xs
xsm
sm
md
lg

9 เหตุผล โทรคมนาคมเก่าไม่ปรับตัวใน 3-5 ปีไม่รอดแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



9 เหตุผลโทรคมนาคมเก่าไม่ปรับตัวใน 3-5 ปีไม่รอดแน่ ย้ำหน่วยงานรัฐเปิดเนตร เสริมแกร่งผู้ประกอบการ พร้อมต่อโทรคมนาคมใหม่ ก่อนจะไม่เหลือผู้ประกอบการเดิม ในยุคดิจิทัลที่คนไทยยังมองภาพไม่ชัดเจน

แหล่งข่าวจากวงการดิจิทัลเปิดเผยว่า มรดกจากแนวคิดเก่าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมดั้งเดิม ที่คิดใบอนุญาตค่าคลื่นสูงอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้เล่นโทรคมนาคมน้อยราย อีกทั้งการลงทุนในเสาสัญญาณและอุปกรณ์เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่อีกหลายแสนล้านบาท ทำให้ผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรมมีภาระดอกเบี้ยและการลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้เล่นรายใหม่ หรือ Barriers to Entry จาก 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วจาก 3G 4G 5G และ 6G จนไม่สามารถคืนทุนได้ทัน 2. เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสูงระดับแสนล้าน ซึ่งมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายที่สามารถรับภาระต้นทุน 3. มีกฎระเบียบกำกับและควบคุมทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ โดยมีเพดานกำหนดกรอบไว้โดย กสทช.

ยิ่งนานวันต้นทุนค่าคลื่นก็ยิ่งสูงขึ้นทำให้บริษัทโทรคมนาคมในประเทศไทยต้องอ่อนแอลงไปจากภาระต้นทุน ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมไม่ได้สดใสเหมือนก่อน ทั้งค่าโทรศัพท์ที่ถูกทดแทนจากบริการ OTT หรือ Over-the-Top ซึ่งเป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์บนโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมหรืออินเทอร์เน็ต ด้วยการโทร.ผ่านไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก การขาดรายได้จากการโทร.ทางไกล ขาดรายได้จากการส่งข้อความ และ ขาดรายได้จากบริการเสริมต่างๆ ในขณะที่ยอดการใช้งานข้อมูลนั้นสูงขึ้นมหาศาล

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รายงานว่าในปี 2564 ผู้ให้บริการ OTT ทุกประเภทในไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการเข้ามาทำตลาดไทยปี 2557 และบริการประเภท Subscription Video on Demand (SVoD) ซึ่งเก็บค่าสมาชิก อย่างเช่น NETFLIX, DISNEY PLUS, Amazon Prime Video มีสมาชิกถึง 13.29 ล้านบัญชี สอดคล้องกับ Statista Advertising and Media Outlook ประเมินว่ามูลค่าตลาด OTT ของประเทศไทยจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะเพิ่มถึงประมาณ 877 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการ OTT ในไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านรายในปี 2566

รายงาน Global Entertainment and Media Outlook 2019-2023 ของ PwC ระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงในประเทศไทยจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 5.05% โดยเฉพาะความต้องการเสพสื่อและบันเทิงแบบส่วนบุคคลจะยิ่งมากขึ้น ทั้งการเข้ามาของ 5G จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคหันไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น PwC คาดว่าบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (over-the-top video : OTT video) จะเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด จากมูลค่าในปี 2561 ราว 2.81 พันล้านบาท จะโตมากกว่า 2 เท่าในปี 2566 เป็น 6.08 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตปีต่อปีที่ 16.64%

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT จำนวนมาก โดยที่ยังไม่มีกลไกควบคุมหรือกำกับดูแล หากหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐไม่ปรับตัวให้ก้าวทันยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทำความรู้จักตลาดโทรคมนาคมใหม่ ก่อนจะไม่เหลือผู้ประกอบการเดิม ในยุคดิจิทัลที่คนไทยยังมองภาพไม่ชัดเจน เชื่อได้เลยว่าภายใน 3-5 ปีนี้บริษัทเดิมในโทรคมนาคมไทยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่คงอยู่รอดได้ยาก หากไม่มีการปรับตัวหรือปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

สำหรับเหตุผลที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องประสบภาวะที่ยากต่อการแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัล มีด้วยกัน 9 ข้อที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนต้องนำไปคิด ทบทวน และหาทางออก คือ

1. ค่าใบอนุญาตค่าคลื่นที่ผู้ให้บริการเดิมต้องจ่าย แต่ผู้ให้บริการในรูปแบบดิจิทัลจากต่างประเทศไม่ต้องจ่าย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก Skype เป็นต้น

2. ผู้เล่นโทรคมนาคมในปัจจุบันต้องเสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่ผู้ให้บริการดิจิทัลส่วนใหญ่มีสำนักงานอยู่ต่างประเทศ นอกจากไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว ยังไม่ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทย

3. การใช้งานดาต้าที่เพิ่มมากขึ้น ลูกค้าจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าดาต้าเท่าเดิม และมี กสทช.ควบคุมราคา ในขณะที่บริษัทดิจิทัลไม่มีหน่วยงานรัฐควบคุม และไม่ต้องจ่ายค่าการใช้ดาต้าให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเดิม

4. อุปกรณ์มือถือรุ่นใหม่รวมถึงแอปพลิเคชันไลน์ เฟซบุ๊ก มีการปิดกั้นข้อมูลผู้ใช้งาน ทำให้บริษัทโทรคมนาคมเดิมรู้จักลูกค้าน้อยลง

5. ผู้เล่นดิจิทัลจากต่างประเทศเตรียมเปิดให้บริการโทรศัพท์ไร้ซิมในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า ทำให้การโทร.ออกทั้งหมดผ่านดาต้า และทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทำให้ทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทค ต้องหันมาให้บริการโทร.ผ่านดาต้าแข่งกับไลน์ มิเช่นนั้นรายได้ค่าโทร.จะลดลงอย่างมาก

6. การเข้ามาของโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม ซึ่งไม่ได้ใช้เครือข่ายสัญญาณมือถือเดิม ซึ่งล่าสุด SpaceX ได้ทดลองให้บริการสื่อสารที่ฟิลิปปินส์ โดยฟิลิปปินส์มีอัตราผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต 74 ล้านคน และมีอัตราผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจะมีการยิงดาวเทียมจากทั่วโลก ทำให้ผู้เล่นเดิมมีโอกาสหลุดออกจากธุรกิจจากการ Disruption ดังนั้นต้องสนับสนุนให้บริษัทโทรคมนาคมไทยปรับตัว ไม่ใช่ควบคุมให้ทำธุรกิจแบบเดิม

7. โทรคมนาคมไทยมีเพียงเอไอเอส ที่ทำกำไรต่อปีสูงพอที่จะลงทุนเพิ่มแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัล ในขณะที่ผู้เล่นที่เหลือในอุตสาหกรรมมีกำไรไม่เพียงพอที่จะลงทุนเพิ่ม ดังนั้นการควบรวมและปรับโครงสร้างจะเป็นการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มจำนวนเครือข่ายให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น และมีความสามารถทัดเทียมในการแข่งขัน ซึ่งจะเกิดผลดีต่อลูกค้ามากกว่าการมีผู้นำเดี่ยวเพียง 1 ราย

8. ผู้เล่นดิจิทัลมีลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบ Start Up ปรับตัวง่ายและเร็วกว่า สามารถเพิ่มทุน ลงทุน ควบรวม ได้โดยไม่มีการถูกบังคับ ในขณะที่ผู้เล่นในโทรคมนาคมเดิม กฎระเบียบภาครัฐที่ขาดความชัดเจน ในขณะที่กฎหมายเดียวกัน CAT และ TOT ควบรวมกิจการเกิดเป็นบริษัท NT ทำให้ในอนาคตจะยิ่งเหลือผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะหากทรูและดีแทคไม่สามารถควบรวมสำเร็จ

9. รูปแบบการให้บริการสมัยใหม่ ที่จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือเป็นรายเดือน ทำให้แบรนด์โทรศัพท์มือถือจะเก็บเงินลูกค้าแบบ subscription และมีบทบาทในการดูแลลูกค้าแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเดิม และมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายกว่า โดยไม่ถูกควบคุม

ทั้งหมดนี้คือ 9 เหตุผลที่หากธุรกิจในอุตสาหกรรมเดิมไม่ปรับตัว ก็ยากที่จะแข่งขันกับผู้เล่นดิจิทัลจากบริษัทชั้นนำระดับโลก ประเทศไทยจะเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย หาใช่การกำกับเพื่อให้รายใดรายหนึ่งเป็นผู้นำเดี่ยวในตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น