xs
xsm
sm
md
lg

WWF ประเมินผลโลกรวน! สะท้อนธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินทั่วโลก ยังปรับตัวรับความเสี่ยงไม่พอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลการประเมินล่าสุดโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ชี้ว่าธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินทั่วโลก ต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานจาก WWF ซึ่งประเมินธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน หรือ Sustainable Financial Regulations and Central Bank Activities (SUSREG) พบว่า นโยบายและการดำเนินการยังมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลให้ภาคการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีความเสี่ยงทางการเงินเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสูญเสียทางธรรมชาติ

ในรายงานระบุว่า ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลได้ดำเนินการพัฒนากลยุทธ์และเริ่มนำมาตรการที่เป็นรูปธรรมมาใช้จัดการกับความเสี่ยงเนื่องมาจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มาตรการดังกล่าว ยังไม่ครอบคลุมปัญหาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่าที่ควร

Climate Finance หรือการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จะช่วยให้แต่ละประเทศมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่จะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายนนี้ ที่เมืองกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร หลังจากเลื่อนมานานกว่า 1 ปี จากกำหนดเดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับประเทศภาคการเงินไทย สถาบันการเงินมีการผนวกหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG รวมถึงการพิจารณาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจ โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ และกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กร ร่วมถึงการพัฒนา “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ในปีที่ผ่านมา เพื่อใช้กำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนสำหรับภาคการเงินไทยที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน

Credt Photo : Sky news
นางสาวพรฤดี ตังคเศรณี ผู้จัดการโครงการเงินเพื่อความยั่งยืนของ WWF ประเทศไทย กล่าวว่า “หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลสร้างความร่วมมือกับทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และในประเทศเพื่อให้การพัฒนาหลักการ แนวปฏิบัติ ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับใช้ และนำไปได้จริงในการดำเนินธุรกิจ”

ข้อกำหนดและความคาดหวังในเชิงการกำกับดูแลได้เริ่มมีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ จากการประเมินพบว่าราว 35% มีการกำหนดให้ธนาคารต้องพัฒนาและ/หรือเสริมสร้างแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และ/หรือสังคม

นอกจากนี้ ได้มีการเร่งศึกษาเพื่อให้สามารถทำความเข้าใจ และคำนวณค่าความเสี่ยงที่ส่งผลต่อธนาคาร เช่นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งการพัฒนา Taxomony เพื่อระบุกิจกรรมที่ “สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน” อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามข้อกำหนดหรือการใช้เครื่องมือในการกำกับดูแล เพื่อตรวจสอบการนำไปปฏิบัติ และเพื่อปกป้องระบบการโอนเงิน โดยรวมจากความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและสังคมนั้น ยังพบเห็นได้ไม่แพร่หลาย

จากมุมมองด้านธนาคารกลาง เห็นได้ว่าการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมยังไม่ได้รับการบูรณาการเข้ากับมาตรการนโยบายการเงินที่สำคัญอย่างสมบูรณ์ เช่นการซื้อสินทรัพย์ ข้อกำหนดหลักประกัน หรือการรีไฟแนนซ์ โดยพบว่ามีธนาคารกลางเพียงแค่ 22% ที่มีการกำหนดมาตรการข้างต้น รวมถึงยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดตาม SUSREG แม้จะมีความก้าวหน้าในส่วนของการบริหารทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และการจัดการพอร์ตโฟลิโอในภาพรวม การนำมาตรการและเครื่องมือเหล่านี้มาใช้จะสามารถช่วยให้ธนาคารกลางจำกัดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อีกทั้งช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่น

ประเด็นสำคัญจากรายงาน SUSREG ประจำปี พ.ศ.2564 มีดังนี้

•ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพหลายแห่ง เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับระบบการเงินของตน

•อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ข้อกำหนดและการกำกับดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจว่า สถาบันการเงินจะเลิกการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายด้านสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในภาพรวมนั้น ยังคงไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะไม่มีการนำข้อกำหนดด้านเงินทุน และสภาพคล่องตามหลักความระมัดระวัง เพื่อบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวมาบังคับใช้ ช่องโหว่นี้ อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และการมุ่งสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน

•ในช่วงเวลาที่วิกฤตสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งสัญญาณถี่มากขึ้น ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีแนวทางเพื่อการป้องกัน โดนภัยคุกคามของการสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาตินั้น มีความเชื่อมโยง และสำคัญเทียบเท่ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนควบคู่กันไป

ทั้งนี้ WWF จะแสดงผลการประเมินบน SUSREG Tracker platform ปีละ 2 ครั้ง และนำเสนอรายงานประจำทุกปี เพื่อแสดงความคืบหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงข้อควรปรับปรุงในการดำเนินงาน

ขณะเดียวกัน WWF พร้อมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันการเงินและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แนวทางการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงคำมั่นสัญญาและแผนดำเนินการต่างๆ ที่จะมีขึ้นในระหว่างการประชุม COP26 ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วทุกมุมโลก

สำหรับรายงาน SUSREG เป็นการประเมินความก้าวหน้าและการชี้วัดการบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าเป็นหนึ่งในปัจจัยการพิจารณาข้อกำหนด นโยบายและกิจกรรมด้านการเงินของธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินใน 38 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลอ้างอิง : WWF-Thailand, https://www.wwf.or.th/our_news/news/?uNewsID=370655


กำลังโหลดความคิดเห็น