xs
xsm
sm
md
lg

เจ้างาสั้นล้ม ผลชันสูตรกระสุนฝัง 15 นัด ย้ำพื้นที่คนกับช้างปัญหาที่แก้ไม่ตก!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้างาสั้นล้ม สะท้อนปัญหาคนกับช้าง แก้ไม่จบ
หลังจาก “เจ้างาสั้น” ช้างป่า เพศผู้ล้มแล้ว (6 พ.ย.ที่ผ่านมา) โดยที่ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) สัตวแพทย์ สัตวบาล กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ได้พยายามช่วยชีวิตจากอาการบาดเจ็บอย่างเต็มที่เป็นเวลาหลายวัน

สพ.ญ.กิตติยาภรณ์ เอี่ยมสะอาด นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และสพ.ญ. ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สสป.สบอ.2 (ศรีราชา) รายงานผลการผ่าชันสูตร “เจ้างาสั้น” ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ว่าพบกระสุน 15 นัด ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณก้น หาง และ ขาหน้า และพบความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย ได้แก่ ปอด หัวใจ ม้าม ลำไส้ ซึ่งจะต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังพบหนองในกล้ามเนื้อบริเวณขาหน้าข้างขวาเป็นจำนวนมาก และพบหนองในกล้ามเนื้อทุกจุดที่พบกระสุนปืน สภาพแผลบริเวณขาหน้าข้างขวาเน่า เปื่อยยุ่ย มีกลิ่นเหม็น

ทีมสัตวแพทย์ ฯ สรุปสาเหตุการตายเกิดจากสภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ทั้งนี้ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม หลังผ่าชันสูตรเจ้าหน้าที่ได้ทำพิธีกรรมทางศาสนา และทำการฝังกลบตามหลักวิชาการ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าสีระมัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และได้ทำการถอดเก็บงาจำนวน 2 กิ่ง เก็บรักษาไว้ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

ผลชันสูตรเจ้างาสั้น กระสุนฝัง 15 นัด


ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า

การจัดการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Mitigation of People-elephant Conflicts) โดย รศ. ดร. นริศ ภูมิภาคพันธ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระบุว่าในสภาพการณ์ที่คนขยายพื้นที่อาศัย และพื้นที่การเกษตรสู่พื้นที่ธรรมชาติ รุกแหล่งที่อาศัยของช้างป่า และช้างป่าเข้าทำลายพืชผลการเกษตร และทำร้ายมนุษย์ พัฒนาการของการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ต่างพยายามที่จะบรรเทา และยุติปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการพัฒนาเทคนิควิธีการต่างๆ ซึ่งพบว่าได้ผล และไม่ประสบผลสำเร็จใดใด

เนื่องจากพบว่าต่างฝ่ายทั้งมนุษย์ และช้างป่าต่างเรียนรู้ และปรับแบบรูปแบบการเผชิญหน้าเพื่อการอยู่รอด หากมองในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเป็นศาสตร์และศิลปในการเรียนรู้ และการเข้าใจเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้น ควรมีการศึกษาที่มีข้อมูลชัดเจนในพื้นที่มีปัญหา อาจจำเป็นต้องมีการจัดการพื้นที่อาศัยสำหรับช้างป่าในพื้นที่ตอนใน และ

การหาวิธีการป้องกันในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม รวมทั้งการพิจารณาในเชิงการจัดการพื้นที่กันชน และการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมในพื้นที่รอบแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติที่เป็นแหล่งช้างป่า นอกจากนั้นสามารถปรับใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการพบเห็นช้างป่าในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อชม ถ่ายภาพ และได้รับความรู้

ปัญหาเรื่องช้างป่ากับราษฎรในประเทศไทย ยังคงดําเนินเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่พบเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เช่นการจัดการถิ่นที่อาศัยเพื่อช้างปา การจัดการแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร เป็นส่วนหนึ่งในการดําเนินการจัดการแหล่งที่อาศัย ของสัตว์ป่า (habitat manipulation) การปลูกเสริมพืชอาหารช้างป่า การจัดการพื้นที่ธรรมชาติให้มีสภาพของการทดแทนแบบย้อนกลับ (setting back succession) การจัดการแหล่งน้ำา การจัดการ แหล่งโปงเทียม ที่ดําเนินการในการรองรับประชากรช้างป่า ในพื้นที่คุ้มครองต่างๆ

ข้อมูลอ้างอิง
เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
อ่านเพิ่มเติม การจัดการลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า โดย รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น