สรุปไฮไลต์ ผล กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด กรณีควบรวมทรู-ดีแทค อุตสาหกรรมประสานเสียงตอบรับเห็นด้วย มีเพียงเอไอเอสยังค้านการควบรวม และมีการตั้งคำถาม การจัดประชุม Focus Group ของ กสทช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาจผิดหลักการวิจัยหรือไม่
เริ่มแล้ว การรับฟังความคิดเห็นควบรวมทรูและดีแทค เดินหน้าตามโรดแมป กสทช. เปิดรับฟังความเห็นให้ครบ ครอบคลุมทุกมิติ เริ่มจากรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด (Focus Group) กลุ่มแรก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช้าวันจันทร์ที่ 9 พ.ค. โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กล่าวเปิด โดยขอบคุณการสละเวลาเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยแจ้งว่า เป็นการประชุมครั้งแรกจาก 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นเรื่องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 เป็น Focus Group ผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และครั้งที่ 3 เป็นผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งมีข้อสงสัยกันว่า การประชุมครั้งที่สอง จะจัดขึ้นอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หาก กสทช. ไม่สามารถสรุปได้ทันกรอบเวลาของกฎหมาย จะเกิดข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น กระบวนการโรดแมปของ กสทช.จึงยังคงเป็นคำถามของสังคม ทั้งนี้ ผู้ช่วยเลขานุการ กสทช.อธิบายว่า โครงสร้างมี 3 ระดับ โดยการควบรวมเป็นระดับที่ 2 โดยเป็นการควบรวมของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดังนั้น ในด้านของโครงสร้างนี้ กสทช.ยังมีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตเช่นเดิม และต้องมองบริการให้ครบ ทั้งธุรกิจต้นน้ำ ปลายน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย จะมองเพียงแค่บางบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่ได้ ทั้งนี้ โครงสร้างการรวมธุรกิจจะปรากฏดังรูป
กระบวนการดำเนินการควบรวม มีความเข้าใจผิดว่ามีการแก้กฎหมายเพื่อการควบรวม แต่ยืนยันอีกครั้งว่า กระบวนการดำเนินการเป็นไปตามประกาศ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม โดยผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการควบรวมธุรกิจได้ยื่นรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ซึ่ง เลขาธิการ กสทช.จะแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระประกอบรายงานการรวมธุรกิจ โดยที่ปรึกษาจัดทำความคิดเห็นและเลขาธิการ กสทช.รายงานต่อ กสทช.ใน 90 วัน ทั้งนี้ หาก กสทช.มองว่าการรวมธุรกิจส่งผลให้ดัชนี HHI มากกว่า 2500 หรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากกว่า 100 หรือมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น หรือครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้
หากนับจำนวนผู้เล่นในตลาด ต้องมองให้ครบทุกบริการ จะเลือกมองส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่บางบริการไม่ได้ โดยนอกจากนับจำนวนซิมที่มีซ้ำกันในตลาดแล้ว ต้องมองบริการให้ครบทุกชนิด จะมองว่ามีผู้ให้บริการเพียง 2 รายไม่ได้ โดยต้องมองให้ครบทั้งบริการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ บริการต้นน้ำ ที่บริษัทโทรคมนาคมแห่ง หรือ NT มีส่วนแบ่งตลาด 67.42%
ผู้ให้บริการต้นน้ำ (Vertical Industry) ทาง NT เป็นผู้ให้บริการที่ครอบคลุมที่สุด
โดยมีข้อสังเกตจากการแสดงความคิดเห็นสามารถสรุปได้เป็น 10 ประเด็นที่สำคัญ คือ
1. มุมมองจากบริษัทเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตัวแทนบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ฝากไว้ 3 ประเด็นว่า ผูกขาดหรือไม่ ให้ดูรายได้และจำนวน คำถามคือ อันนี้เป็นการพิจารณาทุกมิติว่าผูกขาดแล้วหรือไม่ เราควรพิจารณาเรื่องกำไรของ Operator แต่ละราย เพื่อให้รายที่ 2, 3 ไม่สามารถแข่งขันได้ ประเด็นที่สอง เมื่อกำไรมากกว่าเจ้าอื่น จะทำให้เกิดการบริหารต้นทุนที่ดีกว่า เช่น ต้นทุนความถี่ ซึ่งต้นทุนความถี่เป็นภาระของผู้ประกอบการ และต้องมีเงินทุน ด้านโครงข่าย ความถี่ไม่ได้มีไว้ขาย กสทช.มีหน้าที่จัดสรร แต่ กสทช.ไปสร้างต้นทุนการแข่งขัน จนเกิด Die Fast or Die Slow ดังนั้น ผู้ประกอบการกลัวจะตายต้องเอาความถี่ไว้ก่อน แต่ไม่มีกำลังไปลงเน็ตเวิร์ก ข้อที่ 3 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราประมูล 5G เรามีการกักตุนความถี่หรือไม่ บางรายได้ไป ก็ยังไม่มีการลงทุน การจะใช้การรวมบริษัทแก้ปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ สุดท้ายธุกิจโทรคมนาคมไม่เหมือน 3 ปีที่แล้ว ทำกำไรแทบไม่ได้ ตลาดอิ่มตัว ต่างประเทศจึงมองว่า ทำอย่างไรจะสร้าง Digital Transformation ให้กับประเทศไทย แต่ผู้ใช้บริการ 5G ยังมีไม่ถึง 5% เราควรเร่งการลงทุนเพื่อยกระดับประเทศแบบเกาหลีใต้ได้หรือไม่
2. มุมมองจากนักลงทุน สนับสนุนใน 3 มิติ ซึ่งมองว่า หากไม่ให้เกิดการควบรวม จะเกิดการผูกขาด จะเห็นได้ว่า บริษัท เอไอเอส (AWN) เป็นผู้นำตลาดในแทบทุกกลุ่ม หากห่วงเรื่องการผูกขาด ต้องมองกำไรจากการดำเนินธุรกิจ หากดูผู้เล่น 3 รายแรก บริษัทที่มีส่วนแบ่งสูงสุดคือ เอไอเอส ในขณะที่บริษัททรู มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 มีการลงทุนต่อเนื่อง แต่ขาดทุนมาโดยตลอด ในขณะที่ดีแทค ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้สอดคล้องเหมือนบริษัท 1, 2 ของอุตสาหกรรม ถ้าเราไม่ให้ควบรวม เอกชนทั่วไปต้องแสวงหากำไร หากยังอยากให้ลงทุนแต่ไม่ให้ปรับตัว และสร้างกำไรไม่ได้ ก็ยากในการดำเนินธุรกิจ และทำให้บริษัทเอไอเอสผูกขาดมากขึ้นไปอีก ศึกษาบริษัทโทรคมนาคมในต่างประเทศ จะพบว่าประเทศไทยลงทุน 5G และกำลังจะไปต่อที่ 6G ซึ่งต้องการการลงทุนสูงมาก หลังคาตึกมีเสาสัญญาณจะเห็นการทับซ้อนของผู้เล่น การประหยัดต้นทุนและส่งประโยชน์ไปให้ผู้บริโภคจะดีกว่า การลงทุนแบบแข่งขันมาก ทุกตำแหน่งมี 3 เสา ต้นทุนเพิ่ม ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ได้อย่างไร
3. มุมมองจากนักกฎหมาย มองการจัดการประชุมโฟกัสกรุ๊ป แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ มีกฎหมายรับรองหรือไม่ การจัดการรับฟังลักษณะนี้ข้อมูลที่ได้จะไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย หากทำไม่ถูกวิธีการ ผลของการวิจัยจะคลาดเคลื่อน กลุ่มตัวอย่างไม่เป็นไปตามหลักการวิจัยหรือไม่ การควบรวมหรือไม่ สนใจแค่บริการมีคุณภาพหรือไม่ และ กสทช.เป็นตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลในการกำหนดมาตรฐานในการให้บริการ จึงจะเป็นธรรม จะมีผู้เล่นกี่ราย กฎเกณฑ์เป็นอย่างไร กสทช.เป็นคนกำกับอยู่แล้ว การใช้ดุลพินิจของ กสทช. ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง กสทช.ต้องระวังติดหล่มประเด็นทางกฎหมาย ทำให้ กสทช.สุ่มเสี่ยงหากเดินกระบวนการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ และสุดท้ายประชาชนจะได้ประโยชน์
4. มุมมองจากซัปพลายเออร์ มองว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง แต่สำหรับประเทศไทยมีความพิเศษ ตรงที่ค่าคลื่นก็สูงแทบจะที่สุดในโลกด้วย จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายในปัจจุบันจะสามารถลงทุนต่อเนื่องได้ ในมุมมองของซัปพลายเออร์ ย่อมอยากให้ผู้ประกอบการไทยแข็งแรง การมีเพียงรายเดียวที่แข็งแรง ไม่ได้ทำให้ซัปพลายเออร์มีอำนาจต่อรอง แต่หากมีการแข่งขันสูงของผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกันมากขึ้น จะเป็นการเร่งการลงทุน ซึ่งซัปพลายเออร์จะได้ประโยชน์ จากการซื้อสินค้ามากขึ้นนั่นเอง
5. มุมมองจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า ภาคเอกชนไทย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ต้องมองประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน กสทช.มีอำนาจในการควบคุมด้านราคาอยู่แล้ว ดังนั้น ความกังวลด้านราคาจะสูงขึ้นนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องกังวล เพราะ กสทช.สามารถกำกับได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะควบรวมหรือไม่ ดูได้จากราคาค่าโทร.และค่าเน็ตในปัจจุบัน ประเทศไทยก็อยู่ในระดับที่แทบจะต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว ดังนั้น การแข่งขันของผู้ประกอบการหลังการควบรวม ที่มีความใกล้เคียงในการแข่งขันมากขึ้น จะทำให้เกิดความสูสีและเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น พัฒนาคุณภาพบริการมากขึ้น และสุดท้ายลูกค้าได้ประโยชน์ นอกจากนี้ สภาหอการค้าฯ มองว่าการควบรวมขององค์การโทรศัพท์ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย เกิดเป็น NT นั้น ต้องอย่ามองข้าม เพราะมีความแข็งแกร่งในการแข่งขันเช่นเดียวกัน เพราะมี Asset กว่า 3 แสนล้าน และมีคลื่นมากไม่แพ้ผู้นำตลาด ดังนั้น หาก NT ปรับยุทธศาสตร์การแข่งขัน ก็ถือว่ามีความทัดเทียม เกิดเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการแข็งแรงทั้ง 3 ราย ซึ่งผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันสูงนั่นเอง
6. มุมมองจากคู่แข่ง ทางเอไอเอส ซึ่ง กสทช.ให้โอกาสผู้บริหารจาก เอไอเอส พูดเป็น 3 รายแรก โดย เอไอเอสบอกว่า พร้อมแข่งขัน แต่หากปล่อยให้รายใหญ่ลดลง จะทำให้ทางเลือกลูกค้าลดลง ปัจจุบันมีให้เลือก 3 โครงข่าย เหลือ 2 ราย การแข่งขันก็จะน้อยลง ซึ่งจะหมดยุคสงครามราคา เพราะมีส่วนแบ่งตลาด เท่าๆ กันอยู่แล้ว เอไอเอสจะเคยออกมาให้ความเห็นก่อนการควบรวมทรู-ดีแทคว่า ทำให้เอไอเอสต้องเร่งลงทุนให้เร็วขึ้นนั้น เอไออเอสจำเป็นต้องออกมาคัดค้านการควบรวม เพราะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เพราะจะทำให้การกระจุกตัวตลาดมากขึ้น เมื่อจำนวนผู้แข่งขันน้อยลง ถึงแม้ว่าเอไอเอสจะมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 และหลังการควบรวม เอไอเอสเชื่อว่าลูกค้าจะย้ายค่ายมาเอไอเอส และไม่สูญเสียความเป็นผู้นำ แต่การปล่อยให้เกิดการควบรวม ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการแข่งขัน เพราะตลาดในปัจจุบันดีอยู่แล้ว ที่มีผู้เล่นหลายราย และเอไอเอสก็ปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ โดยได้ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หาก กสทช.ใช้ประกาศควบรวมปี 2561 ทำให้อึมครึมว่า บทบาท กสทช.ควรดำเนินตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้วหรือไม่ ดีลขนาดนี้ หากจะกำหนดมาตรการในภายหลัง จะสุ่มเสี่ยงเกินไปหรือไม่
7. มุมมองจากคู่ค้า มองว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ใช้งบประมาณมหาศาลด้านการตลาดมีเพียงรายเดียวคือเอไอเอส ขอให้ กสทช.ดูงบประมาณด้านการตลาดว่า บริษัทเดียวที่ใช้งบประมาณมากกว่าคู่แข่งหลายร้อยเท่า ถือเป็นความเท่าเทียมในการแข่งขันหรือไม่ เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในปัจจุบันอยู่ในโหมดการลดต้นทุน มีเพียงผู้นำตลาดที่มีกำไรสะสมมากพอที่จะถล่มตลาดด้วยการโฆษณา ดังนั้น หาก กสทช.ปล่อยให้อุตสาหกรรมเดินไปเช่นนี้จะเป็นการเอื้อผู้ประกอบการรายเดียวหรือไม่ ในส่วนของคู่ค้า ต้องการให้ควบรวม ให้บริษัททัดเทียมในการแข่งขัน ก็จะสร้างงานที่มั่นคงให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยตลอดห่วงโซ่คุณค่า
8. มุมมองจากบริษัทดิจิทัล และสตาร์ทอัพ มองว่า เรื่องสตาร์ทอัพ และการส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในเมืองไทยมีความสำคัญ จะเห็นได้ว่าสมัยก่อนมี Dtac Accelerator เป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว เมื่อเสียความสามารถในการแข่งขันไป ก็ยกเลิกการจัดบ่มเพาะ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส หากประเทศไทยมีระบบนิเวศที่ไม่แข็งแกร่ง การแข่งขันที่เยอะเกินไป แต่ไม่สร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวก็เสียโอกาส งานวิจัย OECD ก็บอกว่า การแข่งขันที่เท่าเทียมจะเป็นธรรมมากขึ้น หากมองแบบ Supply Chain ห่วงโซ่คุณค่า จะทำให้ตลอดห่วงโซ่จะเข้มแข็งขึ้น ให้ลองดูผู้เล่น OTT จะเห็นว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคม ถ้าไม่เข้มแข็งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ มองถึงความยั่งยืนของประเทศชาติ เราขาดดุลการค้าเท่าไร แพลตฟอร์มผ่านค่าย OTT ทั้งหมดแล้ว ไลน์ สั่งซื้อของ Lazada, Shopee หากพูดถึงอนาคตประเทศไทย เราต้องจับมือกัน ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นคนไทย สัญชาติไทย การควบรวมครั้งนี้เป็นประโยชน์ของประเทศชาติ ยุคนี้เป็นยุค M&A คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก ถ้าทรูกับดีแทคควบรวมแล้วช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เป็นผลประโยชน์ของชาติ ข้อมูลคือขุมทรัพย์ใหม่ แต่ปัจจุบันข้อมูลไม่อยู่ในไทยเลย ต้องฝากความหวังไว้กับผู้ประกอบการ สิ่งที่อยู่บน 5G คือ ข้อมูล การที่ผู้ประกอบการไทยแข็งแรง เป็นประโยชน์ต่อชาติระยะยาว
9. สหภาพรัฐวิสาหกิจ องค์การโทรศัพท์ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) บอกว่า ไม่เห็นด้วยในการให้ควบรวม โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย และ องค์การโทรศัพท์ ควบรวมได้ แต่ถ้าให้ทรูกับดีแทคควบรวมกันจะเกิดเป็นตลาดกึ่งผูกขาด เอไอเอส กับ บริษัทควบรวม ดังนั้น หลังการควบรวมของ NT ตลาดสมดุลแล้ว สหภาพมองว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศน้อยมาก ทางสหภาพมองว่า ประเทศไทยมีนโยบาย 4.0 อยู่แล้ว มันเป็นความล้มเหลวของประเทศไทยแลนด์ 4.0 ไม่มีความเจริญในประเทศไทยเลย คำถามต้องกลับมาที่รัฐบาลว่า ได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยหรือไม่ ทำธุรกิจบนเครือข่ายในประเทศไทยหรือไม่ กสทช.ควรกำกับดูแลอย่างไรให้เกิดสตาร์ทอัพ เพื่อให้วิ่งในโครงข่ายประเทศไทยได้อย่างจริงจัง การควบรวมโดยบริษัทเอกชนจะเกิดการผูกขาด การที่รัฐควบรวม ก็เพื่อเกิดการแข่งขันเสรี แต่เอกชนมาควบรวม เพื่อทำให้ทิ้งห่างกิจการของรัฐ โดยการอ้างเป็นการสร้างความแข็งแกร่ง โดยไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ยึดโยง ควรให้เป็นตลาดเสรีว่า หากให้ควบรวมผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์ เกิดเป็นรายใหญ่สองราย ทำให้บริษัทรายที่สามเสียประโยชน์ในการแข่งขัน
10. มุมมองจากสภาหอการค้าไทย คือ สนับสนุนการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ปกติเราอาจมองว่าการมีมากรายจะเป็นประโยขน์ แต่ในสายธุรกิจที่ลงทุนสูง หากมีผู้นำตลาดที่ห่างไปไกลมากเกิน การแข่งขันก็อาจไม่เกิดขึ้น เบอร์รองอาจไม่มีกำลังในการลงทุนเพิ่มเติม และหากเบอร์ 2, 3 ลงทุนได้ไม่เต็มที่ จะไม่สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดย กสทช.ควรพิจารณาระยะยาว การควบรวมกิจการในขนาดนี้ ทั้งสองฝ่ายคิดมาเป็นอย่างดี เรื่องประโยชน์ต่อผู้บริโภค ก็ฝากว่า หลังการควบรวม จะมีการทำประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร แบบนี้ก็รับการควบรวมได้
ทั้งนี้ ต้องถือได้ว่าภาคอุตสาหกรรมประสานเสียงสนับสนุนการควบรวม มีเพียง เอไออเอส และ NT ที่ออกมาคัดค้าน ซึ่งถือว่าไม่น่าแปลกใจ แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแรง ดีกว่าปล่อยให้อ่อนแอ จนถอนการลงทุน อุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง และ รักษาศักยภาพในการแข่งขัน ส่วนเรื่องราคา กสทช. ทำหน้าที่มาดีอยู่แล้ว กสทช.ก็น่าจะทำผลงานได้ดีต่อไป ดังนั้น การแข่งขันด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ลงทุนสูง และอาจเหลือผู้ประกอบการที่แข่งขันได้ไม่กี่ราย และ NT ก็เป็นบริษัทไทยที่แข็งแรง ไม่แพ้บริษัทควบรวมทรูและดีแทค ดังนั้น การที่ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมาย และกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้สังคมสบายใจได้ว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเดินหน้าแข่งขันในระดับภูมิภาคได้