xs
xsm
sm
md
lg

"ประวิตร" กำชับ สทนช.ขับเคลื่อนแผนแก้ปัญหาน้ำ-ภัยแล้งให้ได้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวันนี้ (14 มี.ค.) โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ เช่น โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งได้มีการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และ สทนช. จะได้ดำเนินการขับเคลื่อน เตรียมเสนอ กนช.ต่อไป และรับทราบ ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้งปี 64/65 (9 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงปี 2565 รวมถึงรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญ ได้แก่ การศึกษาการก่อสร้างประตูระบายน้ำป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มในอ่าวไทย เข้ามาในแม่น้ำสายหลัก โดยจะเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566

จากนั้น ที่ประชุมมีการพิจารณาเห็นชอบ มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564/2565 ซึ่งประกอบด้วย 13 มาตรการโดยมีการดำเนินงานเพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งนี้ สทนช.ยังได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝนปี65 และกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งปี65/66 ด้วย และเห็นชอบโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้มากถึง 42,000 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่บริการ 15.39 ตาราง ก.ม.ในพื้นที่เขตมีนบุรี ,เขตคลองสามวา ,เขตสะพานสูง และเขตคันนายาว ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กทม.ให้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำ ภายหลังการบำบัดแล้วให้ชัดเจน เพิ่มเติมด้วย ต่อไป รวมถึงเห็นชอบ กรอบการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ/โครงสร้าง/กลไก ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ.2561 โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมได้ อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กำชับ สทนช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการต่างๆ ให้สามารถแก้ปัญหาน้ำ เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งให้ได้ผล อย่างเป็นรูปธรรม และได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยต้องขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้ทันตามกรอบเวลา รวมทั้งจะต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐควบคู่กันไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหา เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล