เมื่อวานนี้ (27 ตุลาคม 2564) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศท่าทีของประเทศไทย ก่อนเดินทางเข้าร่วมการประชุม COP26 หรือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ที่ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
นายวราวุธ ศิลปอาชา เปิดเผยว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อได้รับแจ้งว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี จะร่วมเดินทางไปแสดงท่าทีของประเทศไทยในเวทีประชุม COP26 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยตระหนักความสำคัญ และมองเป็นวาระสำคัญของชาติ
ปัญหาภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์ในการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี ไปลงนาม ในความตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยลงอย่างน้อยร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)
การประชุม COP26 ในปีนี้มีเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (Global net zero GHG emission) ภายในกลางศตวรรษนี้ สำหรับประเทศไทย ในครั้งนี้เราก็จะแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นร่วมกับนานาประเทศในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกครั้ง ภายใต้หลักการความเป็นธรรมและคำนึงถึงขีดความสามารถและสถานการณ์ของประเทศที่แตกต่างกัน และนำข้อตัดสินใจร่วมกันมาดำเนินการภายในประเทศ
ประเทศไทยจะประกาศ และจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) ซึ่ง ทส.จัดทำร่วมกับ กระทรวงพลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรม และเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประกาศจะมุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065
รมว.ทส.กล่าวว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ของโลก และเป็น 1 ใน 3 ประเทศในอาเซียน คือ ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่มีกรอบแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ไปนำเสนอ
ก่อนปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) เป็นเฟสแรก ประเทศไทยมีเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 7-20% แต่ในความเป็นจริง มาถึงปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) เราลดได้ 17% มาตอนนี้เข้าสุ่เฟสสอง เป้าหมายระหว่างปี ค.ศ.2020-2030 คือลดให้ได้ 20-30% ดังนั้น ตามข้อสังเกตที่ว่า เราจะไปประกาศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065 จะล่าช้ากว่านานาประเทศหรือไม่ ในความเป็นจริงอาจจะเร็วกว่านั้น เพราะยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการดูดซับลดก๊าซเรือนกระจก
เราจะเน้นย้ำท่าทีที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน ทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวอย่างสมดุลโดยการกำหนดเป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาอย่างบูรณาการ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การขจัดความยากจน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างตามขีดความสามารถ
รมว.ทส. กล่าวอีกว่า ตอนนี้ ทส.ได้เสนอ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา และจะนำเข้าสู่ ครม.ในขั้นต่อไป ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามแผน