xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เดินเครื่องฟังความเห็นควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ควบรวมทรู และดีแทคเดินหน้าตามโรดแมป กสทช.เปิดรับฟังความเห็นให้ครบ ครอบคลุมทุกมิติ เริ่มจากรับฟังความคิดเห็นในวงจำกัด (Focus Group) กลุ่มแรก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช้าวันจันทร์ 9 พ.ค.ที่จะถึงนี้

เมื่อ กสทช.ชุดใหม่เริ่มทำหน้าที่ วันนี้กระบวนการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคตามโรดแมปเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังแล้ว

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงมติที่ประชุม กสทช.นัดแรกเมื่อ 27 เม.ย.2565 ที่เห็นชอบแผนงาน (Roadmap) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดประชุม Focus Group เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด

ทั้งนี้ กสทช. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทคครั้งที่ 1 สำหรับกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่สนใจในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น.ที่ สำนักงาน กสทช. ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมงานรวมทั้งแสดงความคิดเห็นได้ที่สำนักงาน กสทช.

ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถรับชมผ่านช่องทาง Facebook Live ของสำนักงาน กสทช. และเว็บไซต์ กสทช. ซึ่งหากประชาชนต้องการแสดงความเห็นให้แสดงผ่านทางช่องแชตใน Facebook Live หลังจากจบงานการรับฟังความคิดเห็น สำนักงาน กสทช. ยังเปิดรับความคิดเห็นจากทุกคนผ่านทางอีเมล merger@nbtc.go.th โดยสามารถส่งความเห็นมาได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 สำหรับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ครั้งที่ 2 กลุ่มนักวิชาการ และครั้งที่ 3 กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป สำนักงาน กสทช. จะแจ้งกำหนดการให้ทราบในโอกาสต่อไป

นี่เรียกว่าก้าวแรกที่แท้จริงของ กสทช.ในการเดินเครื่องการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค เพื่อตอบโจทย์ในทุกมิติอย่างครบถ้วน

จากที่ก่อนหน้านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคและการค้าปลีก-ค้าส่ง ภายหลังจากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ทรู ดีแทค เอไอเอส เพื่อร่วมให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการและความคืบหน้าในการดำเนินการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค กฎหมาย กฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การเตรียมการและความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานต่อการดำเนินการรวมธุรกิจดังกล่าว ใน 7 ประเด็นประกอบด้วย

1.ประเด็นด้านผลกระทบต่อตลาดโทรคมนาคม 2.ประเด็นด้านข้อกฎหมาย 3.ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมและชุดใหม่ 4.ประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระของ กสทช. เพื่อมาพิจารณาให้ความคิดเห็นหรือจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย 5.ประเด็นข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศ 6.ประเด็นแนวทางการกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแล และ 7.ประเด็นข้อกังวลของสังคมและองค์กรต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของนักวิชาการ องค์กรผู้บริโภค และนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นหนังสือถึง กสทช.เพื่อเสนอต่อ กสทช.ให้พิจารณาให้รอบด้านครบทุกมิติ

โดยนักวิชาการบางรายยังเห็นว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวกำลังเป็นบททดสอบว่าระบบกฎหมายไทยสามารถคุ้มครองการแข่งขันในตลาดได้หรือไม่ หากการควบรวมผ่านการพิจารณาได้โดยง่าย ผู้ตรวจสอบทำโดยเร่งรีบ ไม่มีความรอบด้านในการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยอคติที่ต้องการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเหนือผลประโยชน์ของสังคม

พร้อมกับยกประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจ อย่าง 1.การกำหนดขอบเขตตลาดที่ต้องอยู่บนฐานข้อเท็จจริง 2.การพิจารณาการควบรวมไม่ควรรีบร้อน ต้องโปร่งใสและรับฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้าน 3.การให้เหตุผลว่าด้วยความจำเป็นและประโยชน์ของการควบรวม 4.การใช้อำนาจห้ามควบรวมในฐานะผู้กำกับดูแล 5.การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจก่อนการควบรวมจะเสร็จสิ้น 6.การเผยแพร่คำวินิจฉัยต่อสาธารณะ และ 7.ระบบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย

ดังนั้น การควบรวมทรู-ดีแทคในวันนี้แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เริ่มออกตัวจากจุดสตาร์ทแต่เดินหน้ามาไกล จำเป็นอย่างยิ่งที่ กสทช.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อตอบคำถามให้ทุกกลุ่มอย่างครอบคลุมรอบด้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น