เลขาฯ กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบควบรวมกิจการ 2 ค่ายมือถือ ชี้ ปมปัญหาตัดวงจรแข่งขันด้านราคา หวั่นสร้างผลกระทบ ปชช.ไม่ได้รับความเป็นธรรม ชี้ มือถือปัจจัยพื้นฐานสำคัญดำรงชีวิต-ทำงาน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาหาทางออกต่อไป
วันนี้ (18 มี.ค.) นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างธุรกิจทรู และดีแทค และการค้าปลีกค้าส่ง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้ข้อสรุปในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการควบรวมธุรกิจทรู และดีแทค ซึ่งทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการได้ตามอำนาจที่มีอยู่ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ไม่มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ ของทั้งสองบริษัท ขณะที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค) ชี้แจงว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 บัญญัติมิให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแก่การกระทำธุรกิจที่มีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานเฉพาะ (sector regulator) ซึ่งจากแนวทางที่เกิดขึ้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯมีความห่วงใย และมีข้อกังวลต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่อาจทำให้เกิดการผูกขาด และไม่มีการแข่งขันด้านราคา
“จากกรณีดังกล่าว ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมให้นำข้อกังวลที่เกิดขึ้น จากการที่ไม่มีหน่วยงานรองรับ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดการแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาด ที่ประชาชนควรได้รับประโยชน์สูงสุด ได้เสนอให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นำเรื่องเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในแนวทางนี้ร่วมกันที่ดำเนินการในการเสนอ ครม.ในขั้นตอนต่อไป”
ทั้งนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการประกอบอาชีพของทุกกลุ่ม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กรรมาธิการวิสามัญให้ความสำคัญ หากการควบรวมกิจการประสบความสำเร็จ อาจส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เพราะปัจจุบันค่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่รายใหญ่มีเพียง 3 ค่าย หากมีการลดลงเหลือ 2 ค่าย อาจทำให้การกำหนดราคาไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้