xs
xsm
sm
md
lg

ซุปเปอร์บอร์ดยันไม่มีมติยื่นค้านควบรวมทรู-ดีแทค! อ้าง ‘ณภัทร วินิจฉัยกุล’ค้านแค่ส่วนตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กก.กตป. ยัน “ณภัทร วินิจฉัยกุล” ยื่นหนังสือถึงกสทช. ปมควบรวมทรู-ดีแทคเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวซุปเปอร์บอร์ด กังขาได้รับมอบหมายจากหน่วยงานใดหรือไม่? เผยเจ้าตัวรับผิดชอบเฉพาะกิจการกระจายเสียง และไม่เคยนำเรื่องควบรวมมาหารือที่ประชุม แนะกสทช.ควรทำความเข้าใจกับสังคม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด กสทช. เปิดเผยว่าจากกรณีที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวการยื่นหนังสือต่อกสทช.ของคณะกรรกรรมการกตป. โดย นายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในคณะกรรมการฯ เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมกิจการของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ บมจ.โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) นั้น ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการกตป. มิได้มีมติหรือมอบหมายให้ นายณภัทร ไปดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู และบริษัทดีแทคแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ซึ่งที่ผ่านมานายณภัทรเคยเป็นประธานกรรมการ กตป. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 - วันที่ 19 มี.ค. 2563 และต่อมา ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการฯ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2563 จนถึงปัจจุบัน และในช่วงที่นายณภัทรดำรงตำแหน่งประธานกตป.ก็ไม่เคยหารือ หรือนำเรื่องเกี่ยวกับประกาศการควบรวมหรือถือหุ้นไขว้ในกิจการมาหารือ รวมถึงการควบรวมธุรกิจของ บริษัท ทรู และบริษัทดีแทค เข้าหารือกับคณะกรรมการกตป.แต่ประการใด ทั้งนี้บุคคลที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่กตป. นอกจากจะมีความรู้ความสามารถในด้านการตรวจสอบติดตามและประเมินผลแล้ว กฎหมายยังได้กำหนดคุณสมบัติ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแต่ละด้านของ กตป. ทั้ง 5ด้าน 5 คน จำแนกตามด้านตามคุณลักษณะ และความสามารถของกรรมการแต่ละด้าน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ให้มีความเป็นอิสระในการทำงานอย่างเป็นอิสระ แยกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่านายณภัทรมีอำนาจหน้าที่ด้านกิจการกระจายเสียง มิได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกรรมการด้านอื่นๆ แต่อย่างใด

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา  ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธาน  นายณภัทร วินิจฉัยกุล ด้านกิจการกระจายเสียง, ดร.บัณฑิต ตั้งประเสริฐ ด้านกิจการโทรทัศน์, พันเอก ดร.ธนัทเมศร์ ภัทรณรงค์รัศม์ ด้านกิจการโทรคมนาคม, ดร.พันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และนายไพโรจน์ โพธิไสย ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2562 เป็นต้นมา มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ และประเมินผล การดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.

“กรณีนี้จึงเป็นที่น่าสังเกตการขับเคลื่อนของ นายณภัทร ที่อ้างถึงตำแหน่งการเป็นซุปเปอร์บอร์ด โดยสื่อระบุว่า ซุปเปอร์บอร์ด ยื่นหนังสือ กสทช. ค้านดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” กรณีนี้ กสทช. ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่า การยื่นหนังสือดังกล่าว ไม่ได้เป็นมติของซุปเปอร์บอร์ด และกสทช.ควรทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่านายณภัทร ดำเนินการคัดค้านโดยส่วนตัว หรือได้รับมอบหมายจากหน่วยงานใดหรือไม่? เพราะหากไม่ชัดเจน จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ว่า มีวัตถุประสงค์ใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะมิได้มีการมอบหมายให้ดำเนินการแต่อย่างใด”แหล่งข่าวระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น