xs
xsm
sm
md
lg

'สังศิต' ชูธง “จ.แพร่” แบบอย่างแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ! บูรณาการหน่วยงาน ทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก-ปฎิรูปการศึกษาที่เห็นผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





'นายสังศิต พิริยะรังสรรค์’ ยกจังหวัดแพร่ อีกตัวอย่างบูรณาการหน่วยงานในจังหวัด ระดมความร่วมมือ สร้างฝายแกนดินซีเมนต์ เพิ่มน้ำ-แก้แล้ง พร้อมเสนอปฏิรูปการจัดการศึกษา สร้างคนให้มี 'ทักษะชีวิต - ทักษะอาชีพ' ในการแก้ปัญหาความยากจน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง พร้อมคณะที่ปรึกษาฯ นักวิชาการ และ อนุกรรมาธิการฯ ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เกี่ยวกับ “การกำหนดนโยบายเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง” กับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ณ ห้องประชุมจดหมายเหตุ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดแพร่ โดยมี นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ให้การต้อนรับ ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ พร้อมกับผู้บริหารหน่วยงาน 32 หน่วยงาน

นายสังศิต กล่าวในที่ประชุมว่ากรรมาการชุดนี้ทำงานแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงานโดยให้ความสำคัญกับปัญหาใหญ่ที่สุด คือความยากจนและความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้ การเข้าถึงแหล่งน้ำ และการศึกษา ทั้งนี้โจทย์สำคัญที่เราจะแก้ความยากจน ควรเริ่มที่จุดไหนก่อน


นายสังศิต อธิบายว่า ประเทศไทยมีฝนตกประมาณ ปีละ 747,882 ล้านลูกบาศก์เมตรระเหย ซึมลงใต้ดิน 462,655 ล้านลูกบาศก์เมตร เราเก็บกักน้ำตามเขื่อนต่างๆ ได้เพียง 42,000 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น แต่ความต้องการน้ำทั้งประเทศประมาณ 151,750 ล้าน ลบ.ม. เรามีแหล่งน้ำ/ลำน้ำธรรมชาติและน้ำบาดาล 102,140 ล้าน ลบ.ม. ต้องจัดสรรเพิ่มเติมอีกทั้งที่เป็นนอกเขตชลประทานและน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วนอีก 49,610 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ปลูกพืชโดยใช้ฝนเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นเรามีความจำเป็นต้องหาบริเวณที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเพื่อเก็บน้ำให้ได้มากกว่า 48,961 ล้านลูกบาศก์เมตร”

การเดินทางมาค้นหา ศึกษา รับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนในทุกภาคทั่วประเทศ กว่า 2 ปีที่ผ่านมา สรุปได้ว่า “ความยากจนจะต้องแก้เรื่องน้ำ ความยากจนส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเกษตร กลุ่มแรกคือเกษตรกรที่ไม่มีแหล่งน้ำ การแก้ต้องให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งน้ำขนาดเล็กในระดับชุมชนระดับครัวเรือนให้มีน้ำใช้ 365 วัน และหากยังทำเกษตรเชิงเดียวก็จะจนอีก เราก็ได้แนะนำเกษตรกรว่าต้องทำเกษตรผสมผสานเพื่อใช้การบริโภคในครัวเรือนและพึ่งตนเองได้ ซึ่งแนวทางวิธีดำเนินเกษตรแบบนี้ ประสบสำเร็จมาแล้วที่ทุ่งชมภูโมเดล อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น”

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ทำงานโดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมเจ้าท่า ส.ป.ก และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งการประสานงานร่วมบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตร ทำให้เกิดความร่วมมือ และเกิดแนวคิดในการสร้างฝาย 'แกนดินซีเมนต์' ซึ่งในปัจจุบันได้รับความสนใจมาก และถูกนำไปสร้างจริงเกือบทุกภาคของประเทศไทย

"ที่จังหวัดแพร่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ตัดสินใจก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์แห่งแรก ที่ลำน้ำแม่หล่าย บ้านบุญเจริญหมู่ 1 ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยสันฝายมีขนาดกว้าง 4 เมตร สูง 2 เมตร ยาว 60 เมตร สามารถหน่วง เก็บ กักน้ำไว่ใช้ในฤดูแล้งได้ และกำลังก่อสร้างอีกสามแห่ง คือ ฝายบ้านหนองเสี้ยว ฝายดอยผี และฝายบ้านน้ำโค้ง

ซึ่งในการดำเนินการก่อสร้าง คงเห็นแล้วว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือการให้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญการสนับสนุนจากนายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ อย่างแข่งขันอีกด้วย"

“ผมคิดว่า จังหวัดแพร่ จะเป็นตัวอย่างให้จังหวัดในภาคเหนือเข้ามาศึกษาดูงาน การจัดการเรื่องน้ำด้วยนวตกรรมแกนดินซีเมนต์เพื่อใช้ภาคการเกษตรและการบริโภค ทำน้ำประปาในเขตเทศบาลและชุมชน” 

โครงการก่อสร้างฝ่ายแกนดินซีเมนต์ลำน้ำแม่หล่าย บ้านบุญเจริญ (หน้าวัดบุญเจริญ) หมู่ที่ 1  ตำบลแม่หล่าย อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
นายสังศิต กล่าวว่า“อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญในการเป็นพื้นฐานแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำคือการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างคนของชาติ ให้มีคุณลักษณะมีทักษะชีวิตดำเนินชีวิตแบบพึ่งตนเองได้”

ปรัชญา การศึกษาของโรงเรียนที่คุณมีชัย วีระไวทยะ ได้ทดลองทำมาแล้วหลายสิบปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีแนวคิดโดยสรุปว่า 'ปฏิรูปเนื้อหาและรูปแบบ การจัดการเรียนการสอน เน้นเรียนรู้วิชาการดำรงชีวิต อยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ได้เป็นอย่างดี วิชาการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างแท้จริง เป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชนและต่อประเทศได้'

'เป็นการเรียนการสอน เน้นกระบวนการบ่มเพาะแบบนี้เรียกได้ว่าเป็น “การสร้างจิตใจของการเป็นผู้ประกอบการ” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศของไทยในอนาคต ให้เด็กมีคุณธรรม รู้จักทำความดีรู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น เป็นนักพัฒนามีความซื่อสัตย์และทำธุรกิจเป็น นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้และการสอนเป็นการถอประสบการณ์ชีวิต อาจเรียกว่า ปฎิรูปการเรียนรู้เพื่อให้คนไทยมี 'ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ' ที่สามารถพึ่งตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข นายสังศิต กล่าวในที่สุด

ด้านนายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง เสริมว่า ตามแนวคิดการจัดการศึกษาดังกล่าวคณะกรรมาธิการฯ มีโอกาสออกไปเผยแพร่ ให้กับจังหวัดต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจมากโดยมี องค์กรหน่วยงานที่มีโรงเรียนในสังกัดขอเข้าร่วม เพื่อจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญานี้กว่า 30 โรงเรียน

“คณะกรรมาธิการฯ จะได้ นำเรื่องนี้ หารือกับคุณบีไทยเพื่อดำเนินการ ให้เป็นไปตามปรัชญา การจัดการเรียนการสอนมุ่งหวังให้เกิด 'ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ' เป็นคุณลักษณะสำหรับคนไทยในอนาคต”


กำลังโหลดความคิดเห็น