นักวิชาการโทรคมนาคม วิเคราะห์หลังควบรวมทรูดีแทค ผู้เล่นในตลาดน้อยลงหรือไม่ ชี้สนามแข่งขันเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม จะนับเฉพาะผู้ประกอบการโทรคมฯต่อไปอีกไม่ได้ มองอนาคตผู้ประกอบการโทรคมฯ ต้องแต่งตัวใหม่ ปรับตัวใหม่ เพื่อต่อกรกับเทคโนโลยี OTT
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ได้โพสต์บนเฟสบุ๊ก Suebsak Suebpakdee วิเคราะห์กรณีควบรวมทรูดีแทคจะทำให้ผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมน้อยลง หรือลดจำนวนลงหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นมาของตลาด เเละผู้เล่นโทรคมในประเทศไทย สภาพความเป็นไปจริงๆ ในตลาดโทรคม ณ ปัจจุบัน และทางเลือก ทางรอด เเละแนวทางการทำธุรกิจของผู้เล่นในฐานะผู้ประกอบการ(ไทย) และระบุว่าแม้หลังควบรวมจำนวนผู้ประกอบการโทรคมฯอาจจะน้อยลง แต่บนสนามแข่งขันหรือเป้าหมายของผู้ประกอบการจะนับรายเฉพาะผู้ประกอบการโทรคมไม่ได้ เพราะคนที่โดดลงมาเป็นผู้เล่น สร้างบริการ เเละแข่งขันในตลาดที่วันนี้เปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม จึงสรุปได้ว่าผู้เล่นในกลุ่มนี้ไม่ได้น้อยรายอย่างที่เข้าใจหรือควรนับแต่ผู้ประกอบการโทรคมอีกเเล้ว
ประเด็นแรก ต้องเข้าใจสภาพความเป็นมาของตลาด เเละผู้เล่นโทรคมในประเทศไทย เพื่อให้มองปัจจุบันได้อย่างเข้าใจ : อุตสาหกรรมโทรคมไทย รวมถึงอุตสาหกรรมโทรคมของโลกนั้นอาจกล่าวได้ว่าในช่วง "ขาขึ้น" หรือช่วงรุ่งโรจน์นั้น มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนมากมาย หรือเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของทั้งบริการ เทคโนโลยี รวมถึงโอกาสในการทำธุรกิจโทรคม หลายคนคงอาจไม่ทราบว่าแท้จริงเเล้วตลาดบ้านเราเคยผ่านยุคที่มีผู้ประกอบการโทรคมมากมายหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุน ทั้งทุนไทย ทุนเทศ สมัยรุ่งเรื่องเฟื่องฟู นอกจากรัฐวิสาหกิจสองราย เรายังมีหลายบริษัทไล่ตาม timeline มา ยุคเเรกๆ อาทิ ตะวันโมบายเทเลคอม, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส, แอดวานซ์ อินโฟร์ มายุคกลางๆ เรายังมีเพิ่มทั้ง ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือการแตกพาร์คลื่นย่านนึงจนเกิดผู้ประกอบการอีก 3 รายที่โดดลงมาทำมือถือได้แก่ IEC(WCS), Samart Hello(DPC), TAO(Orange) หรือฝั่ง TOT-CAT ก็เปิด ThaiMobile ก่อนจะผ่านการเปลี่ยนถ่ายมือ ยุบรวมเเละควบรวม รีแบรนด์เปลี่ยนชื่อ จนมาเป็นยุคปัจจุบันที่กลายเป็นรายหลักๆ 3-4 ราย อย่างที่เห็น
จะเห็นว่ากลไกการเปลี่ยนไปของผู้เล่นในตลาดโทรคมบ้านเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ได้คงอยู่ยั้งหรือไม่เกิดการโยกย้ายของ "ทุน" ของนักลงทุนจะไทยหรือเทศ มันเป็นตามปัจจัยหลายอย่างทั้งตลาด โอกาส นโยบาย เเละตัวแปรที่สำคัญมากคือ "เทคโนโลยี" (เดี๋ยวจะพูดในหัวข้อถัดๆไป เพราะตัวเทคโนโลยีที่เปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน เป็นเรื่องสำคัญเเละสร้างความเปลี่ยนแปลง) ในยุคที่เรียกว่าโทรคมเป็นขาขึ้น คนก็อยากจะมาลงทุนในธุรกิจมือถือ ที่ตอนนั้นแม้ว่าเรื่องการประมูลจะยังไม่เกิด แต่ทางออกของการได้ทำคือระบบสัมปทานที่เกิดจากการถือครองคลื่นโดยรัฐ เอกชนแต่ละรายที่เข้ามาจึงต้องดิ้นรนเพื่อแลกกับการ "ได้คลื่นเเละได้ทำ" เรื่องที่มาของการได้คลื่นในยุคนั้นจึงดูสลับซับซ้อนกว่าปัจจุบันมาก ไม่มีกฏตายตัว ไม่มีตัวต้นทุนที่เท่ากันเป็นบรรทัดฐาน หรือไม่มีแม้กระทั่งรูปแบบที่ชัดเจนของ numbering แบบกด 01 081 อะไรแบบทุกวันนี้ ยุคแรกการทำมือถือโดยการเอาเลขหมาย 02 มาพ่วง DID ก็ทำ (ใครจำได้คงนึกถึง 02239xxxx 02353xxxx ออก)
นอกจากเรื่องต้นทุนคลื่น ต้นทุนบริการ ต้นทุนอื่นๆ ที่ไม่ได้เท่ากันในยุคขาขึ้น แต่อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบบริการต่างๆ ในยุคนั้นค่อนข้างเอื้อให้คนที่เข้ามาทำมือถือสามารถสร้างบริการเเละรายได้ได้ เพราะบริการยุคนั้นผูกกับผู้ให้บริการทั้งค่าเครื่อง ค่าโทร หรือบริการเสริมต่างๆ แม้ในยุค 2G ที่เริ่มมีบริการดาต้าแบบอืดๆ ได้แล้วการให้บริการคอนเท้นแบบ WAP แบบ Ringtone แบบ TeleMedia หรือแม้แต่บริการคอนเท้นผ่าน SMS (ลองนึกถึงบริการรับข่าวผ่าน SMS ครับ) ที่พอจะทำได้ก็ต้องทำผ่านผู้ให้บริการ เป็นยุคที่ไม่มีคนทำแข่งได้ถ้าไม่ร่วมกับผู้ให้บริการ ยุคนี้จึงถือว่าเป็นยุคตั้งต้นที่ดีมากสำหรับผู้ประกอบการที่สร้างฐานลูกค้าได้เยอะ หรือมีต้นทุนคลื่นต่ำ เเละยิ่งจะดีมากๆ ถ้าฐานนั้นสร้างได้เยอะที่สุดในตลาดเพราะจะเป็นฐานสำคัญอย่างมากต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2 สภาพความเป็นไปจริงๆ ในตลาดโทรคม ณ ปัจจุบัน : ยุคทองโทรคมแบบระบบสัมปทานนั้นได้ค่อยๆหมดไป จากการพยายามเลิกการผูกขาดเเละเปิดเสรี ระบบประมูลคลื่นถูกเข้ามาแทนที่ สัมปทานที่เคยมีเคยได้ต้องค่อยๆ คืนเเละหมดไป ใครที่เข้าสู่ตลาดก่อนหรือหลังจากยุคสัมปทาน หรือสัมปทานขายต่อก็แบกต้นทุนที่ต่างระดับ โดยมีหวังที่การประมูลคลื่นพร้อมๆกับการเกิดของ กทช. เเละมาเป็น กสทช. ด้วยหวังว่ากติกาประมูลจะเอื้อให้ต้นทุนการประกอบการเป็นธรรม ล้างระบบวิ่งเต้น หรือการใช้นโยบายเอื้อ ส่วนระหว่างทางที่เดินนั้น เอกชนรายที่ยื้อไม่ไหวจากการแข่งขัน จากต้นทุน จากตลาดที่เริ่ม (แค่เริ่มก่อนนะครับ) จะอิ่มตัวก็ค่อยๆ ถอยไปทีละราย ทุนต่างประเทศถอยได้ก็ถอนโบกมือลา ทุนในประเทศรายไหนแข็งแกร่งมีทุนก็ซื้อควบรวม จะควบรวมเเล้วเอามารีแบรนด์ทำตลาดก็มี หรือซื้อมาเพื่อเอาสิทธิ์ใช้แค่คลื่นจากสัมปทานก็มี ก่อนเข้าสู่ยุคการประมูล!!!
หลังยุคการประมูลคลื่น ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวไม่ได้ราบรื่น ไม่ได้ฉับไวจากการประมูลครั้งแรกบนคลื่น 2100 ที่ล่าช้าจนกว่าเราจะได้ใช้คลื่น 3G ระบบประมูลช้า 10 ปี!!! การประมูลคลื่นแม้จะเกิดได้ต่อเนื่องขึ้นในยุคหลังอีกหลายคลื่น ดูเหมือนจะรีเซ็ตกติกาการประกอบการให้แฟร์ขึ้น นำเงินเข้ารัฐก้อนมหึมา หลังประมูลคลื่นน้อยคนที่จะรู้ว่าต้นทุนของการประกอบการเหมือนจะมานับ 1 ใหม่ เพราะเมื่อล้างระบบสัมปทาน เสาก็ BTO คืนเจ้าของสัมปทานไปเเล้ว การสร้างเครือข่ายแบบนับ 1 คือลงเสาใหม่แบบคิดซะว่าลงทุนครั้งนี้จะได้เป็นเสาของตัวเองก็ตามมา ด้านเทคโนโลยีก็ขยับตามกระเเสแความก้าวหน้าพาเราผ่าน 3G 4G มา 5G ที่กำลังฮือฮา หลายเรื่องเหมือนจะดี แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เกิดผู้เล่นใหม่อย่าง OTT
เมื่อมือถือยุคใหม่ๆ มันทำได้มากกว่ากดโทรออก แต่มาพร้อมหน้าจอเเละการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายที่ทันสมัย ทั่วถึง บริการแพล็ตฟอร์มหลากหลายก็ตามมา พร้อมๆ กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เราใช้บริการเเละแทบจะฝากชีวิตกับเจ้าหน้าจอจิ๋วๆ ที่ทำได้ทุกอย่าง ดูหนังฟังเพลง ดูข่าว เทรดหุ้น สั่งของ ขายของ ประชุม เรียน ดูละคร ทีวี และแน่นอนแม้แต่บริการดั้งเดิมแบบ การโทร เเละส่งข้อความ!!! เรียกว่าทำได้ทุกอย่างบนมือถือ บนคลื่นที่ประมูล บนเครือข่ายที่ต้องลงทุน แต่รายได้ที่เกิดกลับไปเกิดที่ผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์ม หรือเรียกรวมๆ ว่า OTT
หากจะมองว่า OTT เป็นเรื่องดีในการสร้างความสะดวกสบายย่อมไม่ผิด แต่การเกิดเเละการปล่อยให้ OTT ประกอบการได้บนฐานต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องอยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ทั้ง องค์กร จ่ายภาษี กำกับได้ ไหนจะโดนควบคุมสารพัด กับผู้ให้บริการ OTT ระดับโลกที่ค่อยๆ รุกคืบแทรกซึมบริการ ดูดเม็ดเงินตัดธุรกรรมที่ต่างประเทศ เสมือนเป็นฝันร้ายยุคสัมปทานที่ผู้ประกอบการ OTT เหล่านี้มีต้นทุนประกอบการที่ต่ำกว่ากลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง แถมรอบนี้เหมือนจะหนักกว่าเพราะตลาดใหญ่ขึ้น แย่งพื้นที่ตลาดได้มากขึ้น ที่สำคัญไร้การกำกับจากภาครัฐ!!! หากจะเทียบเคียงถึงความหนักข้อของ OTT ที่กระทบกับอุตสาหกรรมอื่นอยากให้ลองนึกถึงอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ที่มีสตอรี่คล้ายๆ กัน ผ่านการประมูลช่องด้วยเม็ดเงินสูงๆแบบเดียวกันด้วยหวังว่าจะเปิดเสรีช่องทีวี แล้วก็มาโดนทุบด้วย OTT ผ่านแพล็ตฟอร์มจนกระทบหนักแบบเดียวกัน ณ ปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3 ทางเลือก ทางรอด เเละแนวทางการทำธุรกิจของผู้เล่นในฐานะผู้ประกอบการ(ไทย) เหลืออะไรบ้าง : เมื่อการทำธุรกิจแบบ "โทรคมล้วนๆ" มันไม่เหลือที่ให้ยืน ทางเลือก ทางรอดสำหรับคนที่เคยอยู่ในตลาด เเละลงทุนไปเเล้วรวมถึงมีภาระจากค่าประมูลคลื่นที่ต้องจ่ายตามงวดไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า การจะให้อยู่เฉยๆ ดู OTT ที่เข้ามาวิ่งดาต้าบนเครือข่ายกอบโกยเม็ดเงินเเละผลกำไร(ออกนอกประเทศ) โดยที่เจ้าของเครือข่ายแท้ๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยมีแต่ลงทุน ไม่ต้องอะไรเลยครับ โทรหากันเดี๋ยวนี้เราๆ ยังแทบไม่กดโทรผ่าน Cellular กันเเล้ว กดโทรผ่านแอป VDO Call ผ่านแอป อาจจะบอกว่าเพราะฟรี แต่วัตถุประสงค์จริงๆ แพล็ตฟอร์มแบบ Super App ต่างๆ ก็พยายามดึงให้เราเข้าไปใช้เพื่อต้องโดน service ตัวไหนของเค้าเข้าสักตัว ทั้งหมด ณ ตอนนี้ต้องบอกว่ามันเสมือนเกิดเป็นผู้เล่นในตลาดรายใหม่ที่ไม่ใช่สนามโทรคมเเล้ว แต่มันเป็นสนามการเเข่งขันใหม่บนโลกเทคโนโลยี หรือจะบอกว่าก็ในเมื่อพฤติกรรมผู้ใช้งานมันเปลี่ยนไปเเล้วการจะบอกว่าผู้เล่นโทรคมยังแข่งกันแค่ 2-3 รายเท่าเดิมคงไม่ถูกต้องนัก
มาถึงจุดนี้ทางเลือกเเละทางรอดสำหรับผู้ประกอบการจริงๆ มันเลยเหมือนเหลือแค่จะถอยหรือจะต่อกร ถ้าเลือกถอยมันก็ไม่ได้ง่ายแบบเอาใบอนุญาตไปคืนเเละเดินออกมา เพราะ กสทช. ก็คงไม่ยอม แต่ถ้าเลือกสู้การจะสู้ทำธุรกิจต่อเพื่อต่อกรกับเทคโนโลยี OTT ก็ต้องแต่งตัวใหม่ ปรับตัวใหม่ ไม่ใช่สู้โดยการยังรอความหวังรายได้จากการโทร SMS หรือขายดาต้าที่โดนกดราคาจากการตัดราคาเเข่งขันกันเองเเละควบคุมเพดานราคา เมื่อทำเองคนเดียวไม่ได้ความเชี่ยวชาญไม่พอ หรือการจะโดดทำตลาดแปรตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยีบ้างก็คงไม่ได้หวังแต่ตลาดประเทศไทย 69 ล้านคน หรือขอบเขตประเทศเพราะ OTT ที่ลุกเราก็ข้ามเขตประเทศมาให้บริการแถมเราเองก็ไม่มี Super App ตัวไหนจะเป็นแพล็ตฟอร์มหลักจริงๆ ของเราเอง หลายคนก็พูดกันบ่อยๆ ว่านี่มันคือการลุกคืบมายึดหัวหาดหรือการครอบงำการบริการบนโลกออนไลน์ไว้หมดเเล้วชัดๆ
.
ดังนั้น ถ้าย้อนไปที่หัวข้อที่ตั้งโจทย์ไว้ว่าจำนวนผู้ประกอบการโทรคมน้อยรายหลังควบรวมหรือไม่? ก็อาจจะจริงแต่ต้องมองด้วยว่าสนามแข่งขันหรือเป้าหมายของผู้ประกอบการอาจจะนับรายเฉพาะผู้ประกอบการโทรคมไม่ได้ เพราะคนที่โดดลงมาเป็นผู้เล่น สร้างบริการ เเละแข่งขันในตลาดที่วันนี้เปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม ผู้เล่นในกลุ่มนี้ไม่ได้น้อยรายอย่างที่เข้าใจหรือควรนับแต่ผู้ประกอบการโทรคมอีกต่อไป
เฟสบุ๊ก Suebsak Suebpakdee ทิ้งท้ายว่า วันนี้ขอเป็นประเด็นไว้ประมาณนี้ก่อนจะมาวิเคราะห์ต่อว่า เเล้วทางรอดที่ว่ารวมเเล้วมันจะเป็นเเบบไหน ทำแบบไหน กระทบใครบ้าง รัฐควรทำอะไร องค์กรกำกับควรดูตรงไหน เเละเราๆ ผู้ใช้บริการอยากเห็นอะไร
ที่มา :
https://www.facebook.com/100000197718572/posts/5805019019514631/?d=n