ไม่นานนี้ เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สหราชอาณาจักรออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยุติการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขนสัตว์จากประเทศจีน หลังพบการทารุณกรรมสัตว์ในฟาร์ม 19 แห่ง และยังเพิกเฉยต่อมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19
ภาพและวิดีโอที่ถูกถ่ายเก็บไว้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 ในฟาร์ม 19 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นหลักฐานชิ้นดีที่ยืนยันว่า สัตว์หลายชนิดกำลังทนทุกข์ทรมาน เช่น การกักขังสุนัขจิ้งจอก และแรคคูนไว้ในกรงเดียวกันอย่างหนาแน่น และไม่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งยังมีภาพสลดใจของสัตว์ที่ถูกทรมานให้ตายอย่างช้า ๆ ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าต่อหน้าสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่กำลังจะเป็นคิวถัดไป
นักวิจัยจาก Humane Society International (HSI) ได้เก็บข้อมูลฟาร์มที่ขายซากสัตว์ป่าให้กับร้านอาหารในจีน ทั้งๆ ที่มีข้อสันนิษฐานว่า โรคระบาดมีสาเหตุมาจากตลาดค้าสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่น และมีกฎหมายห้ามจำหน่ายและบริโภคอาหารจากสัตว์ป่าในช่วงการแพร่ของโรคระบาดโควิด-19
องค์กร HSI และมูลนิธิ British Animal Welfareพยายามผลักดันให้เกิดการยุติการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขนสัตว์จากจีน โดยในปี 2562 สหราชอาณาจักรได้นำเข้าขนสัตว์จากหลายประเทศทั่วโลก มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 55 ล้านปอนด์ หรือเกือบ 2.4 พันล้านบาท โดยขนสัตว์มูลค่ากว่า 5.3 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศจีน (ตัวเลขทั้งหมดมาจากฐานข้อมูลของ HM Revenue and Customs ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านภาษีของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่รับผิดชอบในการเรียกเก็บภาษี)
ขณะที่ทาง British Fur Trade Association ได้ให้ข้อมูลว่า องค์กร HSI และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมากพอว่า ขนสัตว์จากฟาร์มที่มีการอ้างถึง คือฟาร์มที่ส่งออกขนสัตว์เข้าสู่ประเทศ รวมทั้งยังบอกอีกว่า การแบนการนำเข้า อาจไม่ช่วยพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ แต่อาจทำให้คนหลายพันคนต้องตกงาน และผลักดันขบวนการค้าสัตว์ป่าไปสู่ช่องทางใต้ดินที่ยิ่งยากต่อการควบคุม
อย่างไรก็ตาม แบรนด์แฟชั่นชั้นนำทั่วโลกในวันนี้เริ่มแสดงจุดยืนด้วยการหยุดขายผลิตภัณฑ์ขนสัตว์ อาทิ พราด้า (Prada) ที่ประกาศเลิกใช้ขนสัตว์ในผลิตภัณฑ์ทุกชนิดตั้งแต่ปี 2563 และห้างสรรพสินค้า Selfridges ในสหราชอาณาจักรที่ประกาศแบนการขายผลิตภัณพ์หนังสัตว์แปลก-สัตว์หายาก (Exotic animal skins) ในปีเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ มีหลายแบรนด์ที่ออกมาแสดงจุดยืน ‘แฟชั่นไม่ทำร้ายสัตว์’ แล้ว เช่น กุชชี่ (Gucci) และเวอร์ซาเช่ (Versace)
ด้าน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่าความสวย-ความหล่อของคนเราไม่จำเป็นต้องทำร้ายเพื่อนร่วมโลก สัตว์ป่ามีสิทธิใช้ชีวิตที่ปลอดภัยในบ้านหลังใหญ่สีเขียว จึงอยากชวนกันมาร่วมยุติการใช้ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่มาจากความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของสัตว์
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.theguardian.com/environment/2021/mar/17/uk-urged-to-ban-fur-imports-from-china-over-animal-abuse-claims
https://www.greenqueen.com.hk/china-wildlife-ban-revised-law-continues-exploitation-fails-to-protect-animals/
WWFThailand