ดีอีเอสรายงานบอร์ดดีอี แจงความคืบหน้าการบริหารจัดการดาวเทียมหลังหมดสัญญาสัมปทาน เล็งพื้นที่จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สำหรับจัดตั้งสถานีดาวเทียมอ้างอิงสัญญาณ RFAT เป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนข้อพิพาทไทยคม 7 และ 8 คาดสืบพยานชั้นอนุญาโตฯครบในเดือน มิ.ย.นี้
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (1 เม.ย.) ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
โดยล่าสุด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้แจ้งความประสงค์ในการเช่าพื้นที่จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สำหรับจัดตั้งสถานีดาวเทียมอ้างอิงสัญญาณ RFAT เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติลงนามในข้อตกลงเช่าพื้นที่ ส่วนการเช่าพื้นที่ ณ สถานีดาวเทียมไทยคม จ.นนทบุรี กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ในส่วนของกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ระหว่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ผู้เรียกร้อง) ซึ่งเรียกร้องว่าไทยคม 7 และ 8 ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับกระทรวงดีอีเอส (ผู้คัดค้าน) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โดยได้สืบพยานฝ่ายผู้เรียกร้องไปแล้วจำนวน 4 นัด เหลือการสืบพยานอีก 2 นัด ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นจะเป็นการสืบพยานฝ่ายผู้คัดค้านในเดือน มิ.ย. (ทั้งสิ้น 4 นัด)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 อนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (วาระ 2565-2569) จำนวน 6 คน ได้แก่ 1.นายชัยชนะ มิตรพันธ์ 2.นายอุดมเกียรติ บุญวรเศรษฐ์ และ 3.นายพีรเดช ณ น่าน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) 4.นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเศรษฐศาสตร์) 5.น.ส.ภัทรา โชติวิทยะกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านบริหารธุรกิจ) และ 6 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านกฎหมาย)
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อบุคคลข้างต้นจำนวน 3 คน เป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ 1.นายพีรเดช ณ น่าน 2.นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ 3.น.ส.ภัทรา โชติวิทยะกุล นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้นายอุดมเกียรติ บุญวรเศรษฐ์ ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
ขณะที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้มีการอนุมัติโครงการตามมาตรา 26 (6) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงินกว่า 345 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อรับการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือจากกองทุน ประจำปี 2565
“เมื่อเร็วๆ นี้ เรายังได้มีการเปิดรับข้อเสนอโครงการ หรือกิจกรรมของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ประจำปีงบประมาณ 65 ครั้งที่ 1 ตามมาตรา 26 (1) และ (2) วงเงิน 2,500 ล้านบาท จำนวน 4 ด้านประกอบด้วย Digital Agriculture, Digital Government & Infrastructure, Digital Manpower และ Digital Technology” นายภุชพงค์ กล่าว