xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. จับมือภาคีวิจัยไทย - อังกฤษ ร่วมหนุนเวที COP26 รับมือ Climate Change ช่วยเหลือภาคเกษตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คุณ อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย
UK Research and Innovation (UKRI) Natural Environment Research Council (NERC) สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Sustainable and Inclusive Climate Adaptation and Resilience: Local Leadership for a Global Goal” 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย (Showcase)  ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการทำงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกเรื่อง “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างความยืดหยุ่นให้ภาคเกษตร” ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ‘COP26’ หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์
 
คุณ อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร การจัดงาน COP26 ถือเป็นการประชุมสำคัญระดับโลก ที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐแต่ละประเทศ ร่วมหารือกันถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การสัมมนาในวันนี้นับได้ว่าเป็นหัวข้อที่สำคัญและสอดคล้องกับการประชุม COP26 เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร การจัดงานในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักร จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาทางด้านสภาพภูมิอากาศและน้ำ ที่กำลังเกิดขึ้น 

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อกาสนี้ ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อหารือแนวทางการทำงาน โดยคำนึงถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับ SDGs หรือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) หรือ “ยูเอ็น” กำหนดขึ้นเพื่อให้โลกของเราเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในด้าน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภายในระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2558 – 2573) โดยจุดมุ่งเน้นของกระทรวงในปัจจุบันคือเรื่อง ข้าวและปศุสัตว์ การประชุมในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากงานวิจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรของแต่ละประเทศได้

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว.
ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรที่อาชีพเกษตรกรถึง 40% ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่เป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ สกสว. ในฐานะหน่วยงานของประเทศไทย ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ได้จัดทำแผนด้าน ววน. 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570) 

 โดยมีการออกแบบแผนวิจัยประเด็น BCG Economy Model หรือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในด้าน 1) อาหารและเกษตร 2) การแพทย์และสุขภาพ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมีโปรแกรมวิจัยย่อย เช่น ประเด็นการแก้ไขปัญหาการสูญเสียอาหารและขยะทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Resource Efficiency in Circular Economy) และทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในมิติด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเทศไทยก็ได้ออกแบบแผนที่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สกสว. จะได้รับข้อมูลและองค์ความรู้วันนี้ เพื่อนำไปขับเคลื่อนการทำงานต่อไป


นขณะที่ ดร.ซาราห์ เว็บบ์ รองผู้อำนวยการ NERC หรือ Natural Environment Research Council สถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากสหราชอาณาจักร ภายใต้การดูแลของ UKRI กล่าวว่า ปัจจุบัน NERC มุ่งเน้นการทำงานวิจัย ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร การจัดงานในวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยได้มาหารือร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จากกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ค้นพบว่านอกจากมิติทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว การแก้ไขต้องคำนึงถึงมิติทางด้านสังคมศาสตร์ด้วย ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของโลก ที่ต้องหันมามองถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในทุกมิติด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น