xs
xsm
sm
md
lg

เจาะ 3 ภารกิจ กสทช.ชุดใหม่! เดินหน้าหนุนผู้ประกอบการไทยให้พร้อมปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่ “เสริมศักยภาพการแข่งขันที่เท่าเทียม และรักษาทรัพยากรชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แหล่งข่าวจากวงการดิจิทัล เปิดเผยว่า แนวโน้มการควบรวมธุรกิจของไทยในปี 2564 มาจนถึงปัจจุบันปี 2565 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ต้นปี 64 กับการควบรวมองค์การโทรศัพท์ (TOT) ต่อเนื่องจากกลางปี 64 ค่ายเอไอเอสผู้นำอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยได้ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมีกลุ่มพลังงานอันดับ 1 คือ กลุ่ม Gulf มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ผ่านทางบริษัท INTUCH ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมมีความแข็งแกร่งขึ้น

จึงเหลือเพียงการควบรวม ทรู ดีแทค ที่ประกาศตัวตั้งแต่ต้นปี 65 สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ กสทช.ชุดใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อ โดยชุดใหม่นี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี ทุกท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์ในหลายด้าน จะต้องโปร่งใสและดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องในการกำกับดูแลในระยะยาว โดยจะต้องมีกระบวนการและกรอบเวลาที่ชัดเจน และงพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันตามที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันถือได้ว่าเดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว ยังมีเวลาเกือบ 1 เดือนที่กสทช.จะรับไม้ต่อพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อเนื่องจากคณะที่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีภารกิจสำคัญที่รอ กสทช. ชุดใหม่ มาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการประมูลคลื่นในอนาคต การบริหารจัดการผู้ประกอบการ OTT (Over The Top) และ การจัดการสิทธิวงโคจรดาวเทียมของไทย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 เมษายน เว็บไซค์ราชกิจจานุเกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวม 5 คน มีรายละเอียดดังนี้
1.ศ.คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ
2.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการด้านกิจการกระจายเสียง
3.ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการด้านกิจการโทรทัศน์
4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
5.รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ ด้านอื่นๆที่ยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์

แหล่งข่าววิเคราะห์ต่อไปว่า กสทช.ชุดใหม่ มีภารกิจสำคัญที่ท้าทายรอพิสูจน์ฝีมืออยู่ด้วยกันถึง 3 ประเด็น ซึ่งวงการโทรคมนาคมและวงการดิจิทัล เห็นว่าควรเร่งดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ภารกิจที่ 1 คือ เรื่องการประมูลคลื่นในอดีตที่กลายเป็นภาระของผู้ประกอบการในปัจจุบัน และการขาดความแข็งแรงในการประมูลคลื่นใหม่ รวมถึง 6G ในอนาคต รวมไปถึงการต่อยอด 5G เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการประมูลคลื่นความถี่อย่างคลื่น 3500 MHz ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ตลาดเคยเป็นของผู้ขายหรือของ กสทช.ไม่ว่าจะขายคลื่น 3G , 4G หรือแม้กระทั่ง 5G บางส่วนก็ขายหมดโดยได้ราคาดีด้วย ทำเงินเข้ารัฐหลายแสนล้านบาท แต่ก็กลายเป็นภาระทั้งจากค่าไลเซนต์ที่แทบจะแพงที่สุดในโลก เกิดภาระดอกเบี้ยทำให้ยามนี้สายตาที่มองคลื่นความถี่ของโอเปอเรเตอร์เริ่มเปลี่ยนไป เพราะเท่าที่มีอยู่ก็มากเกินพอจำเป็นไปแล้ว เพราะตลาดผู้ใช้บริการก็มีเพียงเท่านี้ การเติบโตไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากมายนัก ถึงตอนนี้ยังมีโอเปอเรเตอร์บางรายอยากคืนคลื่น นอกเหนือจาก NT ที่อยากจะคืนความถี่ 700 MHz ทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการด้านต้นทุนถือเป็นความท้าทายในการอยู่รอดทางธุรกิจ

ภารกิจที่ 2 คือ เรื่องการล่าอาณานิคมของผู้ให้บริการ OTT ( Over The Top) ในขณะที่โอเปอเรเตอร์ต้องลงทุนเครือข่ายไปสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT อย่างเช่น เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมากซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เนื่องจากสังคมปัจจุบันผู้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มาก วันนี้โควิดได้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT ดังนั้นการกำกับ OTT วันนี้ไม่ใช่แค่ กสทช.หน่วยงานเดียว ยังต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ในการแสดงวิสัยทัศน์ของ 5 กสทช.ไม่รู้พูดถึงเรื่อง OTT ไว้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง และแต่ละคนมองเห็นขนาดของปัญหาใหญ่เล็กแค่ไหน และมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งเคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องก็คือ 1.ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง 2.ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียก็มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้วยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และ 3.ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ”

ภารกิจที่ 3 คือ การประมูลวงโคจรดาวเทียมกสทช.มีหน้าที่ต้องรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งวงโคจรต้องมีดาวเทียมใช้งาน หากประเทศไทยถูก ITU ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง (ไม่มีการใช้คลื่นความถี่บนดาวเทียมจริง) ย่อมมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกยกเลิกสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและคลื่นความถี่ที่ไม่มีการใช้งานจริงออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ (Master International Frequency Register) และส่งผลให้ประเทศไทยสิ้นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้น

“ไม่มีช่วงน้ำผึ้งพระจันทร์แล้วตอนนี้ ต้องรีบแก้ปัญหาแค่ 3 เรื่องถือเป็นการรับน้องใหม่ นอกจาก 3 เรื่องที่สำคัญข้างต้นแล้ว เรื่องทรูควบรวมกับดีแทค ที่รับไม้ต่อจาก กสทช.ชุดเดิม ก็มีกระบวนการค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว โดยดีล ทรู ดีแทค นี้ เป็นดีลที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยผู้ถือหุ้นทรูอนุมัติการควบรวมกิจการกับดีแทคเป็นเอกฉันท์ 99.37% ส่วนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดีแทคสัดส่วน 89% โหวตผ่านอนุมัติแผนควบรวมกับทรู”

นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจจากต่างประเทศมีความคาดหวังว่า หน่วยงานกำกับดูแลของไทย จะดำเนินการตามกรอบเวลา และ ตามกฎ ระเบียบที่กำหนดไว้ เท่าเทียมกับทุกรายเหมือนกับที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีความพร้อมในการเดินหน้ารับเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ส่วนในด้านของผู้บริโภค กสทช. ชุดเดิม ได้วางบรรทัดฐานไว้ดีแล้ว โดยประเทศไทยถูกควบคุมราคาโดยกสทช.ทำให้มีราคาค่าบริการต่ำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก กรณีนี้ กสทช.ชุดใหม่ เพียงดำเนินการรักษามาตรฐานเดิมให้ได้ก็จะไม่กระทบต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมีเพียงผู้นำตลาดเท่านั้นที่มีกำไรสูง และต้นทุนต่อลูกค้าต่ำ ในขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลือยังอยู่ในภาวะยากต่อการทำกำไร ดังนั้นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทุกรายมีความแข็งแรงมากขึ้น น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรูรวมกับดีแทค และบ.โทรคมคมแห่งชาติ (NT) มีความแข็งแกร่งมากขึ้น จะทำให้เกิดการแข่งขัน และสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ได้อย่างทัดเทียมโดยที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ กสทช.ชุดใหม่จะต้องเล่นบทบาทเป็นผู้สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น