ผลกระทบกรณี กินรวบคลื่น 700 MHz

คลื่น 700 MHz สำคัญต่อ NT เป็นอย่างมาก เพราะมีรัศมีทำการทะลุทะลวงได้ดีที่สุด นำไปใช้กับตึกสูง หรือคอนโด สามารถทะลุผนังกำแพงของตัวอาคาร เข้าไปให้บริการได้เป็นอย่างดี ติดตั้งไม่กี่สถานีก็สามารถครอบคลุมบริการในพื้นที่ได้กว้างกว่าทุกคลื่น เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท แต่วิสัยทัศน์นี้คงไปไม่ถึงฝัน แต่เหมือนเป็นการลดจำนวนคู่แข่งในอุตสาหกรรม 5G หากเอไอเอส มาแย่งคลื่น 700 MHz ไปจาก NT ซึ่งสหภาพแรงงาน TOT ก็พยายามขอให้มีการตรวจสอบ ซึ่งล่าสุด มีกระแสข่าวผ่านสื่อในวงการหุ้น ระบุว่า ADVANC หรือเอไอเอส ได้ดำเนินการดีลคลื่น 700 MHz ของ NT โอนคลื่นเข้ามาให้กับเอไอเอส ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้ว

โดยผู้บริหารแจ้งว่าบอร์ดของ NT อนุมัติดีลพันธมิตรนี้แล้วแต่ยังต้องได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายจาก ครม. หากสำเร็จจะทำให้มีคลื่นย่านความถี่ 700 MHz เพิ่มเป็นจำนวน 50 MHz สูงที่สุดในอุตสาหกรรม โดยผลกระทบจากการโอนคลื่นของ NT ให้กับ AIS จะส่งผลกระทบทันทีคือ 1) ทำให้การแข่งขันลดน้อยลง โดย NT จะไม่มีคลื่นเพียงพอในการให้บริการ 5G 2) ผลกระทบจากการเสียประโยชน์ภาษีของประชาชน ซึ่งประมูลมาในราคาสูง แทนที่จะนำคลื่นมาให้บริการ แต่นำมาโอนต่อให้กับเอไอเอส ในราคาลดลงตามจำนวนปีที่เหลืออยู่ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่เคยกล่าวไว้ในช่วงประมูลถึงความจริงจังในการให้บริการ 5G และ 3) การมีอำนาจเหนือตลาดในปัจจุบันของเอไอเอส 4) เปิดช่องให้การประมูลคลื่นในอนาคต ส่งบริษัทอื่นมาประมูลหากชนะแล้วค่อยโอนคลื่นในภายหลังได้ แต่หากประมูลคลื่นในราคาสูงก็อาจเกิดการทิ้งประมูลเป็นต้น และข้อสุดท้าย 5) ทำให้เกิดคำถามต่อ กสทช. ถึงมาตรฐานในการกำกับดูแลโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะการโอนคลื่นดังกล่าว มิได้มีการกำกับหรือออกมาตรการ ทั้งที่กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้สรุปได้ว่าผู้บริโภคเสียประโยชน์ หากเอไอเอส มีคลื่น 5G มากที่สุดเพียงรายเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคากับผู้แข่งขันรายที่ 2, 3 ในตลาด เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านคลื่นความถี่

ผลกระทบข้อที่ 1 : การแข่งขันจะลดน้อยลง หาก NT โอนคลื่น 700 MHz ให้กับเอไอเอส โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีผู้เล่นน้อยรายอยู่แล้ว หาก NT โอนคลื่นให้เอไอเอส เท่ากับ ตัดอนาคต NT ออกจากอุตสาหกรรม 5G ทันที

นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า วันที่ 6 พ.ค. 65 ได้ยื่นหนังสือถึง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อขอให้ตรวจสอบสภาพปัญหาการใช้ประโยชน์ของคลื่นความถี่ย่าน 700 MHZ ของ NT ที่ยังไม่มีแผนธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการมือถือได้”

ดังนั้น กสทช. ต้องเข้ามากำกับดูแล และ เป็นโจทย์ที่สำคัญคือ กสทช. ต้องทำให้ผู้ประกอบการทุกรายแข่งขันได้ มีความแข็งแกร่ง การที่นำคลื่นที่ประมูลมาได้โอนให้ผู้เล่นที่เป็นผู้นำตลาด โดยไม่สร้างความโปร่งใส ถือเป็นความน่าแปลกใจ และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมหรือไม่? กสทช ต้องเปิดเผยรายละเอียด ตามประกาศ กสทช ปี 2564 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ หมวดที่ 2 ข้อ 1.6 โดยรายงานวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาด การแข่งขัน ในภาคอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรโทรคมนาคม คุณภาพการให้บริการ และผลกระทบแก่ผู้ใช้บริการ การประกาศโร้ดแม๊ปในการพิจารณาให้ชัดเจน และ เปิดโอกาสให้สภาคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาผลกระทบให้ชัดเจน ให้สังคมหายแคลงใจ

ผลกระทบข้อที่ 2 : ผลกระทบจากการเสียประโยชน์ภาษีของประชาชน ซึ่งประมูลมาในราคาสูง แทนที่จะนำคลื่นมาให้บริการ แต่นำมาโอนต่อให้กับเอไอเอส ในราคาลดลงตามจำนวนปีที่เหลืออยู่ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ที่เคยกล่าวไว้ในช่วงประมูลถึงความจริงจังในการให้บริการ 5G

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 11 เม.ย. 65 ว่า บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz ช่วงความถี่วิทยุย่าน 738 – 748 MHz คู่กับ 793 – 803 MHz เมื่อปี 2563 ในราคาประมูลสูงสุด 36,707.42 ล้านบาท โดย NT ได้นำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 2 จำนวน 3,670.74 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มาชำระให้แก่สำนักงาน กสทช. แล้ว ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป แต่คำถามที่สังคม ตั้งคำถามกับ กสทช คือ โมเดลธุรกิจหลังจากที่ NT โอนคลื่น 700 MHz คืออะไร จะทำให้ NT มีความเสียเปรียบ และต้องออกจากอุตสาหกรรมผู้ให้บริการ 5G หรือไม่? อีกทั้งเป็นการขัดต่อแนวทางที่ NT ให้ไว้ตอนประมูลคลื่นหรือไม่?

นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า การชำระค่าคลื่น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่าย 5G บนคลื่น 700 MHz เพื่อรองรับการขับเคลื่อน/ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในทุกภาคส่วน การดำเนินงานภายหลังจากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นั้น NT ได้เดินหน้าขยายตลาดไร้สาย 5G เพื่อให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถต่อยอดการพัฒนา 5G ของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถรองรับยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ในด้านต่าง ๆ โดยจะดำเนินการทั้งในด้านการจัดสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศสำหรับลูกค้าปัจจุบัน การเพิ่มลูกค้ารายย่อย การบริการขายส่ง MVNO ตลอดจนการให้บริการด้าน Digital Service ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดคำถามว่า หากโอนคลื่น 700 MHz ให้กับเอไอเอสแล้ว จะสามารถทำให้แผนดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของกสทช. ที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดความยุติธรรมกับทาง NT และ ประเทศชาติไม่เสียประโยชน์

ผลกระทบข้อที่ 3 : การมีอำนาจเหนือตลาดในปัจจุบันของเอไอเอส

หากเอไอเอส ได้คลื่น 700 MHz ของ NT จะมีคลื่นให้บริการ 5G มากกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้การพิจารณาอำนาจเหนือตลาดของเอไอเอส จากการมีคลื่นมากที่สุดนั้น ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง หากการแข่งขันลดน้อยลงจากการมีอำนาจเหนือตลาดของเอไอเอสในปัจจุบัน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน คำถามที่สังคมและผู้บริโภคตั้งคำถามคือ “NT โอนคลื่น 700 MHz สำหรับให้บริการ 5G ให้กับเอไอเอส จะทำให้ NT หลุดจากตลาดในฐานะผู้ให้บริการ 5G หรือไม่” ทั้งนี้ กสทช. ต้องทำให้เป็นมาตรฐาน โดย กสทช.ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเปิดเผยรายงานการรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการร่างประกาศฉบับใหม่ ตลอดจนการพิจารณาคำขออนุญาตควบรวมอย่างถี่ถ้วนและระมัดระวังจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค ธุรกิจ และความมั่งคงแห่งรัฐ (เช่น การที่รัฐไม่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของธุรกิจใหญ่) ตลอดจนประโยชน์สาธารณะ กสทช. ก็จะเป็นองค์กรอิสระที่มีหลักธรรมาภิบาล เป็นที่ยกย่องและสร้างความน่าเชื่อถือทั้งต่อประชาชนและนักลงทุน

ผลกระทบข้อที่ 4 : โอนคลื่นให้เจ้าตลาด ทำลายกติกาประมูลในอนาคตหรือไม่? การประมูลคลื่นในอนาคตเปิดช่องให้โอนคลื่นในภายหลังเพื่อให้ผู้เล่นปัจจุบันได้เปรียบคู่แข่ง โดยส่งบริษัทอื่นมาประมูลหากชนะแล้วค่อยโอนคลื่นในภายหลังได้

กระบวนการประมูลคลื่น ควรเกิดขึ้นโดยเป็นธรรม เมื่อผู้ชนะการประมูล ได้คลื่นไปแล้ว ก็ไม่ควรให้มีการโอนคลื่นให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันในการประมูลได้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ในอนาคตการประมูล 6G จะเกิดการส่งตัวแทนมาร่วมประมูล เพื่อดูราคาที่เหมาะสม หากราคาไม่สูงเกินไป ก็จะโอนคลื่นให้กับบริษัทเจ้าของตัวจริงในภายหลัง แต่หากราคาประมูลเคาะจนมีราคาสูงเกินไป ก็จะเกิดการทิ้งการประมูล ซึ่งกรณีลักษณะนี้ กสทช. ต้องเข้ามากำกับดูแล โดยควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่า หาก NT ไม่ต้องการคลื่น 700 MHz ในการให้บริการ 5G ควรนำคลื่นดังกล่าว ไปให้ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ MVNO เข้ามาประกอบธุรกิจ เพิ่มเพื่อจำนวนผู้แข่งขัน มิใช่การโอนคลื่นให้ผู้นำตลาด และ NT เสียความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น หากทำให้กติกามีช่องโหว่ จะมีคำถามตามมายัง กสทช. ที่ต้องมีมาตรฐาน ยึดหลักกฎหมายปกครองเป็นที่ตั้ง การใช้ดุลพินิจส่วนตนทำให้เกิดหลายมาตรฐานและจะทำให้เกิดปัญหาภายหลัง

ผลกระทบข้อที่ 5 : ทำให้เกิดคำถามต่อ กสทช. ถึงมาตรฐานในการกำกับดูแลโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะการโอนคลื่นดังกล่าว มิได้มีการกำกับหรือออกมาตรการ ทั้งที่กระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง

สื่อในวงการหุ้น ได้รายงานในวันที่ 30 พฤษภาคม 2022 ให้ จับตา ADVANC กินรวบคลื่น 700MHz จาก NT โดยรายละเอียดระบุว่า ผู้บริหารแจ้งว่าบอร์ดของ NT อนุมัติดีลพันธมิตรนี้แล้ว แต่ยังต้องได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายจาก ครม. ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้มีคลื่นย่านความถี่ 700 MHz เพิ่มเป็นจำนวน 50 MHz แต่ กสทช.ยังนิ่งเฉย มิได้ดำเนินการใดๆ รวมถึงการประกาศโรดแมปในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาการโอนคลื่นในครั้งนี้ การโอนคลื่น ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค มาวิเคราะห์ว่า หากมีผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง มีคลื่นเพื่อให้บริการ 5G สูงกว่าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไร นอกจากนี้ควรมีการตั้งอนุกรรมการผู้บริโภค เพื่อดูผลกระทบว่า หาก NT ไม่สามารถให้บริการ 5G ได้ จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของการแข่งขันในตลาด 5G หรือไม่ ทั้งนี้ การดำเนินการของ กสทช. เป็นที่จับตามอง ซึ่งหาก กสทช. ขับเคลื่อนก่อนที่จะมีคนยื่นร้อง น่าจะเป็นการสร้างมาตรฐานเชิงรุก ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับ กสทช. ชุดใหม่ ที่มีหลักเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ขัดต่อกฎหมายแล้ว และมีการรับฟังเสียงประชาชนอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น