xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. ชุดใหม่กับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย (NATIONAL CHAMPION) สู่ศึกระดับภูมิภาค หลังถูกบอนไซไทยแลนด์นับทศวรรษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ความคาดหวังที่มีต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง คือ ต้องสามารถดำเนินการเรื่องที่เป็นความสำคัญระดับประเทศได้ทันที โดยบทบาทควรเปลี่ยนไปจากอดีตที่เน้นการกำกับมากกว่าการส่งเสริม ซึ่งเป็นผลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยหลายรายต้องล้มหายตายจากออกจากอุตสาหกรรมกันไป ในขณะที่ภาพใหญ่การแข่งขันในระดับโลกนั้น อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยไม่สามารถเติบโตขยายกิจการไปต่างประเทศได้ โดยถูกบอนไซกลายเป็นอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะที่ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ใช้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสด้านความมั่นคง เพราะโทรคมนาคมเปรียบเสมือนรากฐานของธุรกิจดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ กสทช.ชุดใหม่จึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในไทยปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่แค่การแข่งขันระดับภูมิภาค แต่รวมถึงการแข่งขันกับผู้ประกอบการบริการดิจิทัล (OTT) ที่ได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งกฎหมายไทยยังล่าช้า และบริษัท OTT ที่กำลังเข้ามาโลดแล่นในตลาดไทยนั้นมีมูลค่ามหาศาล โดย กสทช. ยังไม่ได้เข้ามาควบคุม เพียงแค่บริษัท OTT จากต่างประเทศรายเดียวก็มีมูลค่าบริษัทมากกว่าโทรคมนาคมไทยทุกรายรวมกัน

“เอกราชด้านเทคโนโลยีของไทยขึ้นอยู่กับบทบาทของ กสทช. ที่ต้องเรียนรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยวางใจว่า ภาพใหญ่จะได้รับความสนใจ และส่งเสริมให้คนไทยไปไกลในระดับโลก โทรคมนาคมของประเทศไทยถูกสกัดจุดให้เป็นผู้เล่นแค่ในระดับประเทศ เพราะหากขยายออกไปก็ต้องไปชนกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของผู้เล่นในระดับโลก โดยเฉพาะซิงเทล ที่ทราบดีว่าโทรคมนาคมไทยควรเป็นยักษ์ใหญ่ในขวดโหล ไม่ควรถูตะเกียงให้ออกไปแข่งในระดับภูมิภาคได้”

ภาพอดีตที่ผ่านมาสอนอะไรเราบ้าง?

บทบาท กสทช. ในอดีตถือว่านักวิชาการมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดเงื่อนไข กรอบวิธีคิด ซึ่งเน้นหนักไปทางกำกับมากกว่าส่งเสริม ทำให้ผู้ประกอบการไทยอ่อนกำลังลง อย่างเช่น การปลดแอกประเทศไทยจากเครือข่าย 2G ที่อยู่ในกลุ่มล่าช้าที่สุดในโลก ในช่วงปี 2553 นั้น สิงคโปร์และประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ปรับตัวไปเป็นระบบ 3G เรียบร้อยแล้ว แต่ในประเทศไทยมีการล้มการประมูลหลายครั้ง และการเลื่อนการประมูล 3G ทำให้ผู้เล่นบางรายที่ถือสัมปทานคลื่น 2G หมดอายุลงก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตใหม่ นอกจากนี้ การประมูลคลื่นใหม่ทำให้ความได้เปรียบในการแข่งขันต้องสูญเสียไป เช่น กันยายน 2553 มีเหตุการณ์ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อสั่งระงับการประมูล 3G จนทำให้การประมูลครั้งนั้นต้องเลื่อนออกไป จนกระทั่งเป็นกลุ่มสุดท้ายในโลกที่มีการประมูล 3G ซึ่งหากมองภาพระดับภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะพบว่า ประเทศไทยถูกดึงให้ล้าหลังประเทศอื่นๆ ไปกว่า 10 ปีทีเดียว ถือเป็นการบอนไซไทยแลนด์อย่างแท้จริง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือเป็นภาพทัศน์ใหญ่ที่คนไทยเลือกที่จะมองข้าม นอกจากเรื่องของเครือข่ายโทรคมนาคมแล้ว เรื่องทีวีดิจิทัลก็เป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้จากอดีต

ยุคเปิดประมูลช่องดิจิทัล เสียงกดดัน กสทช. ต้องไม่เอื้อประโยชน์เอกชน ต้องเอาเงินเข้ารัฐให้มากที่สุด ถือเป็นวลีเด็ดของนักวิชาการในการกดดัน กสทช. โดยมองข้ามปัจจัยด้านการตลาด ด้านการแข่งขันระยะยาว และภาระด้านการเงิน ที่สุดท้ายก็จะกระทบไปถึงบริษัท และแล้วความจริงก็ปรากฏ ปัญหาช่องทีวีล้น คนดูลด โฆษณาหด รายได้ไม่เกิด ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่สำหรับใช้ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล หรือ ทีวีดิจิทัล โดย กสทช. รุ่นแรกของประเทศ ซึ่งในช่วงแรกนั้น "การประมูลทีวีดิจิทัลครั้งแรกของไทยและของโลก" เกิดขึ้นพร้อมกับความคาดหวังของหลายฝ่ายว่า จะเป็นการเปิดเสรีทางธุรกิจโทรทัศน์ที่ผูกขาดจากการเป็นกิจการของรัฐ ผ่านระบบสัญญาสัมปทาน ทว่า สิ่งที่คาดไว้กลับไม่เป็นอย่างหวัง

ท่ามกลางข้อกล่าวหาจากฝ่ายเอกชนว่า กสทช. ไม่สามารถแปรแผนงานบนกระดาษสู่การปฏิบัติจริง ตั้งแต่ความล่าช้าในการขยายโครงข่ายการรับชมทีวีดิจิทัล โครงการแจกคูปองเพื่อแลกเครื่องแปลงสัญญาณแอนะล็อกเป็นดิจิทัล สู่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจทีวีระบบใหม่ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ไม่ได้คาดไว้ก็ส่งผลต่อความนิยม และการเติบโตในทีวีดิจิทัล เช่น ภาวะตกต่ำของรายได้โฆษณา เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองและการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากเปิดตัวทีวีดิจิทัลได้ไม่นาน ขณะที่ความสำเร็จของการประมูล 3G/4G กลับเป็นปัจจัยพลิกผันในอุตสาหกรรมสื่อ ที่ทำให้พฤติกรรมผู้ชมเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทั้งเม็ดเงินโฆษณาและคนดูไหลหลั่งมายังสื่อออนไลน์ วงการทีวีก้าวเข้าสู่ยุค "ถดถอย" และนี่คืออดีตที่ กสทช. ต้องมีบทบาทการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้มากกว่าการหารายได้ให้รัฐได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้ว จะไม่มีผู้ชนะเลย หากผู้ประกอบการล้มหายตายจาก และรัฐก็จะสูญเสียรายได้อยู่ดี

30 ปีแห่งความหลัง ภูมิรัฐศาสตร์ด้านดาวเทียม กับยุทธศาสตร์บอนไซไทยแลนด์

ภาพภูมิรัฐศาสตร์กับไทยคม สิ้นสุดสัมปทานดาวเทียม เมื่อ 10 ก.ย.2564 ส่งคืนดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 หลังกลุ่มเทมาเส็กผู้ถือหุ้นตัวแม่จากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น และเจ้าของดาวเทียมไทยคมให้บริการ 30 ปี กลับคืนเป็นสมบัติชาติ ซึ่งภาพระดับความมั่นคงนี้ถือเป็นภารกิจของ กสทช. ชุดใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ การสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม เป็นช่วงรอยต่อที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นรายใหม่ คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของเสี่ยกลาง สารัชถ์ รัตนาวะดี เจ้าของหุ้นโรงไฟฟ้า GULF ที่ประสบความสำเร็จทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์สมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer) เข้ามาซื้อกิจการในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH สำเร็จในราคาหุ้น 65 บาท คิดเป็นหุ้นทั้งสิ้น 1,354,752,952 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนหุ้นที่ถือทั้งหมด 42.25% ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ THCOM การสานต่อรอยต่อนี้ทำให้ประเทศไทยต้องเห็นภาพทัศน์ใหญ่ หลังจากถูกขึงให้อยู่กับที่ หรือถอยกลังมากว่า 30 ปี ดังนั้น กสทช. ต้องเร่งเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการช่องดาวเทียม ทั้งนี้ น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เคยกล่าวว่า ธุรกิจดาวเทียมนั้นไม่เหมือนธุรกิจประเภทอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะด้าน บริษัทที่ดำเนินการด้านนี้มีน้อย ราคาประมูลสูง ดังนั้น กสทช. ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคม และอธิบายให้ กมธ.ดีอีเอส เข้าใจ จะได้ช่วยทำงานเพื่อให้งานของบ้านเมืองเดินไปได้

ภาพปัจจุบัน ภาระต้นทุน กับความอ่อนแอของผู้ประกอบการ และความพร้อมสู่อนาคต

หลังจากที่ประเทศไทยถูกดึงรั้งการประมูล 3G มานาน ทำให้เทคโลยีใหม่ๆ เช่น 4G และ 5G ตามจ่อคอหอย ภายใต้แนวคิดว่า รัฐต้องได้รายได้สูงสุด ทำให้การประมูลของไทยเกิดขึ้นติดๆ กัน และการตั้งราคา โดยแนวคิดนักวิชาการกลัวว่าเอกชนจะได้ประโยชน์ ทำให้มีการคิดวิธีการต่างๆ เพื่อให้การประมูลเกิดการแข่งขันสูง โดยการประมูลของไทยนั้นแทบจะมีมูลค่าไลเซนต์สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง กลายมาเป็นภาระผู้ประกอบการในระยะยาว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการคืนทุนนาน ซึ่งในแผนธุรกิจคือให้บริการ 30 ปีขึ้นไป แต่ในความเป็นจริง คลื่นใหม่ๆ ออกมาประมูลใกล้ๆ กัน ทำให้แผนธุรกิจของโอเปอเรเตอร์ต้องพลิกตำรากันแทบไม่ทัน โดยเฉพาะองค์กรที่เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจก็ร่วมประมูลด้วย และในอดีตยังมีผู้มาร่วมประมูลปั่นราคา แล้วทิ้งการประมูล โกยรายได้จากหุ้นสูงกว่าค่าปรับหลายเท่า และสิ่งเหล่านี้คือภาระที่ตกมาถึงผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันที่อ่อนแอลงทุกวัน ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง

ดังนั้น จะอยู่รอดหรือไม่นั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญคือ “ต้นทุนต่อลูกค้า” ซึ่งหากจำนวนลูกค้าไม่มากพอ ธุรกิจจะอ่อนแอ ขณะที่ตลาดในประเทศไทยเข้าสู่ตลาดอิ่มตัว (Market Saturation) ไม่มีลูกค้าเพิ่มอีกแล้ว มี 5G ก็ต้องไปแทนรายได้เดิมจาก 4G การลงทุนเพิ่มจึงเป็นเพียงการมาเสริมลูกค้าเดิมที่ไม่ยอมจ่ายค่าบริการเพิ่ม ดังนั้น ผู้ประกอบการมีแต่แย่ลง ซึ่ง กสทช. ใหม่ต้องเข้ามาส่งเสริมการแข่งขัน มิเช่นนั้นการประมูล 6G ที่จะเกิดขึ้น จะมีเพียงรายเดียวที่มีกำลังในการประมูล ในขณะที่โอเปอร์เรเตอร์รายอื่นๆ คงนั่งมองตาปริบๆ เพราะถูกกีดกันจากภาระต้นทุนดอกเบี้ย และปัญหาการทำกำไรไปโดยปริยาย

แน่นอนว่า ในมุมภูมิรัฐศาสตร์ หากผู้ประกอบการไทยไม่แข็งแรง ก็ไม่สามารถไปต่อกรในระดับภูมิภาคได้ อีกทั้งโทรคมนาคมเป็นรากฐานของธุรกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้นำตลาดมีบริษัทสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่แล้ว ดังนั้น การทำรั้วการแข่งขัน (GEOFENCING) ถึงเป็นการที่โทรคมนาคมไทย จะไม่ไปแย่งตลาดในระดับภูมิภาค และยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการสิงคโปร์ให้ขยายมาประเทศไทย ที่เป็นตลาดที่ใหญ่กว่าอีกด้วย ดังนั้น ภาพใหญ่ด้านความมั่นคงนี้น้อยคนที่จะมองเห็น หรือเลือกที่จะมองข้าม โดยเฉพาะนักการเมืองไทยที่ยังไม่กล้าแตะประเด็นนี้มากนัก

ที่สำคัญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม โทรคมนาคม ยังต้องลำบากจากปัจจัยความพร้อมของตลาดโทรคมนาคมไปอีกหลายปี โดยจะพบว่าผู้ใช้บริการทั้งผู้บริโภคและลูกค้าองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงไม่เข้าใจความแตกต่างในคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี 4G นัก โดยเข้าใจเพียงว่า 5G มีคุณสมบัติเหนือกว่า 4G เพียงแค่มิติด้านความเร็ว ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับความเร็วของบริการ 4G ในปัจจุบันก็ยังคงพอเพียงสำหรับการประยุกต์ใช้งานบริการดิจิทัลที่มีอยู่ และสามารถตอบสนองความต้องการได้ดี ทำให้ผู้ใช้บริการขาดแรงจูงใจและไม่เห็นความจำเป็นที่จะหันมาใช้บริการ 5G ที่มีแนวโน้มว่าค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับบริการเดิม

ภาพอนาคต กับความหวัง กสทช.

ภาพแห่งอนาคตของไทยขึ้นอยู่กับ กสทช. ชุดใหม่ที่จะสานต่อภารกิจที่ดีของ กสทช. ชุดเดิม และสร้างความเชื่อมั่นในระดับเวทีนานาชาติ นำมาซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพแข่งขันในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ การรักษาสมบัติชาติให้กลับมาเป็นของไทย การวางแผนต่อกรกับการรุกรานของผู้เล่นใหม่บนระบบดิจิทัล ที่ประเทศไทยยังล้าหลังด้านกฎระเบียบ ที่กสทช. ต้องร่วมมือกับกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอีเอส และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อให้ผู้เล่นจากต่างประเทศแข่งขันอย่างเท่าเทียมกับผู้ประกอบการไทย และจ่ายภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งนี้ ความท้าทายของ กสทช. ชุดใหม่มี 3 ประเด็นที่สำคัญ ที่ควรเร่งดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ประเด็นที่ 1 : การประมูลคลื่นในอดีตที่กลายเป็นภาระของผู้ประกอบการในปัจจุบัน และการขาดความแข็งแรงในการประมูลคลื่นใหม่ รวมถึง 6G ในอนาคต : การต่อยอด 5G เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการประมูลคลื่นความถี่อย่างคลื่น 3500 MHz ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่ตลาดเคยเป็นของผู้ขาย หรือของ กสทช. ไม่ว่าจะขายคลื่น 3G 4G หรือแม้กระทั่ง 5G บางส่วนก็ขายหมด แล้วราคาดีด้วย ทำเงินเข้ารัฐหลายแสนล้านบาท แต่ก็กลายเป็นภาระ ทั้งจากค่าไลเซนต์ที่แทบจะแพงที่สุดในโลก ภาระดอกเบี้ย ทำให้ยามนี้สายตาที่มองคลื่นความถี่ของโอเปอเรเตอร์เริ่มเปลี่ยนไป เพราะเท่าที่มีอยู่ก็มากเกินความจำเป็นไปแล้ว เพราะตลาดผู้ใช้บริการมีเพียงเท่านี้ การเติบโตไม่ได้พุ่งสูงขึ้นมากมายนัก ถึงตอนนี้ยังมีโอเปอเรเตอร์บางรายอยากคืนคลื่น นอกเหนือจาก NT ที่อยากจะคืนความถี่ 700 MHz ใจจะขาด ทำให้การปรับตัวของผู้ประกอบการด้านต้นทุนถือเป็นความท้าทายในการอยู่รอดทางธุรกิจ

ประเด็นที่ 2 : การล่าอาณาณิคมของผู้ให้บริการ OTT : โอเปอเรเตอร์ลงทุนเครือข่ายไปสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมาก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มาก วันนี้โควิดได้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT การกำกับ OTT วันนี้ไม่ใช่แค่ กสทช. หน่วยงานเดียว ยังต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

เคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องคือ 1.ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง 2.ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียมีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียมี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้ว ยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และ 3.ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

ประเด็นที่ 3 : การประมูลวงโคจรดาวเทียม กสทช. มีหน้าที่ต้องรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งวงโคจรต้องมีดาวเทียมใช้งาน หากประเทศไทยถูก ITU ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง (ไม่มีการใช้คลื่นความถี่บนดาวเทียมจริง) ย่อมมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกยกเลิกสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและคลื่นความถี่ที่ไม่มีการใช้งานจริงออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ (Master International Frequency Register) และส่งผลให้ประเทศไทยสิ้นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้น

ทั้งหมดทั้งปวงก็คงต้องให้กำลังใจ กสทช. ชุดใหม่กับภารกิจเพื่อคนไทย ในการส่งเสริมคนไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดการเติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการทุกรายว่าจะดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสานต่อสิ่งที่ กสทช. ชุดเดิมได้ทำสิ่งที่ดีไว้มากมาย เพื่ออุตสาหกรรมโทรคมไทยก้าวสู่ยุคใหม่ ผู้เล่นหน้าใหม่ ความฉับไว และการมองเห็นภูมิทัศน์ระดับภูมิภาคจะทำให้เปิดโอกาสมากมายให้คนไทยแข่งขันได้ทุกเวที เพราะคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น