วงการโทรคมฯ ส่องแนวคิด ขบวนการบันได 3 ขั้น ทั้งกดทั้งดัน จับยักษ์ใส่ตะเกียง บอนไซไทยไม่ให้โต แข่งเวทีโทรคมนาคมระดับภูมิภาค
แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้เห็นการขับเคลื่อนพลังแบบอ่อน (Soft Power) ในการสร้างอำนาจในระดับภูมิรัฐศาสตร์ ชิงความได้เปรียบในยุทธศาสตร์การรบหลายกระดานพร้อมกัน เพื่อเป็นผู้นำการแข่งขันระดับภูมิภาค หันมามองในประเทศไทย การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องลงทุนสูงในระดับแสนล้านบาท และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ แน่นอนว่า การขับเคลื่อนพลังอ่อน (Soft Power) ถือเป็นกลไกในการเอาชนะเกมระยะยาวระดับภูมิภาค ด้วยการชิงไหวชิงพริบ ในการสกัดขา ใช้เวลาและความเร็วในการปรับตัวของธุรกิจ เป็นการวัดผลแพ้ชนะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในปีที่ผ่านมา เป็นเหมือนปีแห่งการควบรวมและปรับโครงสร้าง ซึ่งองค์การโทรศัพท์และการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้มีการควบรวมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตามด้วยการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของเอไอเอส โดยมีกลุ่มกัลฟ์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ผ่านทางอินทัช ทำให้มีความพร้อมในการแข่งขัน พลันให้นึกถึงเกมเก้าอี้ดนตรีที่ใครนั่งไม่ทันก็ต้องหลุดจากเกม ทำให้การควบรวมของทรูและดีแทค ที่ต้องปรับตัวรับดิสรัปชั่นเป็นรายสุดท้ายจะดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่ ทั้งที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน
ดังนั้น “ขบวนการบันได 3 ขั้น” กับยุทธศาสตร์ “จับยักษ์ใส่ตะเกียง" จึงเกิดขึ้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนที่ยักษ์ไทยจะไปไกลแข่งในเวทีระดับภูมิภาค โดยสื่อเริ่มมีการตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า หลังสงกรานต์จะเริ่มมีการขับเคลื่อนบันได 3 ขั้น ผ่านหลายส่วนพร้อมกันเพื่อกดดันภาครัฐ วัดใจหน่วยงานรัฐว่า หากไม่อนุมัติ ก็เสี่ยงโดนตำหนิว่า “สองมาตรฐาน” แต่หากเฮโลไปตามเสียงกดดัน ไม่ทำตามกฎหมาย ก็เสี่ยงถูกดำเนินการว่า “ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย” ดังนั้น สิ่งที่หน่วยงาน่รัฐ คงจะต้องเลือกเป็นหลักพิง และเป็นหลักในการทำงาน คือ กฎหมายระบุว่าอย่างไร ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย มิเช่นนั้น คำว่า “สองมาตรฐาน” คงถูกนำกลับมาใช้ในสังคมไทย ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐในทุกยุคทุกสมัย ต้องยึดเป็นหลักพิงในการทำงานคือ การอ้างอิงกฎหมาย อยู่เหนือกฎหมู่ โดยไม่ฟังคำกล่าวอ้างว่า กฎหมายคลุมเครือ ดังนั้น หากหน่วยงานรัฐดำเนินการตามความรู้สึก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประเทศไทยก็ยากที่จะทำเรื่องใหญ่ๆในบ้างเมืองได้ เพราะจะทำให้เข้าข่ายคำว่า “เลือกปฏิบัติ” ล่าสุดมีการวิเคราะห์บันได 3 ขั้น ต้องมาติดตามกันว่า หมอดูจะทำนายถูกหรือไม่ ว่าบันได 3 ขั้น จะเดินกันอย่างไร หากเป็นจริง พรุ่งนี้คงมีบันไดขั้นแรกให้เห็น กับกลยุทธ์จดหมายน้อยขอให้ชะลอเวลาการควบรวม หากเป็นไปตามที่ทำนาย ก็ต้องมาตามดูให้ครบบันไดทั้ง 3 ขั้น
บันได้ขั้นที่ 1: กรรมาธิการยื่นจดหมายแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการรวมกิจการในครั้งนี้ และหากเป็นไปได้ยังไม่อยากให้เกิดการรวมกิจการดังกล่าวในขณะนี้ ซื้อเวลาอีกนิดได้หรือไม่
ธุรกิจเทคโนโลยี ล่าช้าเพียง 1 วันก็พ่ายแพ้ แต่การดำเนินการจากภาครัฐ ล่าช้าเพียง 1 เดือน ก็ทำให้ธุรกิจเสียรังวัดได้ ธุรกิจโทรคมนาคมที่ยื่นควบรวม เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีประชาชน องค์กรทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้น ความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง การขับเคลื่อนการแสดงความกังวลของกรรมาธิการยังคงเดินหน้า จากเดิมที่เคยกังวลถึงการแต่งตั้ง กสทช. ที่ยังไม่เรียบร้อย ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าการพิจารณาจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยครั้งนี้ คณะกรรมการชุดเก่า หรือชุดใหม่จะต้องเป็นผู้พิจารณา เพราะในกระบวนการมีความคาบเกี่ยวกันอยู่ ทำให้ประเด็นนี้จบไป เพราะกสทช ชุดใหม่เข้ามารับไม้ แถมยังมีกฎหมายระบุกรอบเวลาไว้ชัด
ดังนั้น เป้าหมายจึงเปลี่ยนไป มุ่งเน้นการแสดงความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งที่ กสทช ของไทย จริงๆ แล้ว มีผลงานอันดีเลิศในการควบคุมราคาผู้ประกอบการไทย โดยมีอัตราค่าบริการต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก อย่างไรก็ดี การยื่นจดหมาย ถือเป็นบันไดขั้นที่ 1 ที่สร้างกระแสกดดันต้อนรับ กสทช.ชุดใหม่ หากทำให้ล่าช้าออกไปได้ ก็จะทำให้ภาคธุรกิจถดถอย เพราะอยู่ในกระบวนการควบรวม จะเดินหน้าก็ทำไม่ได้ ถอยหลังก็ทำไม่ได้ จะทำให้ผู้ประกอบการที่ยื่นเรื่องเสียเปรียบในทางธุรกิจ ซึ่งถือว่า บันไดขั้นที่ 1 เป็นการสร้างกระแสรับน้องใหม่
บันไดขั้นที่ 2: แนวคิดโยกคลอน หลักนิติรัฐอ้างว่ากฎหมายระบุไว้ไม่ชัด แม้ว่าจะได้ดำเนินการด้วยกฎหมายฉบับเดียวกันกับการควบรวม CAT และ TOT ล่าสุดมีการพยายามขอแก้กฎหมาย ยื่นจดหมายน้อยร้องไม่ให้ควบรวม
“หลักนิติรัฐ” (Legal State) ซึ่งเป็นการปกครองประเทศโดยกฎหมาย หรือหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายบริหารหรือ หน่วยงานของรัฐแล้ว ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจปกครองย่อมมีอำนาจเพียงเท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ส่วนประชาชนซึ่งถือเป็นเจ้าของอำนาจย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมาย บัญญัติห้ามไว้และการบังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งกฎหมายระบุอำนาจหน้าที่ กสทช.ไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ กฎหมายฉบับเดียวกันนี้ก็ได้ใช้กับการควบรวมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ โดยเมื่อต้นปี 64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในการดำเนินการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited :NT) โดยมีกำหนดวันจดทะเบียนในวันที่ 7 มกราคม 2564 ซึ่งภายหลังการควบรวมสำเร็จ จะส่งผลให้ NT มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ต้นปี 2565 หลังทรูและดีแทค ประกาศควบรวมเกิดเป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันในระดับภูมิภาค เท่ากับเป็นการเรียกแขก หากเกิดการควบรวมจริงจะทำให้ผู้เล่นในโทรคมนาคมประเทศไทยมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจระดับภูมิภาคในเวทีดิจิทัลโทรคมนาคมใหม่ แข่งกับยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดภูมิภาคอยู่แล้ว ครั้นจะแก้กฎหมายไม่ให้ทรูและดีแทคควบรวม ก็ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ ทำให้การพยายามขอแก้กฎหมาย จึงทำได้เพียงการระบุว่า กฎหมายระบุไว้ไม่ชัดเจน ขอเลื่อนการพิจารณาไปก่อนได้หรือไม่ หากทำสำเร็จก็เท่ากับบันได้ขั้นที่ 2 สำเร็จไปได้แล้ว
บันไดขั้นที่ 3 “ประวิงเวลา” มองข้ามกระดาน ให้การควบรวมเกิดขึ้นช้าที่สุด เพื่อให้พลาดรถด่วน 2 ขบวนคือ 6G และเทคโนโลยีการโทรผ่านดาวเทียม (Low Orbit Sattlelite)
ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่แข่งขันกับเทคโนโลยี และมีต้นทุนในการดำเนินการสูง ทั้งค่าคลื่น ค่าเนตเวิร์ค อุปกรณ์ และภาระดอกเบี้ย ซึ่งการประวิงเวลาการควบรวมให้นานที่สุด ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดที่ทำการปรับโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว ปัจจัยด้านเวลานั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี ใหม่กำลังจะเข้ามา หากผู้เล่นปัจจุบันมีความอ่อนแอ จะไม่สามารถสู้ศึกในสนามต่อไปได้ การประมูล 4G ในประเทศไทย เป็นผลงาน กสทช. ที่ทำเงินประมูลที่มีมูลค่าสูงถึง 232,730 ล้านบาทให้กับภาครัฐภายในระยะเวลา 4 ปี คือตั้งแต่ช่วงปี 2559-2563 แต่ก็แถมมาด้วยความสะบักสะบอมของผู้ประกอบการไทยในการแบกรับดอกเบี้ย และไม่นานยังไม่ทันคืนทุนกับการประมูล 4G ก็มีการประมูล 5จี ใช้เวลา 5 ชั่วโมง 35 นาที ได้เงินเข้ารัฐ 100,521 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการไทยแบกโซ่ตรวนหนักอึ้ง และขาดความพร้อมในการลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีใหม่ 2 ตัว ที่กำลังจะเข้ามาในไม่ช้า
ดังนั้น บันไดขั้นที่ 3 คือ หากการควบรวมของทรูและดีแทค ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่า การเข้าสู่เทคโนโลยี 6G และการเข้าสู่เทคโนโลยีการโทรผ่านดาวเทียม จะมีผู้ที่พร้อมให้บริการเพียงรายเดียว ดังนั้น การดึงเวลาหรือขอให้เริ่มต้นพิจารณาใหม่ จะทำให้ผู้เล่นบางรายหลุดออกจากอุตสาหกรรมโดยปริยาย หลุดจากช่วงเวลาที่แข่งขันได้ ซึ่งหากดึงเวลาได้เพียง 1 ปี ก็จะสร้างความได้เปรียบมหาศาลจากต้นทุนต่อลูกค้าที่ต่ำกว่ามาก ทำให้เกิดภาวะผู้นำเดี่ยวในตลาด และ ยังคงจะเป็นผู้เล่นในประเทศ และไม่ขยายไปแข่งในระดับภูมิภาค เนื่องจากมีพี่ใหญ่ครองพื้นที่ในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว
ดังนั้น หากบันไดขั้นที่ 3 ทำสำเร็จ ก็จะทำให้เกิดการเติบโตระยะยาว แบบผู้เล่นรายเดียวในอุตสาหกรรม ซึ่งคนไทยคงต้องมองตาปริบๆ แล้วเปรยว่า คิดได้อย่างไร มองข้ามช๊อต แบบมีวิชัน เมื่อเทคโนโลยีดาวเทียม (Low Earth Orbit) เข้ามา ย่อมชนะในกระดานต่อไป หากใครยังไม่รู้จัก Starlink คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม โดยข้อแตกต่างของอินเทอร์เน็ต Starlink คือการที่ดาวเทียมของมันจะโคจรในวงรอบที่ต่ำมากๆ (Low Earth orbit) ถือเป็นระดับวงโคจรที่ต่ำกว่าดาวเทียมทั่วๆ ไปที่ใช้งานในปัจจุบันมากกว่า 60 เท่าตัว Starlink จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยราคาถูก (แนวคิดของมัสก์) โดย Starlink น่าจะพร้อมให้บริการครอบคลุมประเทศไทยในช่วงราวปี 2022 ทำให้มีคนพูดว่า หากนำค่า HHI มาวัดการให้บริการโทรคมนาคมแบบเสาสัญญานคงตกยุค เพราะยุคนี้ ผู้ประกอบการให้บริการผ่านดาวเทียมกันแล้ว ไม่ใช่ให้บริการผ่านเสาสัญญาน
หากบันได 3 ขั้นทำสำเร็จ ก็ไม่แน่ว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์คือใคร จะเป็นผู้บริโภคจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ หากเทคโนโลยีใหม่มาถึง ทั้ง 6G และการเข้ามาของเทคโนโลยีดาวเทียม (Low Orbit Sattlelite) ประเทศไทยคงต้องมองย้อนกลับมาว่า ในวันที่ประเทศไทยเดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ กฎหมายถูกใช้หลายมาตรฐาน ความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศไทยก็ลดลง ถึงวันนั้น คงต้องจำบทเรียนกันให้ได้ อย่าให้คนกล่าวขานว่า "ไทยแลนด์โอนลี่"