โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ พอใจผลงานบริหารจัดการน้ำของประเทศ ใช้งบกลางคุ้มค่า 2 ปี เพิ่มแหล่งน้ำกว่า 2.6 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เก็บน้ำฝนใช้หน้าแล้ง 742 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้ประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 7.5 ล้านไร่
วันนี้ (3 เม.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด พอใจผลการดำเนินงานพัฒนาและบริหารจัดน้ำอย่างเป็นระบบภายใต้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาเชิงการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ป้องกันน้ำท่วม และคุณภาพน้ำ ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2564) รัฐบาลได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการพิจารณาแผนงาน/โครงการของหน่วยงานต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค ตลอดจนการเกษตรครอบคลุมทั้งประเทศ รวม 26,830 แห่ง เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล แหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำประปา ก่อสร้างฝายและสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ขุดลอกคลอง และกำจัดวัชพืช เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ภายใต้งบกลาง ปี 2563 มีทั้งสิ้น 20,795 แห่ง ซึ่งทุกแห่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้น เกิดประโยชน์กับประชาชนและเกิดการจ้างแรงงานกว่า 184,000 ราย ส่วนงบกลาง ปี 2564 มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 6,035 แห่ง เน้นรองรับสถานการณ์ฝนตกน้อย และความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นจากการอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม ล่าสุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,642 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,441 แห่ง ซึ่งรัฐบาลโดย สทนช. มีการติดตามความก้าวหน้าและเร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ คาดว่า หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ จะสามารถทำให้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้รวม 742 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งยังสามารถนำน้ำบาดาลมาใช้ได้ถึง 91 ล้าน ลบ.ม. และมีน้ำดิบผลิตประปาได้อีก 62 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับประชาชนถึง 3.65 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7.5 ล้านไร่
“นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ยังได้มีมติอนุมัติงบกลางเพื่อพัฒนาโครงการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2565 รวม 2,525 แห่ง ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งได้ รวมทั้งเพิ่มการลงทุนภาครัฐและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว