"ความรุนแรงของคำพูด สะท้อนความเจ็บปวดในใจของผู้พูด"
ในโลกของความขัดแย้งมากมาย ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาให้เราต้องรับมือ วาทกรรมในการทำร้ายจิตใจพบมากมายโดยเฉพาะโลกไซเบอร์ ความอดทนอดกลั้น และการใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นน้อยลงทุกที นั่นคือที่มาของ ประทุษวาจา หรือ Hate Speech ซึ่งไม่เพียงแต่มีผลเสียต่อตัวผู้พูดเท่านั้น ยังบั่นทอนกำลังใจของผู้รับสารด้วย
Hate Speech แสดงออกได้หลายรูปแบบ ทั้งการพูดด้วยถ้อยคำที่รุนแรง การพูดจาเหน็บแนม และการตั้งฉายาในทางลบ ตลอดจนการวาดภาพล้อเลียน ซึ่งอาจเกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ความอดทนไม่พอ หรือขาดวุฒิภาวะ
การแสดงออกถ้อยคำในเชิงลบประเภทประทุษวาจา หรือ Hate Speech คือภาษาคนละแบบกับ Argument แม้จะเกิดในสังคมที่เปิดกว้างทางการพูด Free speech แต่ในเรื่องเหตุผล สติสัมปัญญะ Hate Speech ถือว่ามีผลกระทบในทางลบมากที่สุด และเหตุผลน้อยที่สุด
สิงคโปร์มีกฎหมายหลายฉบับที่ห้ามคำพูด ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม การยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง หรือความรู้สึกไม่ดีระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ และศาสนา มีโทษอาญา ในขณะที่ยุโรปซึ่งประกอบด้วยประชาชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ การควบคุม Hate Speech จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการสร้างความสงบเรียบร้อย
สาเหตุของการแพร่กระจายของ Hate Speech ในโลกไซเบอร์ของบ้านเราอาจมาจากความคึกคะนอง ความใจร้อน ความสามารถในการอดกลั้นต่ำ การสามารถใช้นามแฝงในเฟซบุ๊คจนทำให้ไม่รู้ตัวตนจริง รวมถึงการหลงเชื่อในข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรืองมงาย
เมื่อมนุษย์พบหน้ากันรู้ว่า ใครเป็นใคร การด่าทอรุนแรงมีโอกาสเกิดได้น้อยกว่าการเขียนกล่าวหาลับหลังทางโลกไซเบอร์ สาเหตุของการไม่รู้จักตัวตนจริงของกันและกัน บวกกับความสะดวก และปัญหาที่บุคลิกภาพส่วนตัวของผู้สร้างข่าวเท็จ เป็นธรรมดาที่จะเห็นสภาพ Hate speech ที่ปรากฎในปัจจุบัน
"Now that Trump is president, I’m going to shoot you and all the blacks that I can find."
"เพราะทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี คอยดูสักวัน ฉันจะจับพวกแกยิงเป้า"
นี่คือถ้อยคำออนไลน์ จากกลุ่ม Klu Klux Klan ที่กล่าวใส่เด็กน้อยผิวดำอายุ 12 ปี แน่นอน การแสดงคำพูดในเชิงเกลียดชังแบบนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความบอบช้ำทางจิตใจต่อผู้ฟัง แต่มีผลต่อจิตใจของผู้พูดแน่นอน
นักประสาทวิทยาได้กล่าวไว้ว่า การใช้ชีวิตด้วยถ้อยคำที่หยาบคายบ่อย ๆ จะทำให้การนับถือตัวเองต่ำลง และลดคุณค่าในตัวเองไปเรื่อย ๆ รวมถึงการนับถือความดีงามจะลดลง ที่สุดก็มีผลต่อเป้าหมายชีวิตที่ไม่สวยนัก
ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่ด้วยการใช้คำพูดที่แสดงออกถึงเหตุผล ข้อมูลที่เป็นจริง จะทำให้ปัญหาแก้ได้เร็ว และอคติลดลง สังคมไทยยังต้องการความคิดที่เสรี และปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่สังคมทุกที่ทั่วโลกไม่มีที่ใดยอมรับ Hate speech เพราะมันคือการทำร้ายมนุษย์ด้วยกันเองในรูปแบบของการใช้ภาษา โฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลกำกวม
อย่างไรก็แล้วแต่ ความปรารถนาดีต่อกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ยังคงเป็นคติธรรมที่สังคมไทยควรรักษาเอาไว้ เหมือนกับที่สุภาษิตฝรั่งเคยสอนไว้ว่า "ถ้าเลือกที่จะหาถ้อยคำดีๆไม่ได้ ก็อย่าพูดเลยซะดีกว่า" คำพูดเป็นสิ่งสำคัญ คำพูดที่งดงาม ตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้ฉันใด การฝึกตัวเองให้แวดล้อมไปด้วยสติแห่งการคิดก่อนพูดก็คือความงดงามในชีวิตของผู้พูดเองฉันนั้น
ครูฮ้วง
-----------------
ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ