การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เร่งให้ธุรกิจทั่วโลกหันมาสนใจการลงทุนที่เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกกันว่า ESG (Environment, Social, Governance) มากขึ้นจากเดิมที่มุ่งเน้นกำไรเป็นส่วนสำคัญ โดยได้มีการพิสูจน์ชัดแล้วว่าการลงทุนในบริษัทที่เน้น ESG สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว สะท้อนจากปี 2563 ที่ทั่วโลกมีการออกตราสารหนี้ในลักษณะดังกล่าวทำสถิติสูงสุดกว่า 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกมีรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุนเม็ดเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ESG เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัทยาสูบ ฯลฯ จึงทำให้ ESG เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงการเงินการลงทุน จากหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (PRI) และสามารถนำไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ในภาพใหญ่ของโลกที่เป็นข้อผูกพันชาติสมาชิกที่ 193 ประเทศ (รวมประเทศไทย) จะร่วมกันผลักดัน 17 เป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาโลกและไทยไปจนถึงปี 2573 ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญว่าด้วยหุ้นส่วนความร่วมมือพัฒนาด้านความยั่งยืน
สำหรับประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยบริษัทจดทะเบียนหลายรายมีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี
ล่าสุดเวที Sustainable Thailand 2021 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ซึ่งจัดโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทยได้เป็นเวทีในการประกาศเจตจำนงของ กบข. นักลงทุนสถาบัน และธุรกิจธนาคาร รวม 43 องค์กร ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 40.18 ล้านล้านบาทที่จะผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทุกมิติและเป็นไปตามมาตรฐานสากล (Sustainable Finance)
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญอันจะนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางของโลกและประเทศไทย โดยสาระสำคัญของความร่วมมือคือ การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบสอดรับกับความตกลงปฏิญญาปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยความรับผิดชอบร่วมกันต่อภัยคุกคามจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการดำเนินงานและธุรกิจสู่ความยั่งยืน อันจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทุกห่วงโซ่อุปทาน
“กบข.เป็นสถาบันการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภารกิจ กบข.นอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวให้กับสมาชิกข้าราชการเพื่อให้มีเงินออมในวัยเกษียณที่เพียงพอแล้ว ยังส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้าน ESG คือคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ควบคู่ไปด้วย (Doing Well While Doing Good) อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการลงทุนอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Economic and Social Development)” ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กบข.กล่าว
สำหรับความร่วมมือ Sustainable Thailand จะช่วยผลักดันภาคธุรกิจการเงินการลงทุนของไทย ให้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบ (PRI) และหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (PRB) มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงาน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคการเงินและการลงทุนของไทยให้แข็งแกร่ง และสามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ กบข.ในการเป็นผู้นำและริเริ่มนวัตกรรมด้านการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG (Leader in ESG Investing & Initiatives in Thailand) เพื่อก้าวไปสู่กองทุนที่มีมาตรฐานการดำเนินงานตามหลักมาตรฐานสากล และเพื่อขยายองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน กบข. เตรียมจัดทำ E-Books ที่จะเป็นแหล่งข้อมูลด้าน ESG เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปศึกษา วางแผนลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ
“กบข.ได้นำหลักการลงทุนอย่างรับผิดชอบมาพัฒนาปรับใช้ในกระบวนการลงทุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และยังติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่เข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับกรอบของ ESG เราได้พูดคุยกับผู้จัดการกองทุน และบริษัทที่ลงทุนอยู่เป็นประจำ และช่วงการระบาดของโควิดได้พูดคุยมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจ ว่าบริษัทที่เข้าไปลงทุนให้ความสำคัญด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางอาชีพของพนักงานทุกคน” เลขาธิการ กบข.กล่าว
สำหรับการลงทุนของ กบข.ในปี 2564 และปี 2565 จะยังคงให้น้ำหนักทางด้านสิทธิมนุษยชนในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยได้ดำเนินการร่วมกับ UN และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการจัดทำกรอบการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อบูรณาการสิทธิมนุษยชนและการตรวจสอบรอบด้านในการจัดสรรการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้ กบข.บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ก่อนหน้านั้น กบข.ได้ร่วมมือในการจัดทำแนวปฏิบัติการระงับการลงทุน (Negative List Guideline) ร่วมกับนักลงทุนสถาบันรวม 32 ราย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสถาบันที่ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Responsible Business Network และร่วมลงนามปฏิญญาขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างตลาดทุนธรรมาภิบาลเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
การเคลื่อนไหวของ “กบข.” ที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่เมื่อขยับทีย่อมกระเทือนทุกภาคส่วน และยิ่งรวมกับพันธมิตรอื่นๆ จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ตอกย้ำให้ภาคธุรกิจไทยต้องเร่งก้าวไปสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกิจการที่จะไม่ทำให้ธุรกิจถอยหลัง แต่ยังก่อให้เกิดเครือข่ายสร้างความยั่งยืนให้ประเทศไทยและระดับโลกอีกด้วย