“ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล เผยข้อความพบปลาทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ บริเวณชายหาดนางทอง จ.พังงา เป็นรอยแผลขนาดใหญ่คาดเป็น “ฉลามหัวบาตร” ระบุไม่ต้องกังวลมนุษย์ทำร้ายฉลามมากกว่าฉลามทำร้ายมนุษย์ แค่ระวังเวลาเล่นน้ำตอนเช้าตรู่หรือตอนค่ำ
วันนี้ (13 ม.ค.) “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพที่เผยให้เห็นรอยแผลที่มีลักษณะรอยเขี้ยวบนขาของทักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ถูกปลาไม่ทราบชนิดกัดระหว่างเล่นน้ำบริเวณริมหาดนางทอง ในจังหวัดพังงา และมีการคาดการณ์ว่าเป็น “ปลาฉลามหัวบาตร” ก่อนจะส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”
อย่างไรก็ตาม ดร.ธรณ์ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “เหตุการณ์ฉลามกัดในไทยเกิดนานๆ ครั้ง เช่น ที่ภูเก็ต (ปี 60) ที่เขาเต่า (ปี 61) เกือบทุกครั้งถูกกัดที่ขาแต่ไม่สาหัส ฉลามที่กัดอาจเป็นฉลามหัวบาตร เพราะฉลามหูดำน่าจะเป็นรอยเล็กกว่านี้ และไม่ค่อยโจมตีสัตว์ใหญ่กว่า ฉลามจู่โจมอาจด้วยความเข้าใจผิด เพราะชายฝั่งน้ำขุ่น พอเห็นวูบก็นึกว่าเป็นเหยื่อ แต่เมื่อกัดแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็เลยหนีไป ฉลามหัวบาตรอาจพบได้ตามชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ไม่บ่อยนัก ไม่มีผู้ถูกฉลามจู่โจมจนเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในทะเลไทยมากกว่า 50 ปีแล้ว
ที่ผ่านมาในประเทศไทย ฉลามไม่เคยโจมตีรายอื่นซ้ำที่เดิม ยกเว้นเหตุการณ์นายแฉล้ม/ฝรั่ง เมื่อ 55+ ปีก่อน คำแนะนำคือไม่ต้องกังวลมาก ไม่ต้องทำข่ายกั้น ฯลฯ แต่ระวังไว้นิดหากลงน้ำตอนเช้าตรู่หรือตอนค่ำ/กลางคืน แต่ละปีทั่วโลกมีรายงานคนถูกฉลามจู่โจมเสียชีวิต 5-10 ราย แต่ฉลามถูกคนล่า 70+ ล้านตัว/ปี รู้จักฉลาม เข้าใจฉลาม และเลิกกินหูฉลามครับ”