xs
xsm
sm
md
lg

รู้เท่าทันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ในวันที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน การวัดดัชนีค่า HHI ต้องเปลี่ยนตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระแสข่าวร้อนๆ ในแวดวงโทรคมนาคมในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นข่าวที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการควบรวมกิจการ โดยผู้ถือหุ้นทรูอนุมัติการควบรวมกิจการกับดีแทค 99.37% ส่วนการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดีแทคสัดส่วน 89% โหวตผ่านอนุมัติแผน เพื่อจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคมใหม่ (Telecom-Tech Company) และผู้บริหารบริษัทแอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส (AIS) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อชี้แจงผลกระทบ และผลเสียจากดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค

โดยประเด็นหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาประกอบเหตุผลของ AIS คือ ดัชนีการแข่งขัน (HHI) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยจะกระจุกตัวมากขึ้น ทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาด

ในวงการธุรกิจโทรคมนาคมระดับนานาชาติ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) ถือเป็นดัชนีวัดความรุนแรงการแข่งขันในธุรกิจที่นิยมใช้มานำเสนอกันมากที่สุด โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ที่มีผู้เล่นดิจิทัลเข้ามาร่วมแข่งขันมากมาย ทำให้ดัชนี HHI บ่งชี้ถึงการแข่งขันที่สูงมาก แต่ในวันนี้ที่ภูมิทัศน์การสื่อสารโทรคมนาคม (Landscape) กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เรายังวัดดัชนี HHI จากเพียงผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศในจริงหรือ? โดยเฉพาะในวันที่ OTT หรือ Over-the-Top มีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

การเติบโตของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย IP ความเร็วสูง และแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์ส (open-source platforms) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ OTT หรือ Over-the-Top ซึ่งเป็นการให้บริการกระจายเสียง หรือบริการโทรทัศน์บนโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคม หรืออินเทอร์เน็ตเติบโตในไทยแบบก้าวกระโดด อุตสาหกรรมการสื่อสารที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการดิจิทัลจากหลากหลายประเทศ ผู้ให้บริการเสียงผ่านแอปพลิเคชัน ให้บริการส่งข้อความผ่านแอป ไม่ว่าจะเป็น LINE, WECHAT, FACEBOOK ให้บริการประชุมผ่านแอป และให้บริการคอนเทนต์ผ่านมือถือ เช่น NETFLIX, DISNEYPLUS, VIU เป็นต้น ปรากฏอยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป สมาร์ททีวีของแทบทุกคน และผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมใหม่นี้ ผู้นำคือ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศ

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA, 2563) รายงานว่าผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ที่ครองตลาดผู้ชมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ YouTube, Netflix, LINE TV, JOOK, Spotify, Viu, TrueID, AIS Play, WeTV และ SoundCloud ซึ่ง 8 ใน 10 รายนั้น เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ และแนวโน้มของการให้บริการของ OTT ในประเทศไทยยังคงเติบโตได้จากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของปริมาณและคุณภาพของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มาจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของไทย

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค หรือทรู ที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ต้องมองข้ามช็อตให้เห็นถึงผู้เล่นทั้งหมดในตลาด รวมถึง OTT ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมอย่างเต็มที่ในการให้บริการ และเก็บรายได้ไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการให้บริการผ่านระบบแอปพลิเคชัน โดยผู้ให้บริการจากบริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่นอกประเทศไทย ปัจจุบันรายได้มหาศาลของบริษัทเหล่านี้สามารถนำกลับประเทศโดยไม่ต้องจ่ายภาษี ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันด้วยยากจากกฎหมายควบคุมและมีต้นทุนทางภาษีที่สูงกว่า และยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดออกมากำกับหรือแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ ซึ่งเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ด้วยมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน และที่สำคัญคือเพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การวัดค่าดัชนี HHI บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ถูกต้องที่สุด

ในวงการธุรกิจโทรคมนาคมระดับนานาชาติ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) ถือเป็นดัชนีวัดความรุนแรงการแข่งขันในธุรกิจที่นิยมใช้มานำเสนอกันมากที่สุด โดยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ที่มีผู้เล่นดิจิทัลเข้ามาร่วมแข่งขันมากมาย ทำให้ดัชนี HHI บ่งชี้ถึงการแข่งขันที่สูงมาก

โดย N = จำนวนผู้เล่น มีผู้เล่นใหม่สูงขึ้นมาจากผู้เล่นที่เป็นดิจิทัลระดับโลก ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ไม่น้อยกว่า 10 ราย นอกจากนี้ ในแง่ของรายได้ตลาดโดยรวมยังมีมูลค่าสูงขึ้นมากจากผู้เล่นดิจิทัล ทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของผู้เล่นดั้งเดิมมีมูลค่าต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อนำมาคำนวณเป็นดัชนี HHI ทำให้เห็นได้ชัดว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่เป็นตลาดที่ยากต่อการผูกขาด และผู้เล่นทุกรายต้องรีบปรับตัวแข่งกับผู้เล่นระดับโลก

HHI เป็นตัวชี้วัดความเข้มข้นของตลาดในอุตสาหกรรม วัดความเข้มข้นของตลาดใน 50 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ เพื่อพิจารณาว่าอุตสาหกรรมนั้นน่าจะมีการแข่งขันหรือใกล้เคียงกับการผูกขาด ความเข้มข้นของตลาดในอุตสาหกรรมจะพิจารณาจากการตรวจสอบจำนวนบริษัทที่ผลิตหรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์หรือสายผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ รวมถึงการกระจายส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่ของยอดขายสำหรับแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรม นักเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่า ความเข้มข้นของส่วนแบ่งการตลาดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงอยู่ของการแข่งขันทางการตลาดและทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ที่มีผู้เล่น OTT มาให้บริการทดแทนผู้ให้บริการเดิม เช่นการโทรผ่านดาต้า ทำให้ค่า N = จำนวนผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้การกีดกันผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมีผู้เล่นทางเลือก ให้บริการด้านเสียง ด้านส่งข้อความ ด้านคอนเทนต์จำนวนมากเข้ามาในตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ทำให้ค่า HHR มีตัวเลขที่แข่งขันสูงมาก จนอาจทำให้ผู้ประกอบการเดิมที่ไม่ปรับตัวแข่งขันได้ยาก เพราะผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ มีผู้เล่นที่เน้นเทคโนโลยี โดยปัจจุบันมีผู้เล่นดิจิทัลขนาดใหญ่ระดับโลกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ของไทย ไม่น้อยกว่า 10 ราย ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวอย่างมาก

ท่ามกลางกระแส Tech-Disruption จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์สื่อที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New Telco Market) ที่ผู้เล่นเปลี่ยนไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น