วงเสวนามองต่างมุมควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” “สามารถ” เชื่อแข่งขันเป็นธรรมขึ้น เหตุผู้ตลาดวันนี้ทิ้งห่างเกินไป “พิชัย-ศิริกัญญา-ระวี-สุกัญญา” หวั่นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กระทุ้ง กสทช.พิจารณารอบด้าน
ในวงเสวนา นโยบายสาธารณะในการกำกับดูแลการแข่งขันและคุ้มครองผู้บริโภค ในหัวข้อ นโยบายสาธารณะกับปัญหาการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ที่จัดขึ้นโดยสภาองค์การผู้บริโภค ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย, นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมวงเสวนา โดยยกกรณี ที่จะมีการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
นายสามารถ เห็นว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมกำลังปรับตัว เป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนดลยีดิจิทัล เพื่อรองรับเทคโนโลยีทันสมัย อาทิ ระบบ AI เทเลเมเนซิส และสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม และใช้เงินจำนวนมาก ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่สามารถลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ก็คือ ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง และมีผลประกอบการดี ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ 4 รายหลักคือ บริษัทเอไอเอส ทรู ดีแทค และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่คิดจารายได้ ไม่ใช่จำนวนซิม นั้นปรากฎว่า เอไอเอส มีร้อยละ 41 ทรูร้อยละ 26.9 ดีแทคร้อยละ 18.4 และ NT มีส่วนแบ่งร้อยละ 3.3 โดยบริษัทเอไอเอสมีกำไรมากที่สุดถึง 2 พันล้านบาท จากกำไรชี้ให้เห็นว่าเอไอเอสเป็นผู้นำตลาดโทนคมนาคมอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือรายอื่นทุกรายอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน หรือขาดประสิทธิภาพ ตลาดถูกชี้นำโดยผู้มีศักยภาพที่เหนือกว่า หรือทำให้การแข่งขันบิดเบี้ยว
นายสามารถ กล่าวต่อว่า หากรวมกิจการระหว่างทรูกับดีเทค ส่วนแบ่งการตลาดจะเปลี่ยนเป็น เอไอเอส ร้อยละ 41 ทรูและดีแทค ร้อยละ 45.3 และ NT ร้อยละ 13.3 จึงเห็นได้ว่า เอไอเอส ทรู ดีแทค จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใกล้เคียงกัน แต่ NT ยังมีส่วนแบ่งการตลาดยังน้อย เพราะ NT แม้มีงบถึง 3 แสนล้านบาท แต่ไม่ลงทุนในธุรกิจอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้การแข่งขันจะสูงผลประโยชน์ย่อมตกไปยังผู้บริโภค เช่นได้ใช้เครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น สัญญาณที่เพิ่มขึ้น และศูนย์บริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการควบรวมทรูกับดีแทค จะทำให้มีผู้ประกอบการมีความสามารถใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีการแข่งขันเท่าเทียมกัน แต่ กสทช.ต้องเร่งออกกฎระเบียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกราย มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน และเสียภาษีเดียวกัน ดังนั้นส่วนตัวสนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมส่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ด้าน นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการแข่งขันตลาดเสรี แต่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรูและดีเทค เพราะจะสร้างปัญหาหลายเรื่องที่ตามมา เช่นเป็นการปิดกลั้นคนรุ่นใหม่ หรือผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขัน ย่อมเป็นการผูกขาดทางธุรกิจ ซึ่งในต่างประเทศปัญหาการผูกขาดกับริบัทรายใหญ่แทบไม่มี เมื่อมีผู้เล่นน้อยราย ราคาย่อมสูงตามาอย่างแน่นอน โดยผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และเชื่อว่า กสทช.จะไม่การันตีว่าจะสามารถควบคุมราคาได้หรือไม่ เพราะการลงทุนด้านนี้ยังมีเทคโนโลยีด้านอื่นๆอีก
สอดคล้องกับ น.ส.ศิริกัญญา ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะเป็นการซ้ำเติมภาระของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพราะทุกคนย่อมมีค่าใช้จ่ายด้านโทรศัพท์ อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ประชาชนแต่มีลูกค้าที่เป็นบริษัทด้วย ที่จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ในการพัฒนาสินค้า ซึ่งต้องใช้อินเตอร์เน็ต เพิ่มขึ้น ก็เป็นต้นทุนที่เพิ่ม ดังนั้นการควบรวมทำให้ไม่สามารถยอมรับได้ และคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะปัญหาจะตามมาอย่างแน่นอน คือ การกำกับดูแลในเรื่องนี้
ส่วน นพ.ระวี ยืนยันจุดยืนของพรรคคืออยากเห็นการแข่งขันทางธุรกิจที่เสรี เป็นธรรม ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ดังนั้นเมื่อมีข่าวนี้ควบรวมนี้ออกมาตนเองเสนอญัติตินี้ ต่อสภาฯทันที เพื่อให้มีการศึกษาเรื่องนี้ พร้อมส่งเสริมการลงทุนเอกชนที่เข็มแข็ง เติบโต และพัฒนาแข่งกับต่างประเทศ โดยเมื่อเติบโตต้องไม่ผูกขาด หรือ เกเร จึงขอฝาก ไปยัง กสทช. ชุดใหม่ว่า การพิจารณาจะไม่จบลงแบบมวยล้มต้มคนดู และเห็นว่ารัฐบาลจะหาวิธีที่ทำให้การลงทุนในด้านนี้ต่ำลง โดยรัฐบาลเป็นเป็นตัวกลางหรือร่วมลงทุน พร้อมสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้เกิดขึ้นได้
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา ฝากนักการเมืองไปขับเคลื่อนในสภาฯ เพื่อให้มีการชะลอเรื่องการควบรวมไปก่อน หวังให้พิจารณาอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง และเรียกร้อง กสทช.ชุดใหม่ดำเนินการอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกัน คาดหวังว่า NT จะซื้อดีแทค นำไปพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อประชาชนได้ประโยชน์.