นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "A Way towards Sustainable Capital Market and Sustainable Future" โดยระบุว่า การพัฒนาตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ เพื่อพัฒนาลักษณะพื้นฐาน 6 ประการ ในการทำงานกับผู้ออกหลักทรัพย์, นักลงทุน, ผลิตภัณฑ์ต่างๆ, ผู้ให้บริการ เช่น แพลตฟอร์ม, การร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้อาศัยเครื่องมือ 3 ด้าน เช่นการสร้างแรงผลักดันทางสังคม, การออกหลักเกณฑ์ที่จำเป็น และในฝั่งของอุปทาน บริษัทจดทะเบียนไทย ได้การรับรองจาก ESG โดยจำนวน 21 บริษัท อยู่ในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging markets 7 ปีต่อเนื่อง
ในปี 65 ก.ล.ต. ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไปในรายงานผลประกอบการในรูปแบบ One Report ทั้งการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยคาร์บอน และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สอดคล้องกับ UNGP โดย ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยให้การสนับสนุน คณะทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) เพื่อแนะนำให้บริษัทจดทะเบียนไทย เปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ TCFD และมาตรฐานสากลต่างๆ
ทั้งนี้ในฝั่งของอุปสงค์ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน กบข. กองทุนรวมต่างๆ ก็ได้นำประเด็นของ ESG เข้าไปวิเคราะห์ความเสี่ยงและการตัดสินใจในการลงทุนต่างๆ สำหรับการออกผลิตภัณฑ์หุ้นประเทศไทยก็ได้มีการออกกฎระเบียบ สำหรับ Green Bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ขณะเดียวกันในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็ได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกและยังเป็นครั้งแรกของอาเซียน ซึ่งการระดมทุนก็ได้สนับสนุนในโครงการโรงไฟฟ้า และเยียวยาผู้เดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19 โดยพันธบัตรดังกล่าวก็ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์รัฐเซมเบิร์ก และ แพลตฟอร์มตราสารด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
"ก.ล.ต. ยืนยันที่จะทำงานทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายการเงินที่ยั่งยืนและเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ตลาดทุนแห่งประเทศไทย และนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงาน sustainable finance ในภาคการเงินไทย เพื่อเร่ง ให้ประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพวกเราทุกคนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของ sustainable finance ของไทย และเชื่อว่าเจตจำนงที่ดีของผู้บริหาร โดยเฉพาะการใช้เวลานี้ เป็นจุดเปลี่ยน ในการสร้างการเติบโตใหม่ที่เป็นสีเขียวมากขึ้น ภาคการเงินก็น่าจะมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้เข้าไปสู่โครงการที่มีความยั่งยืน เพื่อเศรษฐกิจที่ยังยืนต่อไป"เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในหัวข้อ Building a Sustainable and Resilient Future through the Capital Market โดยระบุว่า ตลท.มีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์ระดมทุนของผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ โดย ตลท. มีพันธกิจที่จะต้องพัฒนาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน เป็นหน้าที่ศูนย์กลางความรู้มายาวนาน เพิ่มพูนศักยภาพให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หนุนบริษัทจดทะเบียนให้มีการเติบโตได้ภายใต้แนวคิดที่สิ่งแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ส่งเสริมแนวปฏิบัติงานในองค์กรเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้แก่นักลงทุน
โดยปัจจุบัน ตลท. อยู่ระหว่างการพัศนาแพลตฟอร์มด้านการเปิดเผยข้อมูล ESG ให้แก่นักลงทุน เพื่อที่จะช่วยหนุนให้การลงทุนของนักลงทุนที่เป็นประโยชน์ และสามารถลงทุนได้อย่างยั่งยืน