xs
xsm
sm
md
lg

ความเห็นที่แตกต่างเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด ประเด็นควบรวมทรู-ดีแทค ครั้งที่ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวทีโฟกัสกรุ๊ปควบรวมทรู-ดีแทค ครั้งที่ 1 เอไอเอสเผย กสทช.มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน พร้อมเปิดเหตุผลไม่ควรควบรวมโดยเฉพาะประเด็นผิดเงื่อนไขถือครองคลื่นเกินเพดานหรือไม่ หวั่นเป็นสาเหตุหยุดสงครามราคา กระทบลูกค้ารายย่อยจากลดการลงทุนซ้ำซ้อนของทั้ง 2 ค่าย ส่งผลอุตสาหกรรมหดตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตบเท้าเห็นด้วยการควบรวม หนุนคนไทยเป็นเจ้าของบริษัทโทรคม ไม่หวั่นกระทบราคาและบริการ

วันนี้ (9 พ.ค.) เวลา 08.30-13.00 น. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมสายลม 5021 อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กสทช.

รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้ง คือ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคจากมติของ กสทช. เพื่อรวบรวมความคิดเห็นส่งไปยังคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว จำนวน 4 คณะได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช.ต่อไป เพื่อให้การศึกษาและกรณีการควบรวมเป็นงานระดับสากล

***ควบทรู-ดีแทคผิดเงื่อนไข spectrum cap

นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) กล่าวถึงประเด็นการควบรวมทรู-ดีแทค 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแล โดย กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคมนอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

โดยกรณีนี้ ทรู และดีแทคได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน

ประเด็นที่ 2 ผลกระทบต่อการแข่งขันตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย ธรรมชาติของตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชากรทั้งประเทศแล้วในขณะนี้ การแข่งขันย่อมน้อยลง ซึ่งจากเดิมมี 3 ราย ต่างมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่หลากหลาย

ดังนั้น เมื่อเหลือ 2 ราย ย่อมมีแนวโน้มที่อัตราหรือจำนวนค่าใช้บริการอาจเพิ่มขึ้นหรือคงเดิม ไม่ลดลงหรือหลากหลายเหมือนกับในช่วงระยะเวลาที่มี 3 รายแข่งกันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อ Ecosystem ในภาพรวมของอุตสาหกรรม ไม่เพียงต่อผู้ใช้บริการ แต่ยังมีผลไปถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ เช่น ผู้แทนจำหน่าย ผู้รับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ ซ่อมบำรุง ช่องทางการจัดจำหน่าย (ลูกตู้) ผู้ให้บริการเสริม content provider และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นปลาเล็กในอุตสาหกรรม เพราะจำนวนงานจะลดลง จากที่เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ซึ่งหากไม่มีอำนาจต่อรองหรือสายป่านไม่ยาวพอเชื่อว่าจะต้องล้มหายตายจากไป ส่งผลให้เกิดการหดตัวของอุตสาหกรรมทันที

การควบรวมกิจการระหว่างทรู และดีแทค จะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวขึ้นสูงขึ้นจากเดิมในระดับอันตรายมาก จากสิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 3,575 จุด โดยเมื่อเทียบกับค่า HHI ที่ กสทช.ได้กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 (“ประกาศควบรวมธุรกิจ 2561”) เกี่ยวกับค่าดัชนี HHI สำหรับการแข่งขันมาตรฐานให้อยู่ที่ 2,500 จุด จึงจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวกันอยู่เพียงไม่กี่เจ้าอันแสดงว่าให้เห็นว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมใดๆ เกิดขึ้น สภาพตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยในปัจจุบันมีการกระจุกตัวสูงมาก ซึ่งหมายความว่า ประสิทธิภาพในการแข่งขันนั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานอยู่แล้ว แต่เมื่อการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคสำเร็จแล้ว จะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวขึ้นสูงถึง 4,706 จุด ซึ่งจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวในระดับอันตรายมาก

ดังนั้น หาก กสทช.อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจจะส่งผลให้ค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมเท่ากับ 4,706 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1,131 จุด ทำให้กลุ่มบริษัทใหม่จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างสมบูรณ์ ประเด็นที่ 3 การรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัท แม้จะมีความเห็นจากนักวิเคราะห์ในตลาดทุนที่ว่าการควบรวมครั้งนี้จะเป็นการลดการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการรายที่เหลืออยู่ในตลาดได้รับประโยชน์

แต่เนื่องจากเอไอเอสในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล จึงไม่อาจเพิกเฉย เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะส่งผลต่อการแข่งขันและอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ลดทางเลือกของผู้ใช้บริการ ซึ่งเอไอเอสไม่อยากให้ตัวเองถูกบันทึก หรือจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดการผูกขาด เป็นจุดด่างพร้อยในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทน

นอกจากนี้ การประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช. ได้มีการกำหนด spectrum cap ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุดที่กำหนดไว้ และผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยงโยงกัน เช่น บริษัทแม่ลูกกันหรืออยู่ในเครือเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อมิให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน (หรือถูกกินรวบ)

แต่ในกรณีนี้เมื่อทั้ง 2 รายต่างคนต่างประมูลแล้วมารวมกันทีหลัง ทำให้เกิดการรวมคลื่นอยู่ในมือของคนกลุ่มคนเดียวกัน กฎ กติกาของการประมูลที่ตั้งไว้จึงไม่มีผลใช้บังคับได้จริง และทำให้เอไอเอสเสียโอกาสจากการแสวงหาคลื่นความถี่ซึ่งมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดสรรคลื่นความถี่ พร้อมกับเห็นความสำคัญของมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในช่วงแรกที่ต้องรีบการจัดหาคลื่นความถี่มาให้บริการให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ รวมถึงคุณภาพบริการ ภายใต้กฎและกติกา

รวมถึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อทั้ง 2 รายควบรวมกันจะเป็นการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดไว้ของรายอื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าประมูลด้วยตนเองซึ่งหาก กสทช. ยินยอมให้ทั้ง 2 รายควบรวมกัน กสทช. ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่เอไอเอสด้วยหากเรื่องนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียผลประโยชน์อาจจะมีการฟ้องร้องศาลต่อไปก็เป็นได้

การแสดงความเห็นของเอไอเอสในครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านการควบรวม แต่เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่เอไอเอส แต่จะกระทบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมของผู้บริโภค

‘ดังนั้น บริษัทจึงต้องการความชัดเจนของกระบวนการทำงานของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่กำกับดูแล เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อทุกด้านอย่างรอบคอบที่สุด’

เอไอเอสมีความเห็นว่า กสทช.ในฐานะผู้กำกับดูแลควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจาก 3 รายเหลืออยู่เพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียง 2 รายอย่างถาวร แม้ กสทช.จะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตาม แต่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันก่อนการยินยอมให้ควบรวมได้ ดังนั้น กสทช. จึงต้องแสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ โดยพิจารณาเรื่องนี้อย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อทุกด้านอย่างรอบคอบที่สุด

***ภาคอุตสาหกรรมหนุนควบรวมทรู-ดีแทค

ขณะที่ในเวทีโฟกัสกรุ๊ป เสียงส่วนใหญ่จากผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค โดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ กล่าวว่า การเหลือผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้ไม่ต้องค้างสต๊อกสินค้า ที่สำคัญสัญญาณ 5G ของดีแทคก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมมีความเห็นว่า การควบรวมนั้นจะทำให้มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและทำให้บริษัทคนไทยแข็งแกร่งขึ้น ส่วนเรื่องราคาค่าบริการไม่น่าเป็นประเด็นเพราะ กสทช.ควบคุมราคาได้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ การมีเจ้าของเป็นคนไทยข้อมูลของคนไทยจะได้นำมาจัดเก็บในประเทศไทย ไม่ต้องนำออกไปเก็บบนคลาวด์ของต่างชาติ เป็นต้น

โดยนายดิษศรัย ปิณฑะดิษ ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า สิ่งที่กังวลหลังจากควบรวมคือเรื่องคุณภาพนั้น เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ทรู มีบริการออกมาหลากหลาย ทั้งเรื่อง 5G และ ไอโอที ขณะที่ดีแทคเองเริ่มมีความไม่ต่อเนื่องของการให้บริการ ดังนั้น การรวมกันน่าจะดีกว่า ส่วนเรื่องราคาค่าบริการนั้นต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ค่าบริการไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงอยู่แล้ว แต่เป็นราคาจากการทำโปรโมชัน ดังนั้นหากรวมกันผู้บริโภคน่าจะเห็นโปรโมชันที่ดีขึ้น อีกประเด็นคือเรื่องการส่งเสริมสตาร์ทอัป พบว่า ทรูมีบทบาทและโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัป แต่ดีแทคแรกๆ มีโครงการสนับสนุนแต่เมื่อผู้บริหารต่างชาติเข้ามาใหม่ก็ล้มเลิกโครงการไป ทำให้เห็นว่าคนไทยเป็นผู้บริหารจะเข้าใจคนไทยมากกว่ากัน

นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หน้าที่ของ กสทช.คือการเป็นผู้กำกับด้านเศรษฐกิจด้วยไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น เจตจำนงในการกำกับดูแลคือให้เกิดการแข่งขันและเป็นธรรม ซึ่งตีความหมายได้ 2 แบบ คือ การกำกับดูแลด้วยมาตรฐานให้เท่ากันแต่ไม่อาจเท่าเทียมได้เพราะรายเล็กจะไม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ หรืออีกแบบคือการกำกับดูแลด้วยมาตรฐานไม่เท่ากันเพื่อช่วยให้รายเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ 5G ยังไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากร เราควรเร่งการลงทุนเพื่อยกระดับประเทศแบบเกาหลีใต้ได้หรือไม่

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช.ในฐานะที่ปรึกษาประธาน กสทช. กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้นอกจากประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 แล้ว ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้องอีก คือ ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 เพราะประกาศในปี 2561 ระบุว่าการควบรวมมีผลต่อประกาศปี 2549 ด้วย โดยเกี่ยวข้องในข้อสุดท้ายถ้ามีผลกระทบให้ กสทช. กำหนดบทบาทเฉพาะเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาดได้ ดังนั้น ในการทำประชาพิจารณ์สำนักงาน กสทช.ต้องหยิบยกทุกประกาศที่เกี่ยวข้องขึ้นมานำเสนอให้ครบ


กำลังโหลดความคิดเห็น