xs
xsm
sm
md
lg

“วัฏจักรคู่” หนทางที่ประเทศจีนเลือกเดิน โอกาสเป็นของทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: นายเคอ โหย่วเซิง ผู้แทนประเทศจีนประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก สหประชาชาติ (ESCAP)


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (แฟ้มภาพซินหัว)
นายเคอ โหย่วเซิง
ผู้แทนประเทศจีนประจำคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก สหประชาชาติ (ESCAP)


ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้เน้นย้ำในหลายเวทีหลายสถานที่ ทั้งในประชุมเสวนานักธุรกิจและเสวนาผู้เชี่ยวชาญภาคเศรษฐกิจ ท่านย้ำว่าต้องการขับเคลื่อนให้เกิดโครงสร้างการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่เน้นวัฏจักรวงใหญ่ภายในประเทศเป็นวงหลัก และมีวัฏจักรคู่ขนานระหว่างภายในประเทศกับต่างประเทศเป็นสองวงที่ช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งโครงสร้างการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้จะมุ่งการใช้บทบาทจากข้อได้เปรียบด้านขนาดของตลาดที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษของประเทศจีน งัดเอาศักยภาพเชิงลึกจากอุปสงค์ภายในประเทศออกมาสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่ สนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างการปฏิรูปกับการเปิดประเทศ เพื่อให้ระบบวัฏจักรหมุนเวียนภาคเศรษฐกิจประชาชาติมีความราบรื่นคล่องตัว ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวและความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจทั่วโลก โครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนานี้เป็นแนวทางที่ประเทศจีนได้เลือกเดินในเชิงรุก โดยตั้งอยู่บนรากฐานของสถานการณ์การพัฒนาทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ของประเทศจีน อันจะเป็นแผนชี้นำทิศทางการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีนในอนาคตข้างหน้าอีกระยะหนึ่ง

โครงสร้างการพัฒนาแบบ “วัฏจักรคู่ (双循环)” เป็นไปตามกฎเกณฑ์ภายในของประเทศที่มีขนาดใหญ่การพัฒนาภาคเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากย้อนมองประวัติศาสตร์การพัฒนาของบรรดาประเทศใหญ่ในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการพัฒนาไปถึงระดับหนึ่ง ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากรูปแบบโครงสร้างแบบมุ่งขยายสู่ภายนอก เปลี่ยนมาเป็นการเน้นวัฏจักรวงจรเศรษฐกิจภายในประเทศ และเน้นหันมาใช้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นพลังแกนนำ ผสมผสานเข้ากับวัฏจักรเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในและภายนอกที่เข้ามาเสริม กฎเกณฑ์นี้ก็เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศจีนได้เช่นเดียวกัน

ตลอด 40 กว่าปีในการปฏิรูปและเปิดประเทศ ประเทศจีนได้ขับเคลื่อนรูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นพลังหนุนจากภาคส่งออกเป็นตัวนำ เมื่อประเทศจีนมีการยกระดับการพัฒนา นับจากที่เกิดวิกฤตภาคการเงินระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนได้เริ่มปรับตัวเข้าหาวัฏจักรวงใน อัตราการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศของจีนได้ลดลงจากสัดส่วน 60% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตภาคการเงิน ลดเหลือ 31.8% ในปี ค.ศ. 2019 อัตราเกินดุลของบัญชีเดินสะพัดในสัดส่วนของ GDP ลดลงจาก 9.9% ในปี 2007 เหลือเพียงไม่ถึง 1% ในปัจจุบัน อัตราอุดหนุน (Contribution rate) ของอุปสงค์ภายในประเทศที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเกิน 100% ติดต่อกัน 7 ปี ซึ่งประเทศจีนกำลังมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง อัตราการพัฒนาชนบทให้เป็นสังคมเมืองตำบลได้สูงเกินกว่า 60% ประชากรผู้มีรายได้ปานกลางมีจำนวนมากกว่า 400 ล้านคน ปัจจุบันประเทศจีนกำลังอยู่ในระยะการพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่ชาติอุตสาหกรรมภิวัฒน์ในรูปแบบใหม่ สารสนเทศภิวัฒน์ เมืองตำบลภิวัฒน์ และความเจริญทันสมัยในภาคเกษตรกรรม ด้วยพลังที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ พร้อมด้วยศักยภาพการลงทุนและอุปสงค์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งในภายภาคหน้าระยะหนึ่ง กลไกตลาดภายในประเทศจีนจะแสดงบทบาทอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในลักษณะการเป็นพลังนำของวัฏจักรเศรษฐกิจ ศักยภาพด้านอุปสงค์ภายในจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ

โครงสร้างการพัฒนาในลักษณะ “วัฏจักรคู่” เป็นผลจากการเกิดปฏิกิริยาอย่างทันท่วงทีของประเทศจีนที่มีต่อสภาพแวดล้อมการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสถานการณ์โลกในยุคปัจจุบันได้เกิดความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ทั่วโลกได้เข้าสู่ยุคแห่งการปรับเปลี่ยนปฏิรูปอย่างผันแปร แนวคิดปกป้องทางการค้านิยมและเอกภาคีนิยมกำลังมาแรง อันก่อเกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจน ระบบกติกาข้อผูกมัดการค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก เศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลงทั้งภาคอุปสงค์และภาคอุปทาน แรงกดดันด้านความเสื่อมโทรมและถดถอยเริ่มทวีขึ้น รวมถึงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ยิ่งซ้ำเติมให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมของทั่วโลกภายใต้ภูมิหลังระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์

เมื่อภาคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ต้องเผชิญกับการปรับโครงสร้างใหม่อย่างเร่งรีบ พลังขับเคลื่อนวัฏจักรวงใหญ่ระดับสากลที่มีลักษณะตลาดและทรัพยากรล้วนอยู่แกนนอกเกิดการเสื่อมถอยลง ในขณะที่วัฏจักรวงในของประเทศจีนกลับมีพลังชีวิตที่นับวันจะเข้มแข็งยิ่งขึ้น ประเทศจีนเตรียมที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในฝั่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเสริมสร้างพลังหนุนนำจากอุปสงค์ภายใน อันจะทำให้ภาคการผลิต การจัดสรรทรัพยากร การหมุนเวียนและการบริโภคหันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ใช้อุปสงค์มากระตุ้นฝั่งอุปทาน และให้อุปทานสร้างสรรค์อุปสงค์ใหม่ ประเทศจีนยังจะใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวตกรรมใหม่มากระตุ้นให้ก่อเกิดพลังใหม่ในการขับเคลื่อนพัฒนา พึ่งพาวัฏจักรวงในภายในประเทศ ยกระดับความเสถียรและความมั่นคงปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานภาคอุตสาหกรรมของตนเอง

โครงสร้างการพัฒนาในรูปแบบวัฏจักรคู่จะนำมาซึ่งโอกาสแห่งการพัฒนาให้กับทั่วโลก มีคนเข้าใจว่า “เน้นวัฏจักรวงใหญ่ภายในประเทศเป็นหลัก” หมายความว่าประเทศจีนเตรียมที่จะปิดประตูแห่งการเปิดประเทศ โดยหันมาใช้ระบบปิดตัวเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด โครงสร้างแบบแผนการพัฒนาในรูปแบบใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นวงจรปิดกั้นตนเองอยู่แต่ภายในประเทศ หากแต่เป็นการเปิดระบบวัฏจักรหมุนเวียนคู่ขนานระหว่างภายในประเทศกับระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วหลายครั้ง การเปิดประเทศนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า การปิดกั้นตนเองย่อมทำให้ล้าสมัยตกยุค ประเทศจีนในขณะที่มุ่งสร้างความเจริญสำหรับตนเองให้เกิดขึ้นจริงแล้ว ยังมุ่งสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงมอบให้กับการพัฒนาก้าวหน้าของทั่วโลก หลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้สร้างพลังหนุนขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของพลังขับเคลื่อนทั้งหมด ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับชั้นนำในบรรดาหน่วยระบบเศรษฐกิจหลัก และกำลังจะกลายเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศจีนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของ 120 กว่าประเทศทั่วโลก การนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการนำเข้าทั่วโลก คาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศจีนจะนำเข้าสินค้ามูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้าบริการในมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศจีนได้ทำให้ประชากร 850 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างสำเร็จ คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจนในทั่วโลก เมื่อประเทศจีนได้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และมีความเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นแฟ้น จึงย่อมช่วยส่งมอบโอกาสด้านตลาดอันกว้างใหญ่ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดึงดูดทั้งแหล่งสินค้าและแหล่งปัจจัยสำคัญจากนานาชาติ

โครงสร้างการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้ จะช่วยให้ประเทศจีนสามารถแสดงศักยภาพอุปสงค์ภายในประเทศออกมาได้อย่างเต็มที่ การยึดมั่นในนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศนั้น จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูง ส่งผลให้ตลาดภายในประเทศจีนเชื่อมโยงเข้ากับตลาดสากลได้อย่างดียิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่มีทั้งความแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยผ่านโครงสร้างการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้ ประเทศจีนจะยังคงขับดันและนำพาเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ต่อไป จะมีการยกระดับการเปิดประเทศให้สูงขึ้นกว่าเดิม มุ่งสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจในเชิงกลไกการตลาดภิวัฒน์ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและมีความเป็นสากลมากขึ้น ประตูใหญ่แห่งการเปิดประเทศของจีนจะไม่มีวันปิดลง หากแต่จะยิ่งเปิดยิ่งกว้างขวาง นำมาซึ่งระบบนิเวศแห่งเศรษฐกิจที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยวงล้อมแห่งอุปสงค์ภายในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สาธารณะที่ประเทศจีนขอมอบให้กับทั่วโลก อันจะนำมาซึ่งโอกาสแห่งการพัฒนาให้กับทุกประเทศทั่วโลก

โครงสร้างใหม่แห่งการพัฒนานี้ ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางที่ประเทศจีนเลือกเดิน และยังเป็นโอกาสของทั่วโลกเช่นกัน ประเทศจีนจะดูแลภารกิจการงานภายในของตนเองอย่างดีที่สุด เลือกเดินบนเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ประชาชนชาวจีนเป็นผู้เลือกเอง ใช้วิถีทางอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองในการสร้างคุณูปการเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาภาคเศรษฐกิจสังคมสำหรับทั่วโลก เนื่องในโอกาสที่สหประชาชาติได้ก่อตั้งครอบรอบ 75 ปี ประเทศจีนจะเปิดใจกว้างโอบกอดทั่วโลก ผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ให้มุ่งไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่เปิดกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ครอบคลุมทุกด้าน สมดุลและคว้าชัยชนะร่วมกัน ส่งเสริมให้ทั่วโลกฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังพ้นจากสภาวะโรคระบาด COVID-19 ขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาติให้นำไปสู่ภาคปฏิบัติจริง สร้างสรรค์ประชาคมร่วมโชคชะตากรรมแห่งมวลมนุษยชาติที่ร่วมคิดร่วมมือ ร่วมสร้างสรรค์การพัฒนาและร่วมแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น