xs
xsm
sm
md
lg

บจ. ไทย ทำคะแนนประเมิน CG สูงสุดรอบ 21 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


งานประกาศผล Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR) ประจำปี 2564
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยผลสำรวจคะแนน CGR ประจำปี 2564 ของบจ.ไทย 716 บริษัท โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 84 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการประเมินคะแนน CGR ในปี 2544 โดยเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 83 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 (692 บริษัท) และพบว่า บจ. ไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นในหมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย และหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ อีกทั้งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อาทิ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงาน การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และการเข้าประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งเป็นไปตามหลักการใน CG Code และสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน

หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2564 พบว่าหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 95, 93, 87 และ 84 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ แม้จะยังได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์ แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

จากผลการสำรวจ ยังพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ หรือได้สี่ดาวขึ้นไปรวม 528 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89 เปอร์เซ็นต์ (สี่ดาว) 260 บริษัท คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (ห้าดาว) 268 บริษัท คิดเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทที่ทำการสำรวจ ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ห้าดาว เพิ่มขึ้นจาก 240 บริษัท ในปี 2563 เป็น 268 บริษัท ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 28 บริษัท คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และประธานคณะกรรมการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย กล่าวว่า “บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในการประเมิน CGR โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีนี้ มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 21 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือของบริษัทจดทะเบียนในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการเพื่อยกระดับการพัฒนา CG ในประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีในการกำกับดูแลกิจการเพื่อช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับความคาดหวังของนักลงทุน อีกทั้ง ในปีนี้ ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ CGRเพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการ โดยหลักเกณฑ์ใหม่ยังคงสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการของ OECD และสอดคล้องกับ SET CG Principle/ Guideline, CG Code, ASEAN CG Scorecard และ 56-1 One Report ซึ่งถือเป็น new benchmark ของการกำกับดูแลกิจการในประเทศไทย”

นางศิรินันท์ กิตติเวทางค์ รองกรรมการผู้อำนวยการ IOD กล่าวว่า “ตลอดปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรต้องปรับตัวให้ทันกับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นในการกำกับดูแลกิจการในบริบทที่เปลี่ยนไป รวมถึงแนวโน้มของการให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนที่มากขึ้น ทำให้บทบาทของการกำกับดูแลกิจการจำเป็นต้องครอบคลุมเรื่อง Environment, Social และ Governance (ESG) จึงเป็นที่มาในการปรับหลักเกณฑ์ CGR เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับและกำหนดทิศทางการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ CGR ใหม่ในการประเมินปี 2566 ซึ่งเป็นการประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลจากผลการดำเนินงานปี 2565 โดยจะมีการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของบริษัทจดทะเบียนสำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งถือเป็นบทบาทของ IOD ในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน”

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ผลการประเมิน CGR ตั้งแต่ระดับ 4 ดาวขึ้นไปมีจำนวน 528 บริษัท คิดเป็น 74% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด สะท้อนถึงความเข้มแข็งและให้ความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการในระดับที่สูง ซึ่งที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนมีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดความยั่งยืนของธุรกิจในยุค ESG Disclosure และในอนาคตจะสามารถเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกได้เพิ่มขึ้นผ่านมาตรฐานใหม่ใน 56-1 One Report ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และ IOD จะร่วมออกแบบ New CGR ซึ่งเป็นการยกระดับการวัดความยั่งยืนของธุรกิจไปอีกขั้นหนึ่ง โดยจะเริ่มวัด New CGR ในปี 2566 ซึ่งจะเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญอีกครั้งของตลาดทุนไทย ทั้งนี้ การส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในภารกิจการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”