xs
xsm
sm
md
lg

ทส. จับมือ ก.พลังงาน ชวนคนไทยปลูกป่า 1 ล้านไร่ หวังดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ 1 ล้านตันต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมพิธี “ประกาศนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สิ่งแวดล้อมกับความยั่งยืน เพื่อโลก เพื่อเรา” ซึ่งจัดขึ้นโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อ 20 ต.ค. 2564 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน รวมทั้ง นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมในพิธี ณ หอประชุมออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมในการประกาศความมุ่งมั่นของประเทศร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) ซึ่ง ทส. ได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขึ้น โดยประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065
ทั้งนี้ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ในภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยมีมาตรการสำคัญๆ ที่ต้องดำเนินการ ภายในปี พ.ศ. 2580 ได้แก่ 1. มาตรการการปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ 11 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ป่าสงวน พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน และพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นต้น 2. มาตรการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ 16 ล้านไร่ ในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวน และพื้นที่เอกชน (ที่ดินกรรมสิทธิ์) และ 3. มาตรการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 3 ล้านไร่ รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูก บำรุงรักษาและฟื้นฟูป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยเอกชนจะได้รับแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกป่าหรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีผลประโยชน์ร่วมในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation Co-benefit) อีกด้วย

สำหรับ พิธีลงนามความร่วมมือโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมเป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกระทรวงพลังงาน โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “EGAT Carbon Neutrality” โดยมีเป้าหมายในการปลูกป่าปีละหนึ่งแสนไร่ รวมจำนวนหนึ่งล้านไร่ ระหว่างปี พ.ศ.2565-2574 ประกอบด้วย ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ทั้งโครงการฯ จะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์จำนวนหนึ่งล้านตันต่อปี 

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยจะร่วมกันจัดทำแผนและดำเนินงานสนับสนุนให้เกิดการปลูกป่า และบำรุงรักษาพื้นที่ป่าในการดูแลของแต่ละหน่วยงาน สนับสนุนระบบการผลิตกล้าไม้พันธุ์ดี ที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ผลักดันให้เกิดโครงการที่จะเสริมสร้างกระบวนการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านเศรษฐกิจ และสังคม พร้อมร่วมมือพัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ระบบนิเวศ พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ รวมถึงข้อมูลปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (คาร์บอนเครดิต) ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน