เวทีโฟกัสกรุ๊ปภาคประชาชน ค้านควบรวมกิจการทรู-ดีแทค มั่นใจเหลือ 2 รายลดการแข่งขัน เพิ่มอำนาจการผูกขาด ค่าบริการเพิ่ม คุณภาพสัญญาณไม่พัฒนา ร้องกรรมการ กสทช.ไม่อนุมัติการควบรวม
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) - บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดีแทค ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง การควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โดย กสทช. ได้ประสานไปยังผู้ขอควบรวมกิจการ เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่ผู้ขอควบรวมปฏิเสธที่จะเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่าการเปิดโฟกัสกรุ๊ปนี้ ไม่มีความเป็นกลาง
"การปฏิเสธเข้าร่วมประชุมเกิดขึ้นกะทันหันหลังพระอาทิตย์ตก แต่ กสทช. ยืนยันที่จะจัดการประชุมต่อไป ด้วยข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของผู้ขอควบรวมที่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนข้อมูลที่ผู้ขอควบรวมอ้างว่า เป็นความลับทางการค้านั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต"
การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้เป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครอง เพื่อนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา โดยการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคนี้ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลต้องให้การอนุญาตก่อน ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่าควบรวมได้หรือไม่ แต่หากพิจารณาแล้วสามารถควบรวมได้ จะมีการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในอนาคตต่อไป
***เอไอเอสเชื่อควบรวมลดทางเลือก 3 ด้าน
นายศรันย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส กล่าวว่า การควบรวมจะทำให้เกิดผลกระทบ 3 ด้าน ทั้งด้านราคา การบริการ และคุณภาพสัญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพสัญญาณนั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องหมั่นขยายช่องสัญญาณ และตรวจสอบคุณภาพสัญญาณเป็นประจำทุกเดือน หากในพื้นที่ใดผู้ให้บริการไม่ได้ดูแลตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ สัญญาณในบริเวณนั้นที่เคยดีก็จะใช้งานติดขัด และส่งผลกระทบถึงบริการ MVNO และ OTT ทั้งหมดที่ใช้งานอยู่บนโครงข่ายนั้น ผู้ใช้บริการจึงควรมีทางเลือกในการย้ายค่ายไปใช้ค่ายที่สัญญาณดีกว่าในบริเวณนั้น การควบรวมธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหญ่จึงเป็นการลดทางเลือกของผู้ใช้บริการในเรื่องนี้ ถึงแม้จะเพิ่ม MVNO เข้ามาก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 รายมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการที่มีโปรโมชันทุกวัน บริษัทเชื่อว่าหากมีการควบรวมธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหญ่ ตลาดมือถือก็จะยังมีการออกโปรโมชันเพื่อช่วงชิงลูกค้ากันต่อไป แต่อาจจะไม่ได้มีโปรโมชันทุกวันเหมือนกับในปัจจุบัน เนื่องจากมีการแข่งขันน้อยลง การอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ควบรวมธุรกิจกันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจาก Oligopoly หรือตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายอยู่แล้ว เป็น Duopoly หรือตลาดที่มีผู้แข่งขันเพียง 2 รายที่ควบคุมส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นแบบเดิมได้อีก เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 2 รายแข็งแรงมาก และทรัพยากรคลื่นความถี่ก็ถูกจับจองไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่มีโอกาสที่ผู้เล่นรายใหม่จะสามารถแทรกตัวเข้ามาในตลาดและเติบโตขึ้นมาในระดับที่แข่งขันกับผู้เล่นทั้ง 2 รายได้อีก
“กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปล่อยให้ตลาดโทรคมนาคมปรับตัวเข้าสู่ Duopoly หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้เกิดการควบรวมแล้ว ไม่ว่าจะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตามไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันก่อนการยินยอมให้ควบรวมได้”
***นักวิเคราะห์ย้ำดัชนีกระจุกตัวสูงเสี่ยงค่าบริการสูง
ด้านนายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดโทรคมนาคมสูงอย่างมาก ซึ่งจากเดิมในประเทศไทยมีผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 46-47% ทรู 33% ในขณะที่ดีแทคประมาณ 18-20%
ดังนั้น ทำให้การกระจุกตัวเพิ่มขึ้นโดยดัชนี HHI จะแสดงให้เห็นว่าหากเป็นตลาดที่ผูกขาดเพียงรายเดียวจะเป็น 100% โดยค่าจะอยู่ที่ 10,000 จุด แต่เมื่อใดที่ผู้แข่งขันเยอะขึ้นนั้น ค่าจะลดลงจนใกล้ศูนย์ซึ่งเท่ากับตลาดนั้นเกิดการแข่งขันที่เสรีอย่างที่สุด แต่หากมาดูว่าหลังจากเกิดการควบรวมของทรู และดีแทค ดัชนีจะเพิ่มขึ้นจาก 3,578 ไปที่ 4,823 เพิ่มขึ้นถึง 32.4% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่สำนักงาน กสทช.เคยระบุไว้ในกฎหมายว่า หากตลาดมีดัชนี HHI เกิน 2,500 ถือเป็นตลาดที่มีความอันตราย ราคาเฉลี่ยตามแพกเกจของประเทศไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน หากมีการแข่งขันกันตามปกติราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 13-23% คือ 249-270 บาท แต่หาก 2 รายรู้สึกว่าพอใจกับจำนวนลูกค้า กับการแข่งขันที่เป็นอยู่จนไม่เกิดการแข่งขัน มีการฮั้วกัน จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ประมาณ 66-120% คิดเป็นราคา 365-480 บาท
***สภาผู้บริโภคชี้ค่าบริการสูงเหตุลดการแข่งขัน
น.ส.สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นการควบรวมนั้น สภาได้ดำเนินการเปิดเวทีเสวนา การยื่นข้อเสนอไม่เห็นด้วยต่อคณะกรรมการ กสทช.ชุดเก่า รวมถึงมีการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหาร กสทช.เพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขให้มีจำนวนผู้ประกอบการจำนวนเพิ่มขึ้นและผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายของตนเอง การควบรวมขัดต่อกฎหมาย 4 ฉบับ ผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กสทช. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ในมาตรา 4 ระบุถึงสิทธิที่ผู้บริโภคต้องมีอิสระในการเลือกใช้บริการ และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เนื่องจากการควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน เข้าข่ายงบประมาณเกินพันล้านบาท
เห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หากคิดจากผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันผู้บริโภคมีรายจ่ายต่อเดือนทั้งสิ้น 1,760 ล้านบาท แต่หากไม่มีการแข่งขันผู้บริโภคต้องมีค่าใช้จ่ายรวมต่อดือนทั้งสิ้น 13,600 ล้านบาท รายจ่ายที่เพิ่มใครจะรับผิดชอบ ในขณะที่ กสทช.เองมีงบในการบริหารต่อเดือนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ซึ่งไม่พอในการช่วยอย่างแน่นอน
“อยากให้ กสทช.สนับสนุนลดต้นทุน ระเบียบ กสทช.ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการลดต้นทุนสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ ถ้าควบรวมเราไม่สามารถมีคลื่นที่ดีทั่วประเทศ เราหนุนให้ กสทช.ไม่เห็นชอบดีลการควบรวมครั้งนี้ เพื่อให้มีผู้บริการมากขึ้น แข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้เราไม่มีทางออกในเรื่องนี้เลย”
***เครือข่ายผู้บริโภคยื่นหนังสือต่อประธาน กสทช.ค้านควบรวม
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นมีกลุ่มเครือข่ายประชาชนเข้ามายื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. พร้อมระบุว่า ข้อมูลจากการศึกษาของ กสทช.พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย โดยมีผู้ใช้บริการผ่าน 3 ผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค จำนวน 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึง 93% จึงทำให้ทั้ง 3 รายจัดเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาด
ดังนั้น หากมีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นตลาด Duopoly ที่มีผู้ให้บริการผูกขาดเหลืออยู่เพียง 2 รายอย่างถาวร ผู้บริโกคมีแนวโน้มจะถูกเอาเปรียบ ไม่มีหนทางเลือก และท้ายที่สุดอัตราค่าบริการมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ขณะเดียวกัน ผลศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมล่าสุด มีการรายงานเป็นเอกสารยืนยันเช่นกันว่า หากผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย โดยทั้ง 2 รายเป็นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 45% ก็มีความเป็นไปได้ว่าค่าบริการในระยะยาวจะแพงขึ้น 20-30% เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้งาน
ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคได้บทเรียนอันบอบช้ำจากการที่หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้ปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจค้าปลีก- ค้าส่งรายใหญ่ของประเทศ จนทำให้กลุ่มทุนยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งของประเทศสามารถกุมอำนาจเหนือตลาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ตันน้ำยันปลายน้ำ ทำให้ปัจจุบันประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตราคาสินค้าข้าวของแพงทั้งแผ่นดินเพราะตลาดค้าปลีก-ค้าส่งถูกผูกขาดปราศจากการแข่งขัน
ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนต่างคาดหวังว่า กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิรูปบทบาท อำนาจหน้าที่ขององค์กร กสทช. ในการเป็นองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจารโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากการชี้นำหรือครอบงำขององค์กร หรือกลุ่มทุนใดๆ แต่จากการติดตามข่าวสารของเครือข่ายล่าสุด กลับพบว่า แม้จะมีข้อทักทวงจากทุกภาคส่วน แต่ กสทช.ชุดปัจจุบันที่รับไม้ต่อมาจาก กสทช.ชุดรักษาการก่อนหน้า ยังคงมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าพิจารณาการควบรวมกันต่อไป ด้วยนำเอาข้ออ้างข้อจำกัดด้านกฎหมาย และประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เมื่อกลุ่มทุนสื่อสารรายเดียวกันมีความพยายามที่จะดำเนินการควบรวมกิจการ จะกำกับดูแลและพิจารณาสั่งห้ามการควบรวมกิจการที่จะส่งผลเสียต่อผู้ใช้บริการและผลประโยชน์สาธารณะ
ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย และประกาศ กสทช.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ทำให้ภาคประชาชนเต็มไปด้วยความกังวลว่า หาก กสทช.ยังปล่อยให้ 2 ค่ายมือถือดำเนินการควบรวมกิจการกันไปโดยไม่มีการคัดค้านใดๆ หรือยังคงอ้างแต่ข้อจำกัดทางกฎหมาย และประกาศ กสทช.ที่ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนและประเทศชาติคงถูกลิดรอน และอุตสาหกรรมโทรคมของประเทศมีแนวโน้มที่จะเจริญรอยตามธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งของประเทศในเวลานี้ที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนครบวงจรอีกเช่นเคย