xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดันธนาคารมุ่งยั่งยืน ไม่ใช่แค่ดูดี-ลดเสี่ยง ESGs / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มีใครรู้สึกแปลกใจหรือสงสัยว่า เหตุใดการบริหารธนาคารยุคปัจจุบันนี้ต้องคำนึงถึงประเด็นผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

นี่ย่อมต่างไปจากความคิดแบบเก่าที่เข้าใจว่าธุรกิจธนาคารมุ่งที่การค้าดอกเบี้ย และมีรายได้เพิ่มจากค่าบริการทางการเงิน

ขณะเดียวกัน ก็เป็นการยืนยันว่าทุกวงการมีการปรับตัวไปมาก ทั้งด้านผู้ประกอบการ (Supply-side) และพฤติกรรมด้านผู้บริโภค (Demand-side) ที่มีส่วนสร้าง “ผลพลอยเสีย” จากบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย

ภาคเศรษฐกิจการเงินในประเทศไทย ก็ได้สั่งสมปัญหาและเป็นความเสี่ยงจากการเป็นแหล่งเงินทุนที่มีโอกาสสนับสนุนการประกอบการที่สร้างผลดีหรือผลเสียต่อปัจจัย ESGs ซึ่งเป็นความตื่นตัวในกระแสโลกที่ตระหนักว่าเป็นองค์ประกอบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)

ขณะนี้ มีหลายธนาคารได้ปรับตัวสู่แนวทางยุคใหม่ ด้วยการประกาศตัวดำเนินแนวทาง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ที่ผนึกแนวคิด ESGsเข้าอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นวัฒนธรรม คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) รับผิดชอบต่อสังคม (Social) และยึดหลักธรรมาภิบาล (Governance)

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head KBank
เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารกสิกรไทย KBank Private Banking Group และพันธมิตร Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ได้จัดงานสัมมนาเพื่อความยั่งยืนในหัวข้อ Sustainability Revolution: A Call for Action ขึ้น โดยได้ผู้นำระดับโลกอย่างอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อัล กอร์ และผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินทั้งสองแห่งมาร่วมแบ่งปันแนวคิดแก่นักธุรกิจและนักลงทุนไทย นอกจากนี้ ยังได้เชิญ อเล็กซ์ เรนเดล นักแสดงหนุ่มเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในการพูดคุยผ่านระบบสื่อสารทางไกลกับอัล กอร์ ด้วย

อัล กอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2550 เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดพายุรุนแรงขึ้น ฝนตกหนักขึ้น และเกิดภัยแล้งบ่อยครั้งขึ้นโดยประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ เราต้องหันมาใช้แหล่งพลังงานที่สะอาด มุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิต และปฏิวัติภาคเกษตรกรรม แต่ข่าวดีก็คือ เรามีคำตอบในการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือเราแล้ว สิ่งที่ต้องการก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่แก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ได้ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายมหาศาลแก่เศรษฐกิจโลก โดยอาจจะมีต้นทุนที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันถึง 550 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 6 เท่าของขนาดเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2562 ถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถูกปล่อยออกมาในอัตราเดิมไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้
โลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Revolution)’ และผู้นำธุรกิจรวมถึงนักลงทุนมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนนี้ เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยมีความกังวลเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

คนกลุ่มนี้เองคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรลดการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้วยการขุดเจาะน้ำมันและเผาผลาญเชื้อเพลิงสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่ถูกลงและศักยภาพที่สูงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานแสงอาทิตย์ แน่นอนว่า นโยบายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนก็สามารถแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ยืนยันถึงบทบาทการธนาคารยุคใหมว่า “ในขณะที่โลกกำลังมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า สะอาด และทุกคนเข้าถึงได้ (ระบบเศรษฐกิจCLIC – Circular Lean Inclusive Clean economy) นักลงทุนต้องหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ และไม่สนับสนุนธุรกิจที่ปฏิเสธแนวคิดนี้ ซึ่งจะถูกจำกัดบทบาทธุรกิจและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน"

เราต้องผนวกความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์และเป้าหมายหลักของการลงทุน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงเท่านั้น แต่เงินของนักลงทุนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้แก่โลกอีกด้วย 

ข้อคิด....
จากข้อมูลการพัฒนาหลายยุคที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นผลกระทบเชิงลบในหลายด้าน เช่นมีการตัดไม้ทำลายป่า การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งจำนวนมหาศาลจนก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล ปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและลุกลามไปถึงการฟ้องร้องทางกฎหมาย และในที่สุดจะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม

ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักลงทุนและสังคม จึงคาดหวังให้ภาคธุรกิจต่างๆ ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด “การเติบโตอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน ตระหนักดีว่าสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการบริหารเงินฝากและปล่อยเงินกู้รวมทั้งเงินลงทุนให้มีผลตอบแทนที่ดีในระบบเศรษฐกิจ ควรมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล จึงได้ส่งเสริม “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (sustainable banking)

มีการผลักดันให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งจะมีผลดีทั้งต่อระบบสถาบันการเงินและสังคมในระยะยาว

เพื่อกระตุ้นให้เกิดผลจริงจัง ได้มีการจัดงานใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 เน้นย้ำให้สถาบันการเงินผนวกหลักการธนาคารเพื่อความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Sustainable Banking Guidelines - Responsible Lending) ร่วมกับ 15ธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งเป็นสมาชิก สมาคมธนาคารไทย และเดือนกุมภาพันธ์ 2563ธนาคารต่างประเทศในไทยก็ร่วมโครงการด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารชาติยังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ตั้งคณะทำงานร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือมาตรการที่รองรับการสนับสนุนความยั่งยืนในภาคการเงิน (sustainable finance) เพื่อให้การดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อกลไกด้านองค์กรกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการที่ดีของตลาดเงินตลาดทุน ร่วมกันผลักดันการดำเนินงานธุรกิจเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว

หากผู้บริหารสถาบันการเงินต่างมีจิตสำนึกดีและดำเนินการไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อ ESGs โดยผนวกเข้าในขั้นตอนดำเนินธุรกิจก็ควรปลูกฝังให้อยู่ใน DNA จนเป็นวัฒนธรรม

suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น