xs
xsm
sm
md
lg

อุดมศึกษาไทยก้าวสู่ดิจิทัล 5G แค่ปลายนิ้ว อว.จับมือ กสทช.พัฒนาเครือข่ายสัญญาณสื่อสารครอบคลุมทุกพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดมศึกษาไทยก้าวสู่ดิจิทัล 5G แค่ปลายนิ้ว อว.จับมือ กสทช.พัฒนาเครือข่ายสัญญาณสื่อสารให้บริการ 5G ครอบคลุมทุกพื้นที่ นักศึกษา-บุคลากร 2 ล้านคนได้ประโยชน์

วันนี้ ( 4 เม.ย.) รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานในการแถลงข่าว “เสริมแกร่งอุดมศึกษาไทยด้วย อว. 5G” โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ร่วมแถลง ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า อว.

รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เปิดเผยว่า อว. ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างระบบนิเวศเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในทุกมิติ ผลงานที่ผ่านมาในเชิงนโยบายสำคัญ เช่น การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกส์ (Higher Education Sandbox) การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามเป้าหมายประเทศ การไม่จำกัดเวลาการสำเร็จการศึกษาของ ตรี โท เอก การเรียนข้ามมหาวิทยาลัย พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาที่ อว. เตรียมความพร้อมสู่ประเทศพัฒนาแล้ว การเสริมแกร่งอุดมศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของ อว.กับ กสทช. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เทคโนโลยี 5G จะทำให้การเข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา การสร้างงานวิจัย การพัฒนาเทคโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการทำงานในทุกมิติ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาการอุดมศึกษาและงานวิจัยของประเทศ เพื่อให้สอดรับกับการก้าวสู่ยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวเพิ่มเติมว่า อว.กับ กสทช. จะร่วมกันพัฒนาเครือข่ายสื่อสัญญาณเพื่อให้บริการ 5G ให้กับทุกหน่วยงานในสังกัดในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และโรงพยาบาล ซึ่งมีกว่า 116 หน่วยงานทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และบุคลากรในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ที่จะสามารถใช้เทคโนโลยี 5G ในการศึกษาและการทำวิจัยในประเด็นที่สำคัญของโลก ที่สำคัญ อว. ยังได้นำเทคโนโลยี 5G มาปรับใช้เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาระบบสำนักงานอัตโนมัติให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถ Work form home ได้ทุกที่ ทุกเวลา การบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลาง (Data center) เพื่อให้บริการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ (U2T) หรือ Thailand Community Big Data (TCD) การให้บริการสืบค้นงานวิจัยออนไลน์ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้บริการ Cloud Technology เพื่อสนับสนุนงานให้นักวิจัยได้ทำศึกษาวิจัยชั้นแนวหน้าเทียบเท่าต่างประเทศ การให้บริการการประชุมและการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น

ปลัด อว.กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในช่วงวิกฤตโควิด คือพัฒนาการให้บริการด้านสาธารณสุขสมัยใหม่ ได้แก่ การพัฒนาให้โรงพยาบาลศิริราชเป็น “โรงพยาบาลอัจฉริยะ Smart Hospital” ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 5G แห่งชาติ ให้เป็น รพ.5G แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) กว่า 100 ล้านบาท ในการนำเทคโนโลยี 5G เป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนา สนับสนุนการทำงานของแอปพลิเคชันด้านการดูแลสุขภาพต่างๆ ของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งในด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความเร็วในการรับส่งข้อมูล และความเร็วในการตอบสนองของแอปพลิเคชันได้เป็นอย่างดี สนับสนุนให้เกิดการนำอุปกรณ์ไร้สาย 5G มาใช้ในโรงพยาบาล เช่น ระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telehealth ที่พัฒนาโซลูชัน Tele Ambulance เพื่อนำไปใช้สื่อสารในรถพยาบาลฉุกเฉิน ของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้และบุคลากรของโรงพยาบาล รวมถึงการพัฒนารถอัจฉริยะ 5G ไร้คนขับ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานใน อว. และ กสทช. ที่ต้องการเข้ามาเสริมแกร่งให้กับหน่วยงานในสังกัด อว. เพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ขณะที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล กล่าวเสริมว่า กสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ อว. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัยของประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบเครือข่ายการสื่อสารของ อว. โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วของทั้งสองฝ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจัดทำแนวทางการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการระบบโครงข่ายการสื่อสารภายใต้สำนักงานบริหารเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษา(UniNet) เพื่อให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับเป้าหมายการปรับโครงสร้างประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0










กำลังโหลดความคิดเห็น